ทั่วไป

ทูตฯญี่ปุ่น โน้มน้าวไทยเข้า CPTPP ด้านกมธ. แจง ความกังวล ขอพิจารณาให้ถี่ถ้วน

BRIGHTTV.CO.TH
เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2563 เวลา 09.24 น. • Bright Today

นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ชี้ให้เห็นข้อดี โน้มน้าวไทยเข้า CPTPP ด้านกมธ.วิสามัญฯ ส.ส. และผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงถึงความกังวลของไทย เรื่องการผูกขาดพันธุ์พืช และเรื่องยา

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือกับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร รองประธานกรรมาธิการฯ , นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง โฆษกกรรมาธิการฯ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมาธิการ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ในการหารือ เอกอัครราชทูต นะชิดะ เชิญชวนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP พร้อมทั้งเล็งให้เห็นประโยชน์ โดยชี้ว่านักลงทุนญี่ปุ่นพร้อมลงทุนในประเทศไทยกว่า 5,500 บริษัท จึงอยากให้ไทยนั้นให้ความสำคัญกับตัวเลข GDP 0.37% ที่จะเสียไป มากกว่ามองว่าจะได้เพิ่มเพียง 0.12 % อย่างไรก็ตามนายนะชิดะนั้นทราบถึงความกังวลขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แล้ว และมองว่าค่อนข้างสุดขั้ว พร้อมทั้งยกกรณีการเข้าร่วม CPTPP ของญี่ปุ่น ที่เกษตรกรญี่ปุ่นเองก็เคยกังวลเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตร แต่ไม่ได้กังวลเรื่องการผูกขาดพันธุ์พืช รัฐบาลญี่ปุ่นได้เชิญส.ส.ที่สนับสนุนภาคการเกษตรมาหารือและทำความเข้าใจอยู่หลายครั้งจนยอมรับในมที่สุด ทั้งนี้ทางสถานทูตมีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะมาให้ข้อมูล กมธ. โดยเฉพาะที่อนุญาตให้รัฐออกกฏหมายยกเว้นเก็บเมล็ดพันธุ์ได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทางด้านประธาน กมธ.วิสามัญ CPTPP ชี้แจงว่าเข้าใจในประโยชน์ แต่สังคมไทยกำลังมีข้อห่วงกังวลเรื่องการผูกขาดพันธุ์พืชจากความตกลง UPOV1991 และเรื่องยาจึงต้องมีการพิจารณากันอย่างละเอียด นอกจากนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ จากพรรคภูมิใจไทย ได้ซักถามถึงประสบการณ์ของญี่ปุ่น ว่าเคยมีเกษตรกรถูกฟ้องร้องจากการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์หรือไม่ ทางญี่ปุ่นก็ชี้แจงว่ายังไม่มี อีกทั้งนพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญฯ ยังกล่าวถึงเรื่องยาว่า ที่ไทยกังวลเพราะบริบทไทยไม่เหมือนญี่ปุ่น เราผลิตยาต้นแบบไม่ได้ ฉะนั้นถ้าประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) แล้วสุ่มเสียงจะโดนฟ้อง หรือต้องเชื่อมโยงระบบขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตร (patent linkage) แล้วทำให้ยาชื่อสามัญ เข้าสู่ตลาดช้าลง ผลกระทบทางลบจะเยอะมาก

ท้ายที่สุดนส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ หนึ่งใน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวต่อทูตญี่ปุ่นว่า เป็นตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ใน กมธ. ขอบคุณท่านทูตที่ได้ยินสิ่งที่ภาคประชาสังคมไทยแสดงความกังวลออกไป แม้ว่าการแสดงออกของ NGOs ค่อนข้างสุดขั้วและหัวรุนแรง ขอให้เข้าใจว่าที่การแสดงออกเป็นเช่นนั้นเนื่องจากประสบการณ์การที่ประเทศไทยทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) กับญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นชัดเจนว่าญี่ปุ่นต้องการส่งขยะทิ้งที่ประเทศไทยเราคัดค้านแต่ไม่สำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นตอนนี้บ้านเราก็กลายเป็นถังขยะโลกนับจากความตกลงนั้น

อย่างไรก็ตาม เธอ กล่าวว่า ยินดีที่ทางญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล UPOV1991 แต่ต้องการให้เชิญ นายมาซาฮิโกะ ยามาดะ อดีตรัฐมนตรีเกษตร ที่ถูกนายกฯ ชินโซะ อาเบะปรับออก อยากทราบว่าทำไมเขาค้านการที่ญี่ปุ่นเข้า CPTPP แล้วอยากทราบรายละเอียดของคดีและคำพิพากษาคดีที่เขาฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยกเลิกกฎหมายที่ให้ท้องถิ่นมีหน้าที่พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกษตรกร ซึ่งศาลชี้ว่ารัฐบาลอาเบะยกเลิกกฎหมายนี้เพราะเป็นเงื่อนไขเข้า CPTPP อีกทั้งขอข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ห้ามประชาชนเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อ เพิ่มจาก 300 กว่าชนิดพืชเป็น 800 กว่าชนิดพืช ที่ถูกประชาชนคัดค้านจนต้องถอนออกจากการประชุมสภาสมัยนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทางด้านทูตนะชิดะกล่าวขอโทษที่อาจผิดพลาดในการสื่อสารและระบุว่าอดีตรัฐมนตรียามาดะ ตอนนี้ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองและเกษียณแล้ว ส่วนกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชกำลังทำความเข้าใจ รัฐบาลจะพยายามเสนอใหม่ในสภาสมัยหน้า ซึ่งทาง กมธ.วิสามัญฯ ยังสนใจข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณา

ดูข่าวต้นฉบับ