ไลฟ์สไตล์

เรารู้ได้ไงว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” เป็นผู้สถาปนา “นครวัด” ทั้งที่ไม่มีจารึกบอก?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพวาดนครวัดจากหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine เมื่อ ค.ศ. 1866

ปราสาทนครวัดศาสนสถานที่โดดเด่นของเมืองพระนคร ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพระนครธม ราชธานีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แม้ไม่พบจารึกใด ๆ ชี้ไปยังตัวกษัตริย์ผู้สถาปนา แต่ปัจจุบันเราได้ข้อสรุปแล้วว่า สิ่งปลูกสร้างอันน่าอัศจรรย์ใจนี้ สถาปนาโดย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ

ปราสาทนครวัด มีแผนผังค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส บนพื้นที่อันกว้างขวางราว 2 ตารางกิโลเมตร หน้าปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตกและมีคูน้ำขนาดใหญ่เป็นวงล้อมรอบ ถัดจากคูน้ำเป็นกำแพง กึ่งกลางกำแพงมีโคปุระและซุ้มประตู ตัวปราสาทเป็นฐานซ้อนชั้นกันถึง 3 ชั้น ทุกชั้นมีระเบียงคด ระเบียงชั้นล่างสุดมีภาพสลักเล่าเรื่อง ชั้นบนสุดเป็นปราสาท 5 ยอด ปราสาทประธานมีทางเดินและหลังคาเชื่อมกับโคปุระของระเบียงคด ผังของปราสาทจึงเป็นรูปกากบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากความโดดเด่นข้างต้นของปราสาทประธาน ทำให้เชื่อได้ว่า นครวัดคือวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของสถาปัตยกรรมแห่งทะเลสาบเขมร แต่ถึงจะใหญ่โตเพียงใด น่าประหลาดใจที่ไม่ปรากฏหลักฐานจารึกใดกล่าวถึงกษัตริย์ผู้สถาปนาปราสาทเลย ทั้งนี้ ภายหลังเราได้ทราบแล้วว่าคือ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2”

ทราบได้อย่างไรว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เป็นผู้สถาปนานครวัด?

เมื่อแรกที่ฝรั่งเศสเข้ามาทำการศึกษาเกี่ยวกับโบราณคดีที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร ปัญหาเรื่องอายุโบราณสถานขนาดใหญ่คือเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำการศึกษา รวมถึงการกำหนดช่วงอายุของปราสาทนครวัด แม้จะมีการพบจารึกพระนาม “บรมวิษณุโลก”แต่พวกนักวิชาการอาณานิคมยังไม่มั่นใจว่า บรมวิษณุโลก เป็นพระนามหลังสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์องค์ใด ระหว่าง พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2กับ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่พระนามของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ. 1593-1609) กับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ. 1656-1688/1693) ถูกยกขึ้นมาเสนอนั้น เพราะทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนครที่ไม่ปรากฏ (หรือยังไม่พบ) พระสมัญญานามหลังสิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่

จึงเป็นไปได้ว่า องค์ใดองค์หนึ่งในนี้นี่แหละ คือ “บรมวิษณุโลก” หรือผู้สถาปนานครวัด

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2463 การศึกษาที่หอสมุดพระวชิรญาณ กรุงเทพฯ ในกำกับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้พบข้อความจาก จารึกพิมาย 3ที่กรอบประตูของโคปุระด้านทิศใต้ของระเบียงคด ระบุศักราช “ม.ศ. 1034”หรือ พ.ศ. 1655 โดยกล่าวถึงขุนนางผู้อาจเป็นพระญาติวงศ์คนสำคัญของกษัตริย์แห่งเมืองพระนคร คือ “พระกมรเตงอัญวีเรนทรธิบปติ” แห่งโฉกวกุล ว่าเป็นผู้สร้าง “พระไตรโลกยวิชัย” เสนาบดีแห่งกมรเตงอัญ ชคตะ วิมายะ รูปเคารพประธานที่ปราสาทพิมาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งพระไตรโลกยวิชัยนี้ ถูกสร้างเพื่ออุทิศถวายแด่ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1(ครองราชย์ พ.ศ. 1650-1656)

ข้อสังเกตคือ ปีที่พระกมรเตงอัญวีเรนทรธิบปติสร้างพระไตรโลกยวิชัย (พ.ศ. 1655) กำลังเข้าสู่ปีสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 แล้ว (พ.ศ. 1656) และรัชกาลถัดมาคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

จอร์ช เซแดสจึงเสนอว่า เป็นไปได้สูงทีเดียวที่พระกมรเตงอัญวีเรนทรธิบปติ จะมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

ประกอบกับการปรากฏรูป “พระกมรเตงอัญวีเรนทรธิปติวรมัน” แห่งโฉกวกุล ในฉากเดียวกับรูปพระบรมวิษณุโลก บนระเบียงคดปราสาทนครวัด ย่อมหมายความว่า ท่านมีชีวิตอยู่และสิ้นชีพไล่เลี่ยกับองค์พระบรมวิษณุโลก

ทฤษฏีว่าพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 คือพระบรมวิษณุโลก ก็ถูกตีตกไปด้วย เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระกมรเตงอัญวีเรนทรธิบปติสร้างพระไตรโลกยวิชัยหลายสิบปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 1609

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สรุปได้ว่า “บรมวิษณุโลก” คือพระนามหลังสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แน่ และปราสาทนครวัดควรเริ่มสถาปนาในรัชกาลของพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน คือช่วง พ.ศ. 1656 ถึงหลัง พ.ศ. 1688 นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

มาดแลน จิโต ; ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล. (2566). ประวัติเมืองพระนครของขอม.กรุงเทพฯ : มติชน.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เรารู้ได้ไงว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” เป็นผู้สถาปนา “นครวัด” ทั้งที่ไม่มีจารึกบอก?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ