เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ที่อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 ถนนวิภาวดีรังสิต ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมคณะทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญาประกันภัยโควิด-19 เข้าพบนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และคณะ เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้เอาประกันภัยจากการทำสัญญาประกันภัยโควิด-19
โดยมีนายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายวิทยา จงวรกุล ประธานกรรมการการงบประมาณ การเงินและบัญชี สภาทนายความ นายพรเทพ ฤทธิ์โพธิ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ นายอำนาจ มาตรง ที่ปรึกษาสภาทนายความ กรณี โควิด-19 และนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ เข้าร่วมประชุมหารือ
ด้าน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความเป็นห่วง ทุกวันนี้มีเจ้าหนี้ติดตามทวงถามมาอยู่เป็นระยะ ๆ สิ่งที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ คือ ต้องการให้หน่วยงานรัฐหรือรัฐบาลเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบในฐานะเป็นผู้เอาประกัน มีจำนวนเป็นล้านราย และมีมูลค่าความเสียหายประมาณ8 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลไม่เข้ามาแก้ไขให้ทันท่วงทีจะมีปัญหาตามมา
สภาทนายความยินดีเป็นตัวกลางเจรจาช่วยทั้งทางเจ้าหนี้และรัฐบาล เพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและเป็นไปตามความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งสภาทนายความไม่ต้องการใช้ช่องทางกฎหมายทันทีทันใด แต่ขอให้ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งตนเชื่อว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่พร้อมเจรจา และอาจมีบางส่วนต้องการใช้สิทธิตามกฎหมายอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามจากการหารือร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัยในวันนี้ ตนมีความเป็นห่วงเจ้าหนี้ของบริษัทสินมั่นคง ซึ่งขณะนี้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ได้เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับการขอให้ชำระหนี้ แต่ยังมีประชาชนไม่เข้าใจว่าการที่จะเข้ามาขอรับชำระหนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งได้ข้อมูลจากกองทุนประกันวินาศภัยแล้ว แต่มีบางส่วนยังไม่เข้าใจ ซึ่งทาง กปว. แจ้งว่าเจ้าหนี้มาลงทะเบียน 8 แสนราย แต่ที่สำเร็จมีเพียง 2 แสนราย อีก 6 แสนรายมีปัญหา และยังไม่เข้าสู่ระบบมาขอลงทะเบียนเกือบ 3 แสนราย
“ จึงฝากให้ กปว.และสื่อมวลชนประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้รีบเร่งดำเนินการเข้าสู่การขอเป็นเจ้าหนี้รับชำระหนี้จากบริษัทสินมั่นคง ซึ่งท่านอาจจะเสียสิทธิ และอาจต้องไปใช้สิทธิในกรณีไปขอรับชำระหนี้ตอนล้มละลาย ซึ่งตอนนั้นจะไม่ได้อะไร ซึ่งหลังจากนี้สภาทนายความจะประชุมร่วมกับตัวแทนเจ้าหนี้ที่มาร้องขอความช่วยเหลือกับสภาทนายความอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสู่การเจรจาอีกรอบหนึ่ง” นายกสภาทนายความ กล่าวย้ำ