ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรอาณัฐชัย ม้ายอุเทศ หัวหน้าหน่วยวิจัยชีวเภสัชศาสตร์เพื่อสุขภาวะวัยชรา (Centre of Biopharmaceutical Science for Healthy Aging; BSHA) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่พบว่า สถิติจำนวนประชากรไทย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 พบว่ามีผู้สูงวัยจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.08% ของประชากรทั่วประเทศไทย นับเป็น “ประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในโลก” ที่ก้าวสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”
โดยประเทศไทยจะก้าวสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่คาดว่าจะมีประชากรสูงวัยไทยเป็นจำนวน 28% ของประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2578 ดังนั้นคณะเภสัชศาสตร์ จึงจัดตั้ง “หน่วยวิจัยชีวเภสัชศาสตร์เพื่อสุขภาวะวัยชรา“ (Centre of Biopharmaceutical Science for Healthy Aging; BSHA) ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายเตรียมพร้อมสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และนวัตกรรมผู้สูงวัยอาเซียน” ของประเทศได้ตามทิศทางของ “วาระแห่งชาติ”
“หน่วยวิจัย BSHA” เกิดจากความมุ่งมั่นสู่งานวิจัยเพื่อไขความลับของการเกิดโรคด้วยการศึกษาทางโมเลกุล “ชีวเภสัชศาสตร์” ภายใต้ข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ที่ว่า “ความเสื่อมของวัย” เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่างๆ อาทิ การพบว่า “อายุที่เพิ่มขึ้น” อาจมีความสัมพันธ์ต่อ “การแสดงออกของเซลล์มะเร็ง” รวมทั้งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่ไม่ได้มีสาเหตุจากพันธุกรรม ความเสื่อมของเซลล์สมอง และการทำงานของหัวใจที่มีสมรรถภาพลดลง ฯลฯ”
สำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ศาสตร์ชะลอวัย” ในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่เริ่มจาก “สิ่งที่เป็นไปได้” เพื่อที่จะ “เผชิญหน้ากับความชรา” ด้วยการเตรียมพร้อมสู่การเป็น “ผู้สูงวัยที่มีสุขภาวะที่ดีในองค์รวม” มากกว่าความพยายามที่จะทำอย่างไรถึงจะ “ห่างไกลความชรา” ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายต่อไปของการวิจัยเพื่อการชะลอวัยในอนาคต
เมื่อพิจารณาจากความพร้อมของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบันพบว่า มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมด้วยองค์ความรู้ที่ถึงพร้อมมากพอที่จะร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และนวัตกรรมผู้สูงวัยอาเซียน” ตามทิศทางของ “วาระแห่งชาติ”
จากที่ผ่านมา “หน่วยวิจัย BSHA” ได้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ด้านการพัฒนาและค้นพบยา (Drug Discovery) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมได้มีการ “เสริมแกร่งทางวิชาการ” ด้วยการจัดการเรียนการสอนและวิจัยเกี่ยวกับ “การชะลอวัย” ในรายวิชาต่างๆ ของการศึกษาระดับหลังปริญญาของคณะฯ ถึงปัจจุบัน
แม้ภารกิจของ “หน่วยวิจัย BSHA” จะไม่ได้เป็นไปเพื่อการให้บริการสุขภาวะแก่ประชาชนโดยตรง ด้วยปณิธาน “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ พร้อมส่งเสริม “ศาสตร์แห่งชีวเภสัชศาสตร์” ดังกล่าวให้เป็นพลังขับเคลื่อนงานวิจัยที่จะทำให้การศึกษาถึงสาเหตุ และการ “ชะลอโรค” จากผลกระทบของวัยที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ในเชิงลึกถึงระดับโมเลกุล เพื่อให้สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาทางสุขภาวะ จากตัวแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสารเคมี สมุนไพร หรืออาหาร ฯลฯ ที่มีต่อความชรา สู่ความหวังแห่งมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต