ดร.อนันต์ ชี้ความแตกต่างระหว่างอหิวาตกโรค VS ท้องเสียโนโรไวรัส อาการและแนวทางการรักษา
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่อง อหิวาตกโรค VS ท้องเสียโนโรไวรัส โดยระบุว่า
อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน (ครั้งแรกในไทยน่าจะปี 2360) แต่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขในหลายประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี เช่นที่กำลังเกิดการระบาดในเมียนมาในปัจจุบัน
โรคนี้เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า วิบริโอ คอเลรี (Vibrio cholerae) ซึ่งแตกต่างจากโรคท้องเสียที่เกิดจากไวรัส อย่างโนโรไวรัสอย่างสิ้นเชิง
เชื้อ Vibrio cholerae เป็นแบคทีเรียที่มีลักษณะพิเศษ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อยและทะเล มักอาศัยอยู่ร่วมกับแพลงก์ตอนและสัตว์ทะเลจำพวกหอย ซึ่งต่างจากโนโรไวรัสที่เป็นเชื้อไวรัสและไม่สามารถเจริญเติบโตได้นอกร่างกายมนุษย์
เชื้ออหิวาตกโรคสามารถสร้างสารพิษ ชื่อว่า Cholera toxin ที่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำอย่างรุนแรง ในขณะที่โนโรไวรัสทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหารโดยตรง
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้ออหิวาตกโรคเข้าไป มักจะเริ่มมีอาการภายใน 18 ชั่วโมงถึง 5 วัน โดยจะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าว และอาจมีอาเจียนร่วมด้วย ความอันตรายของโรคนี้อยู่ที่การสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
ความน่ากลัวของอหิวาตกโรคอยู่ที่ การแพร่กระจายที่รวดเร็วผ่านน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย ต่างจากโนโรไวรัสที่มักติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดหรือการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน
นอกจากนี้ อหิวาตกโรคยังตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดระยะเวลาการเจ็บป่วย และที่สำคัญคือช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การรักษาหลักยังคงเป็นการให้สารน้ำทดแทนอย่างเพียงพอและทันท่วงที
ในทางตรงกันข้าม โนโรไวรัสซึ่งเป็นเชื้อไวรัส จะไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะใด ๆ เลย เพราะยาปฏิชีวนะถูกออกแบบมาเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น การให้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสจึงไม่เกิดประโยชน์ และอาจก่อให้เกิดผลเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เช่น การเกิดเชื้อดื้อยา หรือผลข้างเคียงจากยา
การรักษาโนโรไวรัสจึงเน้นการรักษาตามอาการ ให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอง และป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นเองภายใน 1-3 วัน ในขณะที่อหิวาตกโรคหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมทั้งด้วยสารน้ำและยาปฏิชีวนะ อาจมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การแยกแยะระหว่างอาการท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในกรณีของอหิวาตกโรคที่มีลักษณะอาการเฉพาะ เช่น อุจจาระเป็นน้ำสีขาวขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าว และมีการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วรุนแรง การวินิจฉัยที่แม่นยำจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม ทั้งการให้ยาปฏิชีวนะและการรักษาประคับประคองอื่นๆ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- รัฐบาล เตือนระวัง 'เชื้อโนโรไวรัส' ระบาดง่ายในโรงเรียน-กลุ่มคนจำนวนมาก
- ‘อหิวาตกโรค’ ระบาดในฝั่งเมียนมา เสียชีวิตแล้ว 3 ราย
- 'หมอยง' เผยธรรมชาติของ 'โนโรไวรัส' ระบาดเพิ่มทุกปี ทุกฤดูหนาว
ติดตามเราได้ที่