ไลฟ์สไตล์

โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อหมดยุคโควิด19 - จุดประเด็น

LINE TODAY
เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2564 เวลา 17.00 น. • AJ.

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เชื่อว่าชีวิตที่เคยเป็นปกติของหลายคนต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย

บางคนต้องขาดรายได้ ธุรกิจขาดทุน การงานที่เคยมั่นคงกลับสั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ภาวะไม่มั่นคงนี้เกิดขึ้นทั่วโลก กระทบทุกกิจการไม่ว่าจะสายการบิน ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ และไม่เพียงปัญหาในระดับปัจเจก แต่กลับส่งผลถึงระบบสังคมและเศรษฐกิจของโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ระหว่างที่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และรอคอยให้โควิดสิ้นสุดวงจรการระบาดไว ๆ ลองมาดูว่าหลังหมดยุค โควิด19 แล้ว เราจะได้เห็นโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

สถานะของประเทศจีน ต่อชาวโลก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โลกหลังจากโควิด19 จะพิสูจน์ให้เรารู้อย่างหนึ่งว่า “ประเทศจีน” จุดกำเนิดของ “ไวรัสอู่ฮั่น” อย่างที่ชาวตะวันตกเรียกด้วยน้ำเสียงแอบเหยียด หนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกก็สั่นคลอนได้ ทั้งในแง่ของความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ ข่าวลือมากมายเกี่ยวกับไวรัส ห้องแล็บ ค้างคาว ตลาดของป่า ล้วนทำลายภาพลักษณ์จีนอย่างสาหัส

แม้จีนจะทำงานหนักและสามารถควบคุมการระบาดได้ในท้ายสุด แต่ก็คงยากจะลบล้างประวัติศาสตร์การเป็นต้นกำเนิดของการระบาดในครั้งนี้ได้ ท่ามกลางสายตาชาวโลกที่กำลังเฝ้ามองพวกเขาพร้อมทำปากขมุบขมิบว่า “I’ m watching you!”

มุมมองต่อชีวิตในเมือง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เช่นเดียวกับช่วงอหิวาตกโรคระบาดในศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้โลกต้องพลิกระบบประปากันใหญ่โต พร้อมคิดค้น “ระบบบำบัดน้ำเสีย” เพื่อแยกสิ่งปฏิกูลออกจากแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้

โรคระบาดจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนเสมอ

ซึ่งถ้าเปรียบโควิด19 เป็นศัตรู เมืองที่เต็มไปด้วยคอนโดฯ ระฟ้าและบ้านเรือนแออัดคงเป็นคู่ต่อสู้เจ้าโควิดรัวหมัดน็อกได้ในยกเดียว

โจทย์สำคัญที่นักออกแบบผังเมืองและสถาปนิกต้องคิดต่อคือการลดความแออัดในการก่อสร้างตึกอยู่อาศัย อันเป็นต้นเหตุให้โควิดระบาดเร็วเป็นพิเศษ ประเด็นนี้ ริชาร์ด เซ็นเน็ตต์ (Richard Sennett) ที่ปรึกษาอาวุโสองค์กรสหประชาชาติ (UN) ให้ข้อสังเกตว่าในขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังสนับสนุน แนวคิด Social Distance ก็มีแนวโน้มที่นักออกแบบในอนาคตจะคำนึงถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนรวมที่กว้างมากขึ้น รวมถึงพื้นที่ร้านอาหาร บาร์ และห้างร้านต่าง ๆ ด้วย

อีกประเด็นที่น่าคิดคือเรื่องการเป็นศูนย์กลางงานในเมืองหลวง การระบาดของไวรัสทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน ถูกพักงาน ถูกหักเงินเดือน ไม่แปลกที่คนที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดเลือกทิ้งชีวิตในเมืองเมื่อเสียรายได้ ซึ่งก็น่าสนใจว่าหลังจบโควิด19 หลายคนจะเลือก“อยู่ต่อ” ในฐานะคนเมือง หรือเลือกกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนยามไวรัสระบาด 

"เที่ยว"ในโลกหลังโควิด19

สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก(The World Travel and Tourism Council) ออกมาเตือนว่าการระบาดอาจทำให้คนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตกงานกว่า 50 ล้านตำแหน่ง ซึ่งทวีปเอเชียโดนหนักสุดเพราะหลายประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นช่องทางทำกินหลัก

คำแนะนำสำหรับเจ้าของกิจการการท่องเที่ยวและสายการบินต่าง ๆ คือ อย่าให้ลูกค้าแคนเซิล แต่ควรอนุโลมให้นักท่องเที่ยวเลื่อนวันเข้าพักหรือตั๋วเครื่องบินต่าง ๆ แทน เมื่อไวรัสหยุดระบาด ทุกอย่างจะเข้าสู่สถานการณ์เดิมได้รวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งตามการคาดการณ์ขององค์กรดังกล่าวแล้ว กว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักดังเดิมก็อาจใช้เวลากว่า 10 เดือนทีเดียว

วงการบันเทิงต้องปรับตัว

อุตสาหกรรมหนังและสื่อบันเทิงเหมือนถูกหยุดเวลาไปเฉย ๆ ซีรีส์หลาย ๆ เรื่อง หนังภาคต่อที่เรารอคอยต่างถูกพักการถ่ายทำ นับเป็นช่วงเวลาสุดทรมานใจสำหรับคอหนังหลาย ๆ คน ในมุมของผู้สร้างเองก็ถือเป็นปีที่เลวร้ายและขาดทุนอยู่พอสมควร

ในช่วงเวลานี้เองที่สื่อออนไลน์ และบริการสตรีมมิ่ง (Streaming) ได้รับความนิยมอย่างสูง

ขณะเดียวกันการดูหนังแบบ Drive-In ก็กลับมาให้เราเห็นอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนาน นับเป็นวิวัฒนาการดูหนังยุคโควิด19 โดยแท้ ทั้งยังตอบโจทย์ Social Distance ได้ดีที่สุดเลย

มนุษยชาติได้ใช้ “อินเทอร์เน็ต” มากกว่าแค่ “โซเชียล”

เมื่อไวรัสระบาด เด็ก ๆ เป็นล้านคนทั่วโลกไม่สามารถไปโรงเรียนได้ พนักงานออฟฟิศต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มาทำงานที่บ้าน หลายคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำมาหากินให้อยู่รอด หนึ่งในช่องทางนั้นคือผ่าน “อินเทอร์เน็ต”

ผู้คนได้ใช้ตัวกลางในการเชื่อมโลกเข้าด้วยกันอย่างอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มประสิทธิภาพ มากกว่าการกดไลก์ กดแชร์ หรือดูไลฟ์ขายของ เด็ก ๆ ต้องนั่งเรียนที่บ้าน สร้างความท้าทายให้ครูผู้สอนว่าจะมีวิธีรับมือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างไร ผู้ใหญ่หลายคนต้องเปลี่ยนบ้านให้เหมาะสมกับการทำงานแบบไม่สะดุดให้ได้

บทเรียนของโลกต่อจากนี้คือทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ทุกคนต้อง “อยู่บ้าน” นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐและเอกชนที่รับหน้าที่ดูแลเครือข่ายต่าง ๆ ต้องเก็บไปคิดให้มาก

ธรรมชาติกลับดีใจ

ท่ามกลางความสิ้นหวังของประชากรโลก ธรรมชาติกลับเบิกบานและสดชื่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในโมงยามที่เหล่ามนุษย์ถูกสั่งให้กักตัวอยู่บ้าน การสัญจรโดยรถยนต์ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ต่าง ๆ เริ่มออกมาปรากฏตัวให้ได้เห็น ทั้งกวางยักษ์ในอินเดียที่คนแห่แชร์คลิป ฝูงไก่งวงออกมาเดินเล่นบนถนนในตัวเมืองแคลิฟอร์เนีย ในขณะที่เสือพูมาสำรวจเมืองหลวงไร้ผู้คนในชิลี เป็นสัญญาณว่ามลพิษทางเสียงของมนุษย์น้อยลงมาก และสัตว์โลกทั้งหลายเริ่มออกมาทวงคืนพื้นที่ที่เคยเป็นของมัน

ไม่ว่าโควิดจะทำให้โลกเปลี่ยนไปได้แค่ไหน ที่เรารู้คือขณะนี้ ผู้นำ เจ้าของกิจการ และประชากรโลกต่างได้รับโจทย์เดียวกัน คือการปกป้องตัวเองและประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดที่กำลังลุกลาม อยู่ที่ว่าใครจะเรียนรู้และแก้โจทย์ได้ดีกว่ากัน ในโลกจริงที่วัดกันที่ผลลัพธ์ ซึ่งก็คือ “ชีวิต” ของเราทุกคน

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

ความเห็น 134
  • PURE
    ชอบที่ธรรมชาติกลับดีใจ
    02 เม.ย. 2563 เวลา 00.14 น.
  • อย่าไปคิดเมื่อโรคโควิด-19 นี้หายไปจากโลกเลย ...คิดทุกวันนี้ไห้เอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ก่อนเถอะ อนาคตไม่แน่นอน ไม่มีใครแม่นเท่าอุตุนิยมวิทยา... เอาวันนี้ก่อนนะ จะหาเงินยังไง เอาอะไรกิน เงินเก็บพร่องลงทุกวัน... เฮ้อ!!!
    01 เม.ย. 2563 เวลา 17.37 น.
  • คราวนี้ล่ะจะได้รู้ถึงจิตใจที่แท้จริงของคนเรากันบ้าง.
    01 เม.ย. 2563 เวลา 22.31 น.
  • Chay Chummano
    เข้าสู้ยุคออนไลน์เต็มรูปแบบ การประชุมจะผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำงานที่บ้าน จะออกข้างนอกต้องใส่หน้ากาก บ้านเมืองสะอาดฆ่าไวรัสทุกวัน
    01 เม.ย. 2563 เวลา 17.40 น.
  • ♨️🎭อสูรชายทีน🎭♨️
    สำหรับผม ผมมองว่า covid-19 จะหมดเมื่อไหร่มากกว่า ถ้าหมดแล้ว ผมถึงค่อยคิดจริงจังส่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะอยากแค่จะผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ ยังยาก เพราะเรามีคณะรัฐบาลแบบนี้ ผู้นำแบบนี้ แต่ละคน แดกได้แดกดีบนความเดือดร้อนของประชาชน
    01 เม.ย. 2563 เวลา 17.28 น.
ดูทั้งหมด