ไลฟ์สไตล์

เมืองในอิตาลีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตช่วงโรคระบาดรุนแรงศตวรรษที่ 17 เมืองนี้ทำอะไรบ้าง?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 15 ก.ค. 2565 เวลา 08.38 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2565 เวลา 00.47 น.
ภาพวาดเหตุการณ์ในเมืองมิลาน อิตาลี ขณะเกิดโรคระบาดราว ค.ศ. 1630 ภาพจาก G. Nicodemi, ‘Un curioso documento iconografico della peste del 1630 a Milano’, Archivio storico lombardo, 5th series 9 (1922), 361–63 (p. 362). [ภาพ Public Domain ไฟล์จาก Wikimedia Commons]

ในยุคศตวรรษที่ 17 อิตาลีเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล แต่มีเมืองหนึ่งในแถบนั้นที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดเลย สถานที่นั้นคือเมืองเฟอร์ราร่า (Ferrara) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี

บันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้เกี่ยวกับโรคระบาดในอิตาลีระหว่าง 1629-1631 อิตาลีเผชิญหน้ากาฬโรคต่อมน้ำเหลืองระบาด (bubonic plague) ซึ่งถูกขนานนามกันว่า Great Plague of Milan หรือการระบาดครั้งใหญ่แห่งมิลาน ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเมืองมิลานคาดว่ามากถึง 60,000 ราย ขณะที่จำนวนประชากรโดยรวมช่วง ค.ศ. 1630 คาดว่ามีประชากรรวมทั้งหมด 130,000 คน เมืองอื่นที่มีผู้เสียชีวิตหลักหมื่นปรากฏชื่อเมืองใหญ่ทั้งเวนิซ (Venice) เสียชีวิตประมาณ 46,000 คน (ตัวเลขจนถึงปี 1631), เวโรน่า (Verona) เสียชีวิต 33,000 คน, โบโลญญา (Bologna) เสียชีวิต 15,000 คน ขณะที่ฟลอเรนซ์ (Florence) คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 9,000 รายจากประชากรทั้งหมด 76,000 คน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ท่ามกลางโรคระบาดอย่างรุนแรง บันทึกตัวเลขผู้เสียชีวิตในเมืองเฟอร์รารา กลับไม่มีผู้เสียชีวิตเลย เดฟ รูส (Dave Roos) คอลัมนิสต์เว็บไซต์ history.com อธิบายว่า เมืองเฟอร์ราร่า ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดมาตั้งแต่ค.ศ. 1576 ด้วยซ้ำ ขณะที่ละแวกเพื่อนบ้านต่างมีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดกันถ้วนทั่ว

ย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเกิดกาฬโรคระบาดหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นที่รู้จักกันในนามเหตุการณ์ Black Death คาดว่าเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1347 หลายเมืองในอิตาลีได้รับผลกระทบมาก จอห์น เฮนเดอร์สัน ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อิตาลียุคเรอเนซองส์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เขียนหนังสือ “ฟลอเรนซ์เมื่อถูกปิดล้อม : การเอาตัวรอดจากโรคระบาดในเมืองช่วงต้นยุคสมัยใหม่” (Florence Under Siege: Surviving Plague in an Early Modern City) ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงเวลานั้นหลายเมืองเริ่มใช้มาตรการแยกตัวผู้มีอาการป่วย กักตัวผู้ต้องสงสัยเป็นพาหะ และจำกัดการเดินทางที่มาจากพื้นที่ซึ่งปรากฏการระบาด โรคระบาดยังปรากฏขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 3 ทศวรรษนับตั้งแต่นั้นมา ด้วยประสบการณ์จากการรับมือทำให้เห็นมาตรการต่างๆ มากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลายเมืองในแถบอิตาลีต่างมีมาตรการรับมือโรคระบาดด้วยกันทั้งสิ้น

โรคระบาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดระเบียบการรับมือหรือมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งระเบียบข้อหลักๆ นั้นก็ถูกพัฒนาขึ้นในยุคเรอเนซองส์ (Renaissance) และยุคใหม่ช่วงต้นๆ จนกลายเป็นต้นแบบของมาตรการในยุคหลัง เฮนเดอร์สัน อธิบายว่า จากการศึกษาแล้ว มาตรการเหล่านี้ปรากฏขึ้นในอิตาลีระหว่างศตวรรษที่ 15-17 และถูกนำมาใช้แบบเต็มรูปแบบอย่างชัดเจนในช่วงเกิดโรคระบาดในฟลอเรนซ์ ราว 1930-1931

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่เมืองเฟอร์ราร่า ซึ่งขณะนั้นมีประชากรราว 30,000 คน เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในแง่การรับมือโรคระบาดมากที่สุด

ข้อมูลที่กล่าวอ้างข้างต้นนี้อ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเฟอร์ราร่า ได้สืบค้นเอกสารทางการท้องถิ่นและเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ เมื่อวิเคราะห์จากเอกสารแล้ว ทีมวิจัยสรุปว่า เมืองเฟอร์ราร่า ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดจากองค์ประกอบหลายข้อ อาทิ การตรวจตราเขตพรมแดนอย่างเข้มงวด มาตรการสุขอนามัยที่เข้มข้น และวินัยส่วนบุคคลซึ่งปรากฏการใช้สารทางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติต้านจุลชีพ ใช้ทั้งสมุนไพร น้ำมัน หรือแม้แต่แมงป่องและงูพิษ

พื้นที่ของเมือง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมืองเฟอร์ราร่า เป็นเมืองที่มีทิวทัศน์งดงาม มีกำแพงตามแนวแม่น้ำโป (Po River) ไปจนถึงช่วงพื้นที่ตรงกลางจากระยะห่างระหว่างเมืองปาดัว (Padua) และโบโลญญา ซึ่งเมืองทั้งสองแห่งนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดช่วง ค.ศ. 1930 เมืองเฟอร์ราร่า เริ่มปรากฏการวางถนนครั้งแรกเมื่อ 1375 และมีระบบระบายน้ำในปี 1425

หากมองภาพรวม ช่วงศตวรรษที่ 15 คือห้วงเวลาที่เมืองใหญ่ในอิตาลีอย่างเวนิซ และฟลอเรนซ์ ติดต่อสัมพันธ์กับเมืองขนาดเล็กอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการระบาด ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้เพื่อวางมาตรการแต่ละระดับให้สอดคล้องกับความรุนแรง และร่วมกันหามาตรการทางสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์

สำหรับมาตรการสูงสุดของเฟอร์รารา พวกเขาปิดประตูเมือง จัดทีมตรวจตราที่มีตารางสลับเปลี่ยนกัน ทีมประกอบไปด้วยขุนนางที่มีฐานะดี, เจ้าหน้าที่ทางการ, แพทย์ และเภสัชกร ใครก็ตามที่มุ่งหน้ามาทางประตูเมืองต้องมีเอกสารประจำตัวที่เรียกว่า “Fedi” เพื่อการันตีว่าพวกเขามาจากพื้นที่ซึ่งไม่มีการระบาด หากมีเอกสารพร้อมจึงจะถูกตรวจร่างกายว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณว่าติดโรคหรือไม่

ในเมือง

ในตัวเมืองย่อมมีมาตรการเฝ้าระวังในระดับที่สอดคล้องกันเพื่อตรวจหาผู้ที่มีอาการหรือผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ เมื่อพบตัว พวกเขาจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเฟอร์ราร่า ในฟลอเรนซ์ เองก็มีโรงพยาบาลโรคติดต่อลักษณะเดียวกันและรักษาผู้ป่วยมากกว่าหมื่นรายในช่วง 1930-1931 รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แพทย์ในสมัยนั้นเชื่อกันมาว่า โรคระบาดนั้นมาจากอากาศที่ปนเปื้อน ซึ่งอาจถูกปล่อยออกมาจากใต้ดินระหว่างแผ่นดินไหว การปนเปื้อนก็ถูกเชื่อว่ามาจากสิ่งเน่าเปื่อยหรือสิ่งโสโครกในเมืองและชานเมือง กระทั่งในปี 1546 จิโรลาโม ฟราแคสโตโร (Girolamo Fracastoro) แพทย์อิตาเลียนเผยแพร่ทฤษฎีเชิง “เมล็ดพันธุ์แห่งโรค” ซึ่งเขามองว่าโรคแพร่กระจายจากคนสู่คน เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นสามารถติดมากับเสื้อผ้าและสิ่งของได้

เมืองเฟอร์ราร่า ซึ่งมีมาตรการทางสาธารณสุขที่สืบทอดกันมาจากยุคกลาง เมื่อได้รับแนวคิดจากฟราแคสโตโรอีก ทำให้พวกเขาเริ่มกำจัดขยะและจัดการสัตว์ที่มีพฤติกรรมสกปรกเช่นสุนัข แมว และไก่ มีโรยผงปูนขาวทั่วไปบนพื้นผิวใดก็ตามที่สันนิษฐานว่ามีผู้ป่วยสัมผัส

ขณะที่ในครัวเรือนเองก็ประเมินวัตถุต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ที่เสียหายแล้วจะถูกนำมาไว้ข้างนอกและเผาทำลาย ส่วนวัตถุมีค่าและเงินจะนำมาวางไว้ใกล้ไฟ มีพ่นน้ำหอมในบ้านทุก 15 วัน เสื้อผ้าและสิ่งทอต่างๆ จะถูกนำมาตากแดด ชำระ และโรยน้ำหอมทุก 15 วัน

สำหรับเมืองฟลอเรนซ์ พวกเขามีกระบวนการสืบค้นแกะรอยหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อรายแรก โดยเจ้าหน้าที่ทางการของเมืองฟลอเรนซ์ ระเบียบวิธีนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการที่กระทำในช่วงโรคระบาดช่วงต้นของยุคสมัยใหม่ในอิตาลี เจ้าหน้าที่พยายามค้นหาตัวผู้ป่วยคนแรกที่นำโรคระบาดเข้ามาในเมืองหรือนครรัฐและตามตัวผู้ที่ติดต่อสัมผัสทั้งหมด และจะถูกกักตัวในบ้าน 40 วัน หรือในศูนย์กักตัวขนาดใหญ่นอกกำแพงเมือง

ในช่วงที่ประชากรเมืองฟลอเรนซ์ กักตัวอย่างสมบูรณ์ราว 1631 ทางการอนุญาตให้คนทั่วไปยืนบนดาดฟ้าหรือหลังคาในอาคารที่อาศัยอยู่ และพูดคุยกับคนที่อยู่ในถนนฝั่งตรงข้าม หรือแม้แต่ร้องเพลงได้ด้วย

สุขอนามัยส่วนบุคคล

บทความจาก history.com อธิบายว่า ประชากรเมืองเฟอร์ราร่า นิยมวิธีทางธรรมชาติหลายอย่างสำหรับป้องกันโรค วิธีที่นิยมมากที่สุดคือใช้น้ำยาที่เรียกว่า “Composito” มีกฎหมายกำหนดว่า ส่วนผสมของน้ำยาจะต้องถูกกักเก็บเตรียมพร้อมอยู่ในกล่องซึ่งถูกปิดล็อกอยู่ภายในที่ทำการของทางการและจะถูกนำมาแจกจ่ายในภาวะโรคระบาดเท่านั้น

ส่วนผสมลับของ “Composito” บัญญัติโดยแพทย์ชาวสเปนชื่อ เปโดร คาสตาโญ (Pedro Castagno) เขายังเป็นผู้ออกแบบระเบียบให้เมืองเฟอร์ราร่า เรียกว่า “กฎเกณฑ์ต่อต้านโรคระบาด” เนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายวิธีใช้น้ำยาชโลมร่างกายว่า

“ก่อนลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้า หลังเผาไม้หอม (สน, ลอเรล, ยอดเถา-juniper, laurel and vine shoots) อบเสื้อผ้า ให้ถูในพื้นที่ส่วนหัวใจก่อน อยู่ใกล้ไฟเพื่อช่วยในการดูดซึมซับ จากนั้นจึงไปที่บริเวณคอ”

“(หลังจากนั้น) ล้างมือ และใบหน้าด้วยน้ำสะอาด ผสมไวน์และน้ำส้มสายชูหมักจากกุหลาบโดยใช้ฟองน้ำ…”

ยาที่ผสมพิษ

สิ่งที่คาสตาโญ ไม่ได้ระบุคือส่วนผสมของน้ำยา แต่จากการตรวจสอบหลักฐานบันทึกสิ่งที่คาสตาโญ สั่งมา นักวิจัยสันนิษฐานว่ามันคือขี้ผึ้งที่ผสมยางไม้หอม (Myrrh) และหญ้าฝรั่น (Crocus sativus) ทั้งสองสิ่งนี้เป็นที่รู้จักจากคุณสมบัติมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียเช่นเดียวกับพิษจากแมงป่องและงู

ในภูมิภาคอื่นๆ แถบอิตาลียังมีปรากฏน้ำยาที่มีส่วนผสมคล้ายกันอันเป็นที่รู้จักในชื่อ “น้ำมันแมงป่อง” และขี้ผึ้งโบราณชื่อ “Theriac” ซึ่งมีส่วนผสมของพิษงูเช่นกัน เฮนเดอร์สัน อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องใช้พิษนั้น เนื่องมาจากเชื่อว่าพิษธรรมชาติแท้เท่านั้นที่สามารถต่อต้านพิษจากโรคระบาดได้

หากพิจารณาโดยรวมแล้ว มาตรการในเมืองเฟอร์ราร่า ล้วนปรากฏในเมืองอื่นสำหรับต่อสู้กับโรคระบาดเช่นกัน ในมุมมองของเฮนเดอร์สัน เขาเชื่อว่า สิ่งที่สร้างความแตกต่างคือระดับความเข้มข้นของการบังคับใช้

อ้างอิง :

DAVE ROOS. “How One 17th-Century Italian City Fended Off the Plague”. History. Online. Published 3 APR 2020. Access 10 APR 2020.

Khadilkar, Dhananjay. “17th-century Florence: When lockdown became the template to fight pandemics”. rfi. Online. Published 7 APR 2020. Access 10 APR 2020.

https://en.wikipedia.org/wiki/1629%E2%80%931631_Italian_plague

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • SupramarthP.
    ขอบคุณ สาระดีมาก
    11 เม.ย. 2563 เวลา 13.58 น.
ดูทั้งหมด