ไลฟ์สไตล์

"อึ่งเพ้า" อาหารอีสานราคาหรู แต่เสี่ยงพยาธิ…หากไม่ปรุงให้สุก

Amarin TV
เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 03.55 น.
การเกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานนั้น นับเป็นสัญญาณที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้ดีว่า จะมีที่สัตว์จำศีลออกมาผสมพันธุ์ในช่วงดังกล่าว

การเกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานนั้น นับเป็นสัญญาณที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้ดีว่า จะมีที่สัตว์จำศีลออกมาผสมพันธุ์ในช่วงดังกล่าวแน่ๆ นั่นคือ อึ่งเพ้า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำราคาแพงของที่สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละหลายร้อยบาท แถมชาวบ้านส่วนใหญ่ยังสามารถออกไปจับได้ครั้งละมากกว่าคนละ 5 กิโลกรัมอีกด้วย

อึ่งปากขวด หรือ อึ่งเพ้า (Glyphoglossus molossus) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่ง จำพวกอึ่งอ่าง ที่จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Glyphoglossus มีความยาวจากหัวจรดถึงก้นประมาณ 73 มิลลิเมตร ลำตัวอ้วนป้อม มีลักษณะเด่นคือ หน้าสั้นมาก ปากแคบและทู่ไม่มีฟัน ไม่เหมือนกับกบหรืออึ่งอ่างชนิดอื่นๆ ตาเล็ก ขาสั้น แผ่นเยื่อแก้วหูเห็นไม่ชัด ลำตัวสีน้ำตาลดำหรือสีเทาดำ ใต้ท้องสีขาว บางตัวอาจมีจุดกระสีเหลืองกระจายอยู่ทั่ว เท้าทั้ง 4 ข้างมีพังผืดเกาะติดอยู่ ใช้สำหรับว่ายน้ำ และมีสันใต้ฝ่าเท้าหลังใช้สำหรับขุดดิน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อึ่งปากขวดพบในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยจะพบเฉพาะพื้นที่ที่อยู่เหนือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นไป โดยมีพฤติกรรมอาศัยโดยขุดโพรงดินที่เป็นดินปนทรายและอาศัยอยู่ภายใน ในป่าที่มีความชุ่มชื้นใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ในฤดูร้อนจะซ่อนตัวในโพรงแทบตลอด เมื่อฝนตกจะออกมาหากิน โดยหากินในเวลากลางคืน ผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน และจะผสมพันธุ์วางไข่เร็วกว่าอึ่งอ่างหรือกบชนิดอื่น ลูกอ๊อดมีลำตัวป้อมและโปร่งแสง ลำตัวเป็นสีเหลือง มีส่วนบนและส่วนล่างเป็นสีดำ หากินอยู่ในระดับกลางน้ำ โดยจะว่ายทำมุมประมาณ 45 องศา อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ไปไหนมาไหนพร้อมกันเป็นฝูง

จากข้อมูลของ แผนกวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน พบว่าอึ่งเพ้าเป็นที่นิยมนำมาทำอาหารในภาคอีสานอย่างมาก โดยเฉพาะอึ่งตัวเมียที่มีไข่ในท้องซึ่งสามารถนำมาทำอาหารได้หลายรายการ เช่น 1.อึ่งลาบคั่ว 2.อึ่งไข่อบเกลือก 3.อึ่งรมควัน 4.อึ่งสามแดด 5.อึ่งทอดกระเทียมพริกไทย 6.น้ำพริกอึ่งสะเรียมลวก 7.ผัดเผ็ดอึ่งกรอบ 8.แกงป่าอึ่ง 9.ต้มอึ่งยอดมะขาม 10.ต้มอึ่งชะมวงดง 11.ต้มยำอึ่งมะนาว 12.แกงส้มอึ่งดอกแค 13.ห่อหมกอึ่งร้าหอมพริก 14.ห่อหมกอึ่งราชินี และ 15.หลามอึ่งผักป่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รายงานว่า จากตัวอย่างอึ่งปากขวดจำนวน 34 ตัว พบตัวอย่างอึ่งปากขวดที่ติดหนอนพยาธิทั้งสิ้นจำนวน 26 ตัว ค่าความชุกของการติดเชื้อเท่ากับ 76.47% โดยพบหนอนพยาธิตัวกลม 2 ชนิด ได้แก่ Aplectana sp., Amphibiophilussp.และหนอนพยาธิหัวหนาม 1 ชนิด ได้แก่Acanthocephalussp. หนอนพยาธิส่วนใหญ่ถูกพบในลำไส้ ซึ่งมีค่าความชุกเท่ากับ 11.76%, 70.59%, และ 2.94%

ดังนั้นการนำอึ่งหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ มารับประทานเป็นอาหารจึงควรผ่านการปรุงให้สุกด้วยความร้อนเสียก่อน เพื่อป้องกันการติดพยาธิจากเนื้อสัตว์เข้าสู่ร่างกาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบันอึ่งปากขวดไม่จัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะถูกจับมาบริโภค ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป และแม้ว่าทางกรมประมงจะมีการสนับสนุนให้เลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ แต่การจับอึ่งในธรรมชาติก็มีให้เป็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เพราะสามารถสร้างรายได้แก่ผู้ที่จับมาได้วันละหลายหมื่นบาท หากจับได้ในปริมาณมาก

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • NattashA_J.
    โลละ200 บาท แถมมีพยาธิอีก กินมังสวิรัติดีกว่า555
    24 เม.ย. 2562 เวลา 04.23 น.
ดูทั้งหมด