ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากตัวเลขสถิติจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2568 ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปปัจจุบันมีประมาณ 15% ของประชากรในประเทศ และเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 500,000 คนทำให้ปี 2568 จะมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 20% ของคนทั้งประเทศ คิดง่ายๆ ว่าทุก 5 คนจะมีผู้สูงอายุ 1 คน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำลง และประชากรมีอายุยืนขึ้น
อัตราของเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำลงนั้นสาเหตุใหญ่เป็นเพราะคนสมัยนี้มีแนวคิดเปลี่ยนไปต่อการมีลูก
เท่าที่เคยพูดคุยกับคนรอบตัวหรืออ่านจากบทสัมภาษณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่คนที่แต่งงานแล้วแต่เลือกที่จะยังไม่มีลูก มักให้เหตุผลเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ คือยังไม่พร้อมที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่มีบางส่วนที่ให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อมเนื่องจากปัจจัยภายใน หรือสภาพจิตใจนั่นเอง เหตุผลเรื่องเศรษฐกิจเข้าใจได้ไม่ยากเพราะการให้กำเนิดเด็กคนหนึ่งนั้นในยุคปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายมากมายตั้งแต่ค่าฝากท้องค่าคลอดลูกรวมไปถึงของกินของใช้ต่างๆ ค่าเล่าเรียนถ้าพ่อแม่ต้องไปทำงานแล้วไม่มีคนดูแลก็ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายเพื่อฝากเลี้ยง หรือจ้างคนมาเป็นพี่เลี้ยง และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆอีกมากมาย อิสระในชีวิตก็หายไปอยากไปเที่ยวอยากไปไหนอยากไปทำอะไรก็ไม่ง่ายเหมือนตอนไม่มีลูก
แต่ที่น่าสนใจคือเหตุผลของคนที่ดูความพร้อมเรื่องปัจจัยภายในหรือสภาพจิตใจของตัวเองที่ยังไม่พร้อมจะเป็นพ่อคนแม่คนด้วย คือยังทนเสียงร้องงอแงของเด็กไม่ได้ ยังไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้หรือไม่ได้เป็นคนรักเด็ก ยังไม่มีความอดทนสูงขนาดนั้น
อย่างตัวผมเองสมัยวัยรุ่นที่เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ก็ได้อ่านประวัติของพระพุทธเจ้าที่กล่าวถึงตอนที่ท่านยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนออกบวช ท่านมีลูกชายที่ชื่อว่าราหุล เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อได้ทราบว่าพระราชโอรสประสูติ ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "ราหุ ชาโต พันธนัง ชาตัง" แปลว่า "ราหุ (บ่วง) เกิดขึ้นแล้ว พันธนาการเกิดขึ้นแล้ว" หมายความว่า พระกุมารที่ประสูติจะเป็นบ่วงร้อยรึงพระองค์ไว้กับภริยาและชีวิตฆราวาส
พอได้อ่านแบบนั้นก็เลยกลายเป็นมีความคิดว่าการมีลูกมันเป็นบ่วง ไปตีความเอาเองว่าคงเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ของชีวิต เกิดลูกเราเป็นคนไม่ดีสร้างปัญหาให้กับเราและสังคมคงจะเป็นทุกข์น่าดู หรือแม้ลูกเป็นเด็กดีมีความกตัญญูให้ความสุขกับเราแต่ถ้าวันนึงต้องแยกจากกันไม่ว่าจากเป็นหรือจากตายก็คงเป็นทุกข์มหาศาล
คิดเอาเองว่า ไม่มี ดีกว่า เคยมี ก็เลยตั้งใจว่าชีวิตนี้จะไม่ขอมีลูก
คุณแม่ผมได้ทราบความคิดของผมก็เป็นห่วง ท่านบอกว่าแก่ตัวไปใครจะดูแล
ผมก็ตอบท่านว่าแล้วคุณแม่รู้ได้อย่างไรว่ามีลูกแล้วเค้าจะดูแลเรา (แต่ผมดูแลคุณแม่นะครับ 55555)
สำหรับผมถึงแม้ว่าผมจะเห็นด้วยว่าความกตัญญูนั้นมันคือหน้าที่และเป็นสิ่งที่สมควรทำแต่จะไปคาดหวังหรือไปบังคับลูกก็คงจะยาก มันคือความสมัครใจไม่สามารถสั่งหรือบังคับได้
ผมมองแต่ข้อเสียของการมีลูก อาจเป็นเพราะตอนนั้นผมไม่มีความพร้อมทั้งภายนอกและภายในจึงมองว่าทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด แต่พอผ่านระยะเวลามากกว่า 20 ปีอยู่ในวัยที่คนรอบตัว ต่างก็มีลูกได้พูดคุยได้ถามความเห็น
ทั้งคนที่มีลูกด้วยความตั้งใจและความไม่ตั้งใจ คนที่ตั้งใจมีลูกแน่นอนว่ามีความสุขมากๆ เค้าบอกว่าลูกคือสิ่งวิเศษที่สุดในชีวิตตั้งแต่เขาเกิดมาเลย ส่วนคนที่ไม่ตั้งใจนั้นหลายคนเครียดในตอนแรกเพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม แต่หลังจากมีแล้ว เอาเท่าที่ผมเคยเจอกับตัวเองและรู้จักนะครับทุกคนรักลูกและคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในชีวิต
ผมได้อ่านหนังสือเลี้ยงลูกอย่างโจน ของพี่ โจน จันได พี่โจนบอกว่าลูกมาสอนอะไรพี่โจนมากมายในชีวิต สอนให้รู้จักความรักของคนเป็นพ่อเป็นแม่ สอนให้รู้จักรักอย่างไม่มีเงื่อนไข สอนให้รู้จักการปล่อยวาง ประสบการณ์ของการเป็นพ่อคนก็ยังคงสอนอะไรพี่โจนได้อีกหลายหลายอย่างจนถึงทุกวันนี้
ผมได้ลองกลับไปย้อนศึกษาคำว่าราหุล ถึงจะแปลว่าบ่วง หรือโซ่ แต่ก็สามารถตีความหมายได้เหมือนกับคำว่าโซ่ทองคล้องใจ ที่ยึดความผูกพันของ พ่อและแม่เข้าไว้ด้วยกัน ผู้สำเร็จอริยบุคคลเป็นโสดาบันหรือบรรลุธรรมในเบื้องต้นหลายหลายท่านก็มีลูก หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าเองท่านก็ยังมีลูก
การมีลูกมันก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียนี่นา ความยึดมั่นในลูก หวังว่าจะให้เค้าเป็นอย่างที่เราต้องการต่างหาก คือต้นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่จะคาดหวัง จะไม่ให้คาดหวังคงยาก
บางกรณีไม่พร้อมภายนอกด้วยปัจจัยเศรษฐกิจการเงิน แต่พอหลังจากมีลูกแล้ว พ่อแม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อลูกกลายเป็นมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าตอนไม่มีลูกซะอีก อันนี้ผมเรียกว่าทัศนคติดี คิดได้ มีความพร้อมภายใน (พูดถึงในกรณีที่พลาดไปแล้วไม่ได้สนับสนุนให้เด็กท้องในวัยที่ยังไม่พร้อมนะครับ)
ผมมองว่าความพร้อมด้านจิตใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่มีความสำคัญมากๆ เลี้ยงให้รอดทางร่างกายว่ายากแล้ว อบรมให้เป็นคนดีมีความคิดที่ถูกที่ควรเป็นเรื่องยากเข้าไปอีกเพราะการสอนที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวอย่างให้เห็น แต่ผมก็คิดว่าไอ้เราก็คนธรรมดาที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์พร้อม ยังทำเรื่องที่ผิดที่ไม่สมควรอยู่ ผมเห็น พ่อแม่หลายคนพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
อันนี้ผมมองว่าเป็นความงามหรือข้อดีของการมีลูกได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ถึงแม้สุดท้ายจบลงที่คำว่า
“เลี้ยงลูกเลี้ยงได้แต่ตัว จิตใจเป็นของเขา พ่อแม่บังคับไม่ได้”
จากที่เคยคิดว่า การมีลูก คือภาระ ในวันนี้ผมมองว่าการมีลูก ก็ยังสามารถเป็นครูได้ด้วย ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนเป็นพ่อแม่
ถ้าถามผมว่ามีลูกหรือไม่มีดีกว่ากัน ในมุมมองของผม ตอนนี้ผมคิดว่าดีทั้งคู่ครับ
มีก็ดี ไม่มีก็ดี
ตอนนี้ผมยังไม่มีลูกก็คิดได้เท่านี้ วันที่มีลูกอาจจะคิดอีกแบบ แต่ที่แน่ๆ วันนี้ผมเป็นลูก ก็ขอทำหน้าที่ลูกแบบไม่เป็นภาระพ่อแม่ไปก่อนละกันครับ
Nink😊 ลูกสามารถทำให้เราเป็นคนดีมากขึ้น เพราะเราต้องเป็นแบบอย่างที่ดี พอเราทำทุก ๆ วันมันจะติดเป็นนิสัยโดยอัตโนมัติ 😊
24 ก.ค. 2561 เวลา 04.46 น.
Neeranoot ลูกคือหัวใจแม่
24 ก.ค. 2561 เวลา 05.01 น.
สุรพงษ์ เข็มเพ็ชร์ ไม่น่าเชื่อนะครับเนี่ยว่าเมื่อสักครู่ผมได้อ่านความคิด
ของนักร้องวงบุดด้าเบลสที่อุ๋ยขอบอกว่า"สุดยอด"
24 ก.ค. 2561 เวลา 05.22 น.
ลูกเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของแม่
24 ก.ค. 2561 เวลา 05.18 น.
𝓐𝓶𝓹8995 ลูกคือทุกอย่างของแม่คะ
24 ก.ค. 2561 เวลา 05.03 น.
ดูทั้งหมด