สุขภาพ

เมื่อปลายสายบอกว่าอยากฆ่าตัวตาย

Rabbit Today
อัพเดต 21 มี.ค. 2562 เวลา 10.39 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 10.39 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

คุณเคยมีประสบการณ์ที่คนรู้จักโทรมาบอกคุณว่าอยากฆ่าตัวตายหรือกำลังจะฆ่าตัวตายไหมคะ

หมออาจไม่เคยมีประสบการณ์ว่าคนโทรมา มีแต่บอกต่อหน้าต่อตาเลยว่าเขาคิดอยากจะฆ่าตัวตาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บางครั้งเขาไม่ได้บอกแต่ด้วยท่าทีและแววตาของความเศร้าทำให้ต้องเอ่ยถามก่อนเลยว่า

คุณคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า คุณอาจจะกำลังสงสัยว่า เราถามแบบนี้ได้ด้วยหรือ เป็นคำถามที่ควรถามหรือ  

ถามแล้วจะมีประโยชน์อะไร แล้วมันจะเป็นการชี้นำหรือไม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าหมอบอกว่าเป็นคำถามสำคัญที่คุณควรถามเป็นที่สุดคุณจะเชื่อไหม มันสำคัญขนาดว่าอาจทำให้บางคนสอบตกการเป็นจิตแพทย์ได้เลยหากคุณไม่ถามคำถามนี้กับคนที่สังเกตได้ว่า เขาจมอยู่กับความเศร้า

แต่ก็ไม่แปลกถ้าเราจะมีความสะกิดใจเรื่องนี้แต่ไม่กล้าจะถาม  หรือตกใจจนทำอะไรไม่ถูกหากมีคนใกล้ตัวของคุณบอกว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย ถ้าเราดูข่าวในปัจจุบัน เรื่องนี้เริ่มใกล้ตัวพวกเราขึ้นทุกทีและทุกครั้งที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ  

ลมหายใจของใครคนหนึ่งอาจจะจบสิ้นลง แต่บาดแผลในใจของคนรอบข้างกลับเพิ่งเริ่มต้น แม้ว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายครั้งนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ตาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการมาทำความรู้จักการฆ่าตัวตาย ก่อนที่จะมีใครบอกเราว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย

มีบทความของอาจารย์มาโนช หล่อตระกูล เขียนให้เราเข้าใจในหัวใจและความหมายของการฆ่าตัวตายได้เป็นอย่างดี

การพยายามฆ่าตัวตายคืออะไร การพยายามฆ่าตัวตายเป็นการร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

  • จุดมุ่งหมายของเขา คือเพื่อหาทางออกต่อปัญหา
  • เป้าหมาย คือ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้อะไรอีกต่อไป
  • ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ความทุกข์ทรมานใจที่ยากจะทนได้
  • ปัจจัยบีบคั้น (Stressor) ได้แก่ ความผิดหวัง ไม่สมหวัง
  • ภาวะอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทาง
  • ความรู้สึกภายใน ได้แก่ ความรู้สึกสองจิตสองใจ
  • สภาวะความคิดอ่าน (Cognitive state) คือความคิดหรือการมองสิ่งต่างๆ คับแคบลง
  • พฤติกรรม ได้แก่ การพยายามหนีไป ณ ขณะนั้น
  • พฤติกรรมที่มีกับผู้อื่น คือ การบ่งบอกถึงเจตนาสิ้นสุดชีวิต
  • สิ่งที่พบบ่อย ได้แก่ รูปแบบการปรับตัวต่อปัญหาที่เป็นเช่นนี้มาตลอด

จากบทความของ นพ.มาโนช หล่อตระกูล

เราอาจคิดว่า การที่เขาฆ่าตัวตายแสดงว่าเขาได้ตัดสินใจแน่นอนแล้ว คงเปลี่ยนใจเขายาก แต่จริงๆ แล้วจากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่คนที่ฆ่าตัวตายจะมีความรู้สึกสองจิตสองใจ จริงๆ แล้วเขาอยากมีชีวิตอยู่ แต่เขาทนความปวดร้าว ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ไหว ถ้าความทุกข์นี้ลดลง หรือได้รับการช่วยเหลือ หรือมีคนชี้แนะ ความคิดอยากตายมักหายไปในที่สุด

ทำไมการฆ่าตัวตายมักถูกผูกโยงกับโรคซึมเศร้า

เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความคิดอัตโนมัติ ที่ควบคุมได้ยากว่าเราก็แย่ คนอื่นไม่ดี โลกนี้ไม่น่าอยู่ จึงมีโอกาสสูงที่จะมีความคิดฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นจากความรู้สึกเศร้า

เราควรช่วยเหลือคนที่พยายามฆ่าตัวตายอย่างไร

‘รับรู้’ ‘รับฟัง’ ‘เข้าใจ’

‘รับรู้’ รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร เราอาจจะตกใจ กังวลใจ หรือบางคนอาจรู้สึกกลัว ให้รู้ตัวแล้วกลับมาสู่การตั้งใจรับฟังและรับรู้

รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เขากำลังทุกข์ที่สุดในชีวิต รู้ว่าเขามีความคิดอะไร รู้ความหมายของความรู้สึกอยากตายในครั้งนี้

รู้ว่าอย่ากลัวกับการถามอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘มีความคิดทำร้ายตัวเองใช่ไหม’  การถามคือการเปิดประตูเพื่อระบายความเจ็บปวดในใจเขา แค่รู้ว่ามีคนรับรู้ความทุกข์ ใจก็เบาไปกว่าครึ่ง

‘รับฟัง’ เปิดโอกาสให้เขาระบายความอัดอั้นตันใจอย่างเต็มที่ พูดให้น้อยตั้งใจฟังให้มาก

‘เข้าใจ’ เข้าใจสาเหตุของความทุกข์ จนเป็นที่มาของความคิดฆ่าตัวตาย และแสดงความเข้าใจนั้นออกมาให้เขารับรู้ เช่น โอบกอด ท่าทีห่วงใย น้ำเสียงนุ่มนวล

สุดท้ายไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงอย่างไร

เราก็สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า ‘เราทำดีที่สุดแล้ว’

เพราะเราเองก็ควรทำให้ทุกๆ วันเสมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเช่นเดียวกัน

Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา

Youtube : หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness

IG : earnpiyada

Website : www.earnpiyada.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Dæng
    คนที่บอกส่วนมากไม่ค่อยทำจริงหรอก ต้องการแค่คนปลอบใจ แต่คนไม่พูดไม่บอกนี่สิทำจริง
    22 มี.ค. 2562 เวลา 04.28 น.
  • Black wing
    เฮ้อ..คนมีชีวิต ก็ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต ส่วนดวงวิญญาณมากมายในนรก ก็รอคอยการกลับมาเกิดใหม่
    22 มี.ค. 2562 เวลา 02.03 น.
ดูทั้งหมด