ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"อุตตม" ถกเมติญี่ปุ่นพ.ค.นี้ ร่วมมือยกระดับนวัตกรรม

ประชาชาติธุรกิจ
เผยแพร่ 25 มี.ค. 2561 เวลา 04.11 น.

“อุตตม” เตรียมหารือ “เมติ” พ.ค.นี้ รีวิวแผนพัฒนา SMEs ผ่าน 3 โครงการ พร้อมหารือ BOI เพิ่มมาตรการให้สิทธิประโยชน์ หนุน startup ใช้นวัตกรรมใหม่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) มีกำหนดนำคณะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งที่ 2 จากที่เคยมาช่วงเดือน ก.ย. 2560 เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ภายใต้นโยบาย Connected Industries ใน 3 โครงการหลักที่เน้นพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) คือ 1.โครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) ที่ทางญี่ปุ่นส่ง 60 บริษัท อาทิ ฮิตาชิ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โคจิม่าเพรส ไอไอเจ เข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ SMEs ไทย เพื่อจับคู่กับ 33 บริษัท จาก 11 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยี internet of things (IOT) และเชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม)

2.โครงการ Open Innovation Columbus เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการใหม่ (startup) ของญี่ปุ่น-ไทย ในการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม โดยคาดว่าจะใช้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ (new innovation hub) ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเริ่มได้ฟอร์มทีมขึ้นมาคัดเลือก startup ไทย 30 ราย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่กับธุรกิจ (business matching) อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสตาร์ตอัพญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะดึงสตาร์ตอัพประเทศอื่นที่สามารถจับคู่สร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับ startup ไทยได้ด้วย ขณะเดียวกันต้องเชิญ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ร่วมหารือเพื่อพิจารณาหามาตรการหรือสิทธิประโยชน์ให้ startup ที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่เข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และ 3.โครงการ Flex Campus ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกับนักลงทุนไทย ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้จากฝั่งญี่ปุ่น ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อช่วยพัฒนาวิศวกรและอาชีวศึกษาของไทย สำหรับรองรับอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ โดยเป็นการพัฒนาหลักสูตรปีต่อปี เบื้องต้นจะเริ่มพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก่อน

ดูข่าวต้นฉบับ