ทั่วไป

วช. หนุน สจล. พัฒนานวัตกรรมสู้โควิด ชูห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
อัพเดต 05 พ.ค. 2564 เวลา 05.43 น. • เผยแพร่ 05 พ.ค. 2564 เวลา 05.56 น.
ภาพไฮไลต์

วช. หนุน สจล. พัฒนานวัตกรรมสู้โควิด-19 ชูห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่ สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อป้องกันและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการโรคติดต่อทางทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย

เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความรุนแรงของสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ในการรักษาตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก จำเป็นต้องอยู่ในห้องความดันลบกำลังจะเต็มกำลังของระบบสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับผู้ป่วยวิกฤติในโรงพยาบาลสนาม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาห้องความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อใช้เป็นห้อง ICU ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลจึงไม่อยากนำเข้าไปรักษารวมกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล อีกทั้งในโรงพยาบาลก็ประสบปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่จะต้องดูแลในห้องไอซียูความดันลบ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ(สจล.)ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อพัฒนาห้องความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อใช้เป็นห้อง ICU ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม โดยพัฒนาเป็นห้องความดันลบขนาด 3*6.5 เมตร/ยูนิต โดยห้องความดันลบนี้มีความพิเศษ คือ มีห้อง ante-room ในตัว และมีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ เพื่อให้ห้องทั้งผู้ป่วยและห้อง ante-room มีความดันที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันตลอดเวลา ทั้งในกรณีที่มีการเปิดปิดประตูในแต่ละห้อง หรือมีการเปลี่ยนแปลงแรงดันภายในห้องจากกรณีอื่นๆ เพื่อมั่นใจได้ว่าอากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนจะไม่ไหลออกมาสู่ภายนอก เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก มีระบบดูดอากาศที่อาจมีเชื้อโรคเจือปนผ่านเครื่องกรองอากาศ ฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองอนุภาคขนาดเล็ก เพื่อกรองเชื้อไวรัสและปล่อยออกมาเป็นอากาศดีสู่ภายนอกอาคาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากประสิทธิภาพการควบคุมการไหลเวียนของอากาศ สามารถควบคุมเชื้อโรคให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ แต่ละยูนิตสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1 คน จุดเด่นของห้องความดันลบนี้คือ เป็นห้องสำเร็จรูปที่สามารถนำไปติดตั้งที่ไหนก็ได้ เช่น นอกโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนาม เพียงแค่เชื่อม ระบบไฟเข้ากับห้องความดันลบก็สามารถใช้งานได้แล้ว และที่สำคัญคือสามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้ตามความต้องการ เช่น ห้อง ICU ห้องตรวจ หรือ ห้องฉุกเฉิน ขณะนี้ต้นแบบผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วและนำไปทดลองใช้งานที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

ดังนั้น ในภาวะที่ระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเตียงสำหรับผู้ป่วย ห้องผู้ป่วยความดันลบแบบเคลื่อนย้ายได้จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้งาน และยังช่วยรองรับกับมาตรการการป้องกันและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้ นอกจากนี้หลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ห้องดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ปกติกับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อทางทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น วัณโรค ต่อไปในอนาคตได้ เพื่อสามารถรักษาผู้ป่วยเหล่านี้นอกอาคารโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคผ่านระบบปรับอากาศภายในโรงพยาบาลต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช. มีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาของไทยพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ปัจจุบัน โครงการที่ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถผลิตนวัตกรรมเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศ เช่น ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นวัตกรรมหลายประเภทสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และอีกหลายโครงการเป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาวต่อไป

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ