ยอมไหม? หากเขาให้เราเป็น 'หนูทดลอง'
เพิ่งเป็นข่าวร้อนในโลกออนไลน์ไปหมาดๆ สำหรับประเด็น 'Umm ก็สวยอยู่' คลิปรายการสไตล์ถาม-ตอบที่มี 3 พิธีกรสาวนั่งตอบคำถามจากผู้ชมทางบ้าน โดยตอนแรกของรายการมีชื่อว่า"เรื่องความสวยที่อยากถามคนสวย" ซึ่งมีตอนหนึ่งที่พิธีกรให้คำปรึกษาในเรื่องการแต่งกาย รูปร่างในเชิงตัดสิน ไปจนถึงการกล่าวถึงชาว LGBTQ+ ด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง ชาวเน็ตส่วนใหญ่มองว่าพฤติกรรมของทั้ง 3 คนมีลักษณะเป็นไปในทาง 'บูลลี่' (Bully) และบั่นทอนความมั่นใจของผู้อื่น
ล่าสุดทางทีมงานรายการออกมาชี้แจงว่าคอนเทนต์ดังกล่าวเป็น'ละครวิทยานิพนธ์' และต้องการสื่อออกมาในรูปแบบ Social Experiment หรือการทดลองทางสังคม ที่ต้องการการแสดงความคิดเห็นของคนในโซเชียลเท่านั้น และจบเรื่องด้วยการที่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม้ทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยดี แต่ชาวเน็ตยังคงถกเถียงกันในเรื่องของผลกระทบต่อผู้ที่ได้ดูคลิป หลายคนยังวิจารณ์ 'การทดลอง' ดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม และไม่เห็นด้วยที่ทางทีมงานมองว่าพวกเขาเป็นเพียง 'หนูทดลอง' ของโปรเจกต์นี้ ทั้งๆ ที่มีหลายคนที่รู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจจากการได้ดูคลิปจริงๆ
การทดลองทางสังคม ที่ส่งผลต่อ 'หัวใจ'
'การทดลองทางสังคม' หรือ Social Experiment นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจิตวิทยาที่มีมานานแล้ว โดยนักจิตวิทยาจะคิดการทดลองขึ้นมาเพื่อทดสอบปฏิกิริยาและพฤติกรรมของมนุษย์ ว่าเมื่อเจอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง คนเราจะตอบสนองอย่างไร ในอดีตมีการทดลองทางสังคมหลายอย่างที่ทั้งสุดโหดและท้าทายศีลธรรม ด้วยธรรมชาติของการทดลองประเภทนี้ที่มักทำกับมนุษย์หรือลิงเท่านั้น ซึ่งหลายการทดลองก็กลายเป็นแม่แบบให้นักจิตวิทยารุ่นหลังได้ศึกษา
เรารวบรวมการทดลองแปลกๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้มาให้ทุกคนลองอ่าน ทั้งการทดลองทางสังคมที่ทำให้เราทึ่ง ไปจนถึงผลการทดลองสนุกๆ ที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมาย้อนถามตัวเองอยู่เหมือนกัน ว่าเรา 'เป็นอย่างที่เขาว่าจริงหรือ?'
1.การทดลองนักไวโอลินใต้ดิน - ทดสอบความสุนทรีย์รอบตัวที่เรามักมองข้าม
ในปี 2007 นักไวโอลินชื่อดัง จอช เบลล์ (Josh Bell) ลงไปเปิดหมวกเล่นไวโอลินที่สถานีรถไฟใต้ดินกลางกรุงวอชิงตัน.ดี.ซี ก่อนหน้านี้คอนเสิร์ตของเบลล์เพิ่ง ขายหมดบัตรทุกที่นั่ง ด้วยราคาบัตรเข้าชมกว่า 100 ดอลลาร์ (ราว 3,000 บาท)
เบลล์เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก และกำลังเล่นไวโอลินสั่งทำพิเศษราคากว่า 3.5 ล้านดอลลาร์กลางสถานีรถไฟใต้ดินที่พลุกพล่าน เหลือเชื่อที่คนส่วนมากเดินผ่านเขาไปเฉยๆ โดยไม่แม้จะหยุดฟังเพลงเพราะๆ ด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กๆ จำนวนหนึ่งแสดงท่าทีสนใจและพยายามจะหยุดฟังเสียงเพลงของเบลล์ แต่พวกพ่อแม่ก็มักจะเร่งรัดเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าเสมอ
การทดลองนี้ทำให้เราตั้งคำถามสำคัญ ว่ามนุษย์เราสามารถเพิกเฉยต่อความสุนทรีย์รอบตัวได้แค่ไหน และทำให้รู้ว่าสิ่งสวยงามอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด แค่เพียงเราหัดหยุดมองเสียบ้าง
2.การทดลองของเบียร์ 'คาร์ลสเบิร์ก' - ทดสอบว่าเราไม่ควรตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก
การทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง 'คาร์ลสเบิร์ก' (Carlsberg) โดยให้คู่รักที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเดินเข้าไปในโรงภาพยนตร์ที่มีคนนั่งอยู่เต็มโรงยกเว้นสองที่นั่งตรงกลาง และเมื่อมองดีๆ แล้ว เราจะพบว่าทุกคนที่นั่งอยู่ล้วนเป็นคุณพี่แก๊งไบค์เกอร์หนวดเฟิ้มหน้าโหดทั้งหมด!
ผลการทดลองสรุปว่าคู่รักหลายคู่มีท่าทีหวาดกลัวและเลือกเดินกลับออกไปจากโรงหนัง ในขณะที่คู่ที่เดินเข้าไปนั่งที่นั่งที่ว่างจะได้รับเสียงปรบมือกระหึ่ม และได้รับเบียร์คาร์ลสเบิร์กไปดื่มให้ชื่นใจ แคมเปญนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าคนเราไม่ควรตัดสินผู้อื่นจากภายนอก
3.การทดลองบูลลี่แฮมเบอร์เกอร์ของ 'เบอร์เกอร์คิง' - ทดสอบการตอบสนองต่อการกลั่นแกล้ง
อีกหนึ่งการทดลองทางสังคมที่เป็นแคมเปญโฆษณาจาก 'เบอร์เกอร์คิง' (Burger's King) ที่สร้างสถานการณ์กลั่นแกล้งกันของกลุ่มเด็กวัยรุ่นชายในร้านเบอร์เกอร์คิง ตลอดการทดลอง ลูกค้าส่วนมากเพียงมองดูและเพิกเฉยต่อเหตุการณ์บูลลี่ที่เกิดขึ้น ตัดภาพไปในครัว พนักงานร้านกำลังใช้มือต่อยแฮมเบอร์เกอร์จนบูดเบี้ยวเสียทรงและนำไปขายต่อ ผลลัพธ์คือลูกค้าที่ซื้อเบอร์เกอร์ไปต่างเดินมาต่อว่าพนักงานที่เคาท์เตอร์
เบอร์เกอร์คิงสรุปผลการทดลองดังกล่าวว่าในขณะที่ลูกค้ากว่า 95% กล้าแจ้งทางร้านว่าเบอร์เกอร์ของพวกเขาถูก 'ทำร้าย' แต่มีลูกค้าเพียง 12% ที่กล้ายื่นมือเข้าช่วยเด็กผู้ชายที่ถูกทำร้าย บางส่วนเดินมาแจ้งทางร้านให้ช่วยหยุดเหตุการณ์กลั่นแกล้ง
คงไม่ต้องสรุปผลการทดลองให้ฟัง แต่แคมเปญนี้ชวนทุกคนตั้งคำถามว่าคุณมีความกล้าแค่ไหนในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อตนเองเลย
4.การทดลองควันในห้อง - ทดสอบปฏิกิริยาของกลุ่มคนเมื่อเกิดเหตุการณ์ระทึก
การทดลองนี้ผู้เข้าร่วมต้องนั่งกรอกแบบสอบถามอยู่ในห้อง ผู้วิจัยจะคอยสังเกตปฏิกิริยาของผู้ร่วมทดลองในขณะที่ค่อยๆ ปล่อยควันสีขาวเข้าไปในห้อง
ผู้ทดลองจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ทดลองอยู่คนเดียว กลุ่มถัดมาคือผู้ทดลองที่ไม่รู้จักกัน 3 คน และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ทดลอง 1 คน กับนักแสดงอีก 2 คน ผลการทดลองคือ ผู้ทดลองที่อยู่คนเดียวกว่า 3 ใน 4 ส่วนต่างเดินออกจากห้องมาแจ้งว่าในห้องมีควัน ขณะที่ผู้ทดลองที่ไม่รู้จักกันออกมาแจ้งเหตุเพียง 38% และสุดท้ายในกลุ่มที่มีนักแสดงแฝงตัวและไม่แสดงท่าทีตื่นตระหนกต่อควัน ผู้ร่วมทดลองต่างก็เฉยเมยไปด้วย และมีส่วนน้อยกว่า 10% เท่านั้นที่ออกมาแจ้งผู้วิจัยว่าในห้องมีควัน
สรุปผลการทดลองได้ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่หากไม่มีคนเริ่มตอบสนอง คนอื่นๆ ก็อาจนิ่งเฉย เพราะคิดว่าการกระทำของตนเองนั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไร
5.การทดลองบันไดเปียโนของ 'โฟล์กสวาเกน' - ทดสอบการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมื่อมีเรื่องสนุก!
การทดลองสนุกๆ ที่สนับสนุนโดย 'โฟล์กสวาเกน' (Volkswagen) แบรนด์รถยนต์ยี่ห้อดังนี้ ทำขึ้นเพื่อทดสอบว่าบางครั้งแค่เติมความสดใหม่ให้กิจวัตรเดิมๆ ที่แสนจะน่าเบื่อ ก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ไปได้เลย
ในการทดลองนี้ เขาเปลี่ยนบันไดในสถานีรถไฟให้กลายเป็นแป้นเปียโนที่ทำงานได้จริง เมื่อเราเดินผ่าน เจ้าบันไดจะส่งเสียงออกมาเป็นโน้ตดนตรีตามขั้นที่เราเหยียบ ให้ผู้โดยสารรถไฟได้เลือกว่าจะขึ้นลงบันไดเลื่อนตามปกติ หรือเปลี่ยนมาเดินผ่านขั้นบันไดนี้แทน
ผลปรากฏว่าบันไดเปียโนนี้เรียกคะแนนความนิยมให้คนเดินผ่านเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 66% ทีเดียว แสดงให้เห็นว่าทางลัดอย่างบันไดเลื่อนก็อาจหมดความหมาย หากเราเปลี่ยนการขึ้นลงบันไดให้กลายเป็นเรื่องสนุก แถมสุขภาพดีอีกต่างหาก!
การทดลองทางสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีผู้ทดลองเป็น 'มนุษย์' ตัวเป็นๆ ให้นักจิตวิทยาได้ทำการทดสอบ ในแง่ของศีลธรรม การทดลองแบบนี้อาจดูหมิ่นเหม่และน่าตะขิดตะขวงใจอยู่บ้าง แต่ในเชิงผลลัพธ์ บทสรุปของแต่ละการทดลองจะทำให้มนุษย์อย่างเราได้เรียนรู้จากการกระทำของตนเอง ที่เหลือก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะนำข้อคิดที่ได้ไปพัฒนาตนเองในด้านใด :)
-
อ้างอิง
i s r a อ่านสนุกในไม่กี่นาที อยากให้มีแนวนี้เยอะๆ
22 เม.ย. 2564 เวลา 03.48 น.
พี_FreezFire น่าสนใจมาก
เอามาลงบ่อยๆ
22 เม.ย. 2564 เวลา 03.36 น.
min_min คนไทยน่าจะอ่าน Harry Harlow Monkey Love Experiments นะ ว่าการขาดความอบอุ่นจากคนที่เลี้ยงดู มันทำให้ชีวิตพังมาตั้วแต่เด็ก พวกที่แม่ส่งไปให้ย่ายายเลี้ยง โตขึ้นมาถึงเป็นปัญหาสังคมมาก แล้วก็จะเป็นวงจรอุบาทว์ไม่จบสิ้น
22 เม.ย. 2564 เวลา 20.56 น.
หม่อม LaMare การทดลองแรก ผมว่าน่าจะเกิดจาก คนที่เดินทางมีจุดหมายที่แน่นอนภายในเวลาที่จำกัด ที่เด็กเล็กๆหยุดฟังนั่นเป็นเพราะ เด็กยังไม่เข้าใจเงื่อนไขความสำคัญนี้
การทดลองที่สอง เงื่อนไขน่าจะเป็นเรื่อง ความเสี่ยง และความสามารถในการป้องกันดูแลความปลอดภัย คุณจะรู้ได้ไงว่าคนที่เลือกนั่ง อาจจะคุ้นหน้าหรือรู้จักบางคนในทีมงานก็ได้
22 เม.ย. 2564 เวลา 03.59 น.
เอ๋ "เรามีความกล้าแค่ไหน
เมื่อเห็นสิ่งที่ถูกต้องตรงหน้า"
22 เม.ย. 2564 เวลา 04.30 น.
ดูทั้งหมด