ไอที ธุรกิจ

เซ่นพิษล็อกดาวน์รายได้วูบ After You ไตรมาส 2 "ขาดทุน" ครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าตลาดฯ

Brandbuffet
อัพเดต 13 ส.ค. 2563 เวลา 16.57 น. • เผยแพร่ 11 ส.ค. 2563 เวลา 10.09 น. • Brand Move !!

มาตรการ Lockdown ปิดห้างจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเต็มๆ กับธุรกิจที่มีหน้าร้านในห้าง รวมทั้งขนมหวานแบรนด์ดัง After You สรุปตัวเลขไตรมาส 2  “ขาดทุน” 3 ล้านบาท หรือลดลง 105%  นับเป็นการขาดทุนงวดรายไตรมาสครั้งแรก ตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2559

นับจาก After You  เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 23 ธันวาคม 2559  ในนาม บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU ด้วยราคา IPO ที่ 4.50 บาท เปิดขายวันแรกราคาบวกไปกว่า 200% ปิดที่ 13.50 บาท กลายเป็นร้านขนมหวานมูลค่า “หมื่นล้าน” ในชั่วข้ามคืน ราคาหุ้น AU เคยทำ All Time High ที่ 15.40 บาท ในช่วงสิ้นปี 2560

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนเข้าตลาด After You เป็นธุรกิจทำกำไรมาต่อเนื่อง ปี 2557 รายได้  311 ล้านบาท กำไรสุทธิ 45 ล้านบาท ปี 2558 รายได้  414  ล้านบาท กำไรสุทธิ 57 ล้านบาท After You จึงจัดเป็นหนึ่งในหุ้น Growth Stock หลังเข้าตลาดและกำไรยังต่อเนื่อง

โควิดทำขาดทุนงวดรายไตรมาสครั้งแรก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และนำไปสู่มาตรการ Lockdown  ทำให้ After You ต้องเจอกับการ “ขาดทุน” รายไตรมาสเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้าตลาดในเดือนธันวาคม 2559  เมื่อตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2  ปี 2563 ทำรายได้ 144 ล้านบาท  ลดลง 54%  ขาดทุน 3 ล้านบาท  หรือลดลง 105%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำกำไร 63 ล้านบาท

ขณะที่ครึ่งปีแรก 2563 ทำรายได้ 363 ล้านบาท ลดลงจาก  599 ล้านบาท หรือ 39% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 10 ล้านบาท ลดลงจาก 123 ล้านบาท หรือ 92% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง จนทำให้ไตรมาส 2 ขาดทุน มาจากตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ถึง 16 พฤษภาคม 2563  After You ต้องปิดให้บริการนั่งในร้าน เปิดให้บริการเฉพาะสั่งกลับบ้าน และสั่งซื้อผ่านบริการส่งอาหาร (ฟู้ด เดลิเวอรี่) หลังมาตรการปลดล็อกดาวน์ให้เปิดห้างได้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563  After You กลับมาเปิดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ช่วงโควิด After You จึงได้ลดค่าใช้จ่ายการขายและจัดจำหน่าย รวมทั้งคุมค่าใช้จ่ายจากการจ้างพนักงานชั่วคราว (Part-time) และลดจำนวนงานประจำสาขาด้วยการให้พนักงานสลับวันทำงาน  และลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานประจำสำนักงานด้วยการให้ลาโดยไม่รับค่าแรง (Leave Without Pay) รวมไปถึงการต่อรองผู้ให้เช่าสถานที่เพื่อขอลดค่าเช่าในช่วงปิดให้บริการบางสาขา และขอต่อระยะเวลาการลดค่าเช่าไปถึงไตรมาส 3 ปี 2563

ครึ่งปีหลังเร่งขยายสาขาร้านกาแฟ Mikka

แนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง 2563 แม้สถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ แต่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา After You ได้วางแผนฟื้นรายได้และลดค่าใช้จ่ายไว้หลายด้าน

-  ขยายร้านกาแฟ  หลังจากไตรมาสแรกปีนี้  After You ได้เปิดร้านกาแฟขนาดเล็ก Mikka (มิกก้า) 3 สาขา  ไตรมาส 2 เปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มตามอาคารสำนักงาน รวมถึงเพิ่มจุดบริการ Mikka ในร้าน After You ในสิ้นปีนี้ 40-50 สาขา  และขยายร้านกาแฟในจุดต่างๆ เพิ่มอีก 100 สาขาในปี 2564

-  ออกสินค้าใหม่ ครึ่งปีแรก After You ได้ออกสินค้าใหม่ตามฤดูกาล 4 เมนู  ได้แก่ คากิโกริ มะยงชิด, คากิโกริ ข้าวเหนียวมะม่วง, คากิโกริ มะม่วงน้ำปลาหวาน และคากิโกริ ทุเรียน  ครึ่งปีหลังยังมีสินค้าใหม่ออกมากระตุ้นตลาดอีก

- ชะลอเปิดสาขาใหม่ สถานการณ์โควิด ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง จากการห้ามเดินทางข้ามประเทศ และกำลังซื้อในประเทศไทยลดลงจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา After You จึงชะลอการเปิดสาขาใหม่ และเน้นการออกบูธจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น จนกว่าสถานการณ์โควิดในประเทศจะปกติ

-  ออกสินค้าใหม่ To-Go วางขายในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น  หลังจากสินค้าแป้งแพนเค้กสำเร็จรูปมีกระแสตอบรับดี  ช่วงไตรมาส 2 จึงออกสินค้าแป้งแพนเค้กสำเร็จรูปใหม่โฮลวีท มาทำตลาดเพิ่มเติม และจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่ม To-Go กระจายเข้าโมเดิร์นเทรดเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้สะดวกมากขึ้น  ปัจจุบันมีวางขายเฉพาะ วิลล่ามาร์เก็ต เดอะมอลล์ และท็อปส์ เท่านั้น

-  เปิดแฟรนไชส์ หลังจากการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ปกติ  ช่วงครึ่งปีหลังจะเปิดแฟรนไชส์ที่ฮ่องกง ภายใน 1-2 เดือน  ปัจจุบันสาขาฮ่องกงได้ก่อสร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่องแหล่งรายได้ 4 ธุรกิจ After You 

1. ร้านขนมหวาน สัดส่วนรายได้ 91%

- สินค้าปรุงสดขายในสาขาจำนวน 41 สาขา ภายใต้แบรนด์ After You และ Maygori

- สินค้าซื้อกลับบ้านที่ขายตามสาขาและสั่งซื้อผ่านฟู้ด เดลิเวอรี่

- การขายเครื่องดื่มและขนมหวานในสาขา 4 สาขา แบรนด์ Mikka

2. การขายสินค้าและวัตถุดิบ  สัดส่วนรายได้ 3%

- สินค้าสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป แบ่งเป็นช่องทางขายออนไลน์และขายผ่านสำนักงานใหญ่  การรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทหรือของลูกค้า

3. การขายและจัดงานนอกสถานที่ สัดส่วนรายได้ 6%

- บริการจัดเลี้ยงในงานแต่งงานและงานในโอกาสพิเศษ

- การออกบูธขายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ (pop-up store)

4. ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ สัดส่วนรายได้ 0.3%

- รับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจากการขายแฟรนไชส์ที่ฮ่องกง และค่าธรรมเนียมแรกเข้า Mikka

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • น้อยมากเมื่อเทียบกับฉันเปิดมา37ปีแต่ปิดตัวลงแล้ว
    13 ส.ค. 2563 เวลา 17.08 น.
ดูทั้งหมด