ไลฟ์สไตล์

เล่าเรื่องความเชื่อว่าด้วยฤกษ์ "วันตัดผม" จากตำนานขุนนางเข้าเฝ้าแล้วโดนประหาร

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 11 ม.ค. 2566 เวลา 03.27 น. • เผยแพร่ 11 ม.ค. 2566 เวลา 00.32 น.
ตัดผมแบบเก่า ถ่ายราวยุค 2410 (ANP-0002-123 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แรกเริ่มนั้นคนจีนตั้งร้านตัดผมกันมากช่างตัดผมส่วนใหญ่เป็นคนจีน ภายหลังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้คิดสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้คนไทยทำ อาชีพด้าน ตัดผม ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สงวนไว้สำหรับคนไทย เจ้าของร้านและช่างตัดผมจึงเป็นคนไทยกันมากขึ้น

ในสมัยก่อนร้านตัดผมนิยมหยุดวันพุธ ให้เหตุผลที่ว่าวันพุธคนไม่ค่อยตัดผม เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับวันดี วันไม่ดี เช่น มีคำกล่าวกันว่า “วันพุธห้ามตัดผม วันประหัดห้ามถอน” วันประหัดของคนโบราณเพี้ยนมาจากวันพฤหัสบดีนั่นเอง คนโบราณท่านกำหนดไว้ในตำราว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าตัดผมวันอาทิตย์ อายุจะยืนยาว

ถ้าตัดผมวันจันทร์ ตนเองจะมีภัย

ถ้าตัดผมวันอังคาร ศัตรูจะคิดอาฆาตพยาบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าตัดผมวันพุธ จะเกิดมีปากเสียงกันในวงศ์ญาติ

ถ้าตัดผมวันพฤหัสบดี เทวดาทั้งปวงจะอารักขา

ถ้าตัดผมวันศุกร์ จะมีลาภมาจากทุกทิศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าตัดผมวันเสาร์ จะได้รับพรชัยจากเทวดา

เรื่องตัดผมวันพุธนี้เคยฟังผู้ใหญ่เล่าเป็นทำนองนิทานตั้งแต่ครั้งอยู่ในวัยรุ่น ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งจะเป็นสมัยใดไม่ปรากฏ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งก่อนจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ถือโอกาสตอนเช้าที่อยู่ว่างๆ ให้ช่างตัดผม เข้าใจว่าสมัยนั้นคงไม่มีตำรากำหนดวันดีและไม่ดีเผอิญวันนั้นเป็นวันพุธ เมื่อตัดผมแล้วก็เป็นเวลาจวนจะต้องเข้าเฝ้าจะอาบน้ำอาบท่าก็ไม่ทันการ เพียงแต่เอาผ้าขาวม้าปัดๆ เศษผมแล้วก็รีบเข้าเฝ้ากันเลยทีเดียว

เขาว่าคนเราคราวจะมีเคราะห์ก็ให้มีเหตุเป็นไปจนได้ วันนั้นพระเจ้าแผ่นดินเผอิญไม่มีพระราชกิจอะไรมากนักใบบอกอะไรต่างๆ ไม่มีส่งเข้ามา พระเจ้าแผ่นดินก็เลยมีเวลาทอดพระเนตรข้าราชการอย่างทั่วถึงได้พินิจพิเคราะห์ตรวจตราความสะอาดเรียบร้อยและสุขภาพของบรรดาข้าราชการพิเศษและก็เป็นการบังเอิญสายพระเนตรได้แลมาประสบพบเศษผมติดอยู่ตามไหล่ ตามใบหูของขุนนางเจ้ากรรมคนนั้นเข้าและด้วยความหวังดี พระองค์ตรัสสั่งเสนาว่า “นี่แน่ะเสนา เอ็งจงพาขุนนางของข้าไปล้างหัวเดี๋ยวนี้”

ฝ่ายเสนามิทันช้ารีบสนองพระบรมราชโองการ จูงมือขุนนางไปยังตะแลงแกงจัดการประหารตัดศีรษะทันที

ทั้งนี้เพราะเข้าใจคำว่าล้างผิดไป พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะให้เอาน้ำล้างศีรษะให้หมดเศษผม แต่เสนาบดีกลับตีความไปอีกอย่างหนึ่ง โดยเข้าใจว่าให้เอาไปล้างตัดศีรษะ

ผู้เล่านิทานนี้สรุปว่า ตั้งแต่นั้นมาคนโบราณก็ไม่ตัดผมในวันพุธ ก็ฟังเป็นนิทานไว้ไม่เสียหายอะไร เพราะเราไม่รู้เรื่องเดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

ข้อมูลจาก :

ส.พลายน้อย. สิริมงคล. สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, 2547.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2559

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Tickety-Boo!!!🐈
    สะดวกตัดวันไหนก็ตัดเหอะ..เคยตัดวันพุธไม่เห็นเป็นอะไรเลย.😎
    16 ก.ย 2562 เวลา 15.16 น.
  • สินสมุทร
    ในฐานะที่ผมเรียนมา จะขอตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ และจะพยายามใช้ภาษาให้ง่ายที่สุดให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย ทุกคนจะได้นำประโยชน์ไปใช้ และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เวลาไปสอนลูกสอนหลานจะได้สอนอย่างถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ย่อมมีที่มาที่ไปอย่างสมเหตุสมผล ดังนั้นผมจะอธิบายอย่างละเอียดที่สุด จะได้ไม่ต้องเกิดคำถามให้สงสัยกันอีก สำหรับคำถามที่ว่า ตามหลักวิทยาศาสตร์เลยนะครับ ผมไม่รู้ครับ จบ..
    16 ก.ย 2562 เวลา 15.19 น.
ดูทั้งหมด