ทั่วไป

วช.หนุนนักวิจัย มจธ.ศึกษาต้นไม้ใหญ่ลดฝุ่น PM 2.5 ยั่งยืน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
อัพเดต 06 เม.ย. 2564 เวลา 00.34 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. 2564 เวลา 00.36 น.
ภาพไฮไลต์

นักวิจัยเทคโนฯพระจอมเกล้าธนบุรี รับทุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ศึกษาการใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละออง เพื่อหาแนวทางประยุกต์ใช้พืชดักฝุ่น ลดปริมาณฝุ่นจากแหล่งกำเนิดด้วยหลักวิชาการ และเป็นข้อมูลให้ภาครัฐนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่แก่เกษตรกรและผู้สนใจในวงกว้าง อีกทั้งลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.64 ผศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร จากห้องปฏิบัติการ Remediation สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษาการใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน เพื่อหาแนวทางประยุกต์ใช้พืชดักฝุ่น ลดปริมาณฝุ่นจากแหล่งกำเนิดโดยใช้หลักวิชาการ และเพื่อให้ภาครัฐนำข้อมูลจากโครงการวิจัยนี้ไปเผยแพร่เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจในวงกว้าง รวมทั้งขยายแผนด้านนโยบายทางการเกษตรให้เป็นมาตรฐานระดับสากล เพื่อลดการเกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"มจธ. สะสมองค์ความรู้จากงานวิจัย เรื่องต้นไม้ฟอกอากาศได้มาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งการใช้ต้นไม้ฟอกอากาศนั้นเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่การใช้ต้นไม้บำบัดฝุ่น PM2.5 ยังเป็นเรื่องใหม่ จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ จากสาขาสิ่งแวดล้อม คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาการใช้ต้นไม้บำบัดฝุ่นละออง" ผศ.ดร.ชัยรัตนกล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับงานวิจัยของ ผศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการคัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมสำหรับสภาพอากาศในภาคกลาง ส่วนที่สองคือการศึกษาภายวิภาคของต้นไม้ เช่น ลักษณะใบ ขนาดใบ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนเนื่องจากความเครียดของต้นไม้ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจากการศึกษาโดยจำลองให้ต้นไม้อยู่ในสภาพได้รับฝุ่น PM 2.5 ด้วยการขังไว้ในตู้กระจกและอัดควันบุหรี่ พบว่าต้นไม้มีโปรตีนความเครียดเพิ่มสูงขึ้น สังเคราะห์แสงได้น้อยลง และส่วนสุดท้ายคือการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อดูความสามารถในการลดฝุ่นของต้นไม้

ด้าน ผศ.ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ กล่าวว่าลักษณะของต้นไม้ที่จะช่วยจับฝุ่นได้ดีคือต้นไม้ที่มีใบเล็ก ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการจับฝุ่น หรือลักษณะใบที่เป็นขนเยอะๆ ซึ่งจะช่วยดักฝุ่นได้เยอะ และยิ่งมีลมยิ่งช่วยดักฝุ่นได้มาก สำหรับตัวอย่างของต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยดักจับฝุ่นได้ดี คือ ต้นประดู่ ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นจามจุรี และต้นสัก ซึ่งทางทีมวิจัยวางแผนร่วมมือกับภาคเอกชนในการองค์ความรู้จากงานวิจัยเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง รวมถึงผลิตสื่อเผยแพร่แก่ประชาชนต่อไป.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ