ทั่วไป

'เชฟแคร์' ปรุงจากใจ แด่บุคลากรทางการแพทย์ มาริษา เจียรวนนท์ 'โครงการนี้เชฟคือพระเอก'

MATICHON ONLINE
อัพเดต 07 มิ.ย. 2563 เวลา 11.01 น. • เผยแพร่ 07 มิ.ย. 2563 เวลา 11.01 น.
'มาริษา เจียรวนนท์' ภาพโดย วรพงษ์ เจริญผล

ถือเป็นโครงการดีๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง สำหรับ “Chef Cares” หรือ เชฟแคร์ โปรเจ็กต์แบ่งปันความห่วงใย ส่งกำลังใจแด่บุคลากรทางการแพทย์ผ่าน “อาหาร” มื้ออร่อยจากสุดยอดเชฟแถวหน้าทั่วฟ้าเมืองไทยที่พร้อมใจรังสรรค์เมนูสำหรับ “ฮีโร่” ในการต่อสู้ไวรัสร้าย “โควิด-19” ในสถานการณ์วิกฤตที่ต้องร่วมฝ่าฟัน

ทุกๆ กล่อง ทุกๆ คำ ทุกๆ รสชาติ ไม่เพียงมาจากวัตถุดิบชั้นดี หากแต่สิ่งสำคัญคือ “ความใส่ใจ” ในสิ่งละอันพันละน้อยที่ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลกว่าสิบแห่งเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว นับแต่เริ่มต้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“โปรเจ็กต์นี้เชฟเป็นพระเอก”

คือคำกล่าวของ มาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการด้วยความตั้งใจจริง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยกับ เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร เชฟดังแห่งเกาะภูเก็ตที่ส่งสารมาว่าอยากทำ Lunch box มอบให้โรงพยาบาล เมื่อเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก จึงขอให้ “ซีพีเอฟ” เป็นสปอนเซอร์ จากจุดเริ่มต้นที่ภูเก็ต เพียง 1 สัปดาห์ ขยับขยายมาสู่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ โดยมีเหล่าเชฟทยอยเข้าร่วมอย่างแข็งขัน ทั้งเชฟมิชลิน มาสเตอร์เชฟ เชฟกระทะเหล็ก ที่มีฝีมือเป็นเอกในการปรุงอาหารชั้นเลิศระดับ “ไฟน์ ไดนิ่ง” ก็ต่างพร้อมใจทำอาหารกล่องสุดพิเศษในโปรเจ็กต์อิ่มท้อง และอุ่นใจในครั้งนี้

“บุคลากรทางการแพทย์คือฮีโร่ จึงต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุด เราก็ติดต่อซีพีเอฟว่ามาช่วยได้ไหม ในเรื่องวัตถุดิบ 6 เมษายน คือวันแรกที่เริ่มทำ ประมาณสัปดาห์หนึ่งก็คิดว่าน่าจะทำที่กรุงเทพฯได้ เลยคุยกับบริษัทว่ามาช่วยได้ไหม โชคดีมากแค่อาทิตย์เดียวเป็นทีมมาเลย ความจริงยังคิดว่าเชฟจะมาร่วมหรือเปล่า เพราะตอนนี้เชฟลำบากมาก ร้านอาหารหลายแห่งปิด แต่ทุกคนยินดีมาทำ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดีมาก ได้รู้จักคนดีๆ ในโครงการนี้”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มาริษา ยังเล่าว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมเชฟเพื่อขอบคุณเป็นการส่วนตัว เพราะบางท่านเคยคุยผ่านโทรศัพท์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้ชิมอาหารที่เชฟทำทุกวันอีกด้วย

“เราก็ไปทุกวัน ชิมอาหารที่เชฟทำทุกวัน นำกลับมาวันละ 2 กล่อง (หัวเราะ) บางครั้งอยากจะกินมากในตอนนั้นเลย เพราะว่ามันหอม อาหารกลางวันส่วนมากเรากินก่อน แล้วให้ฟีดแบ๊ก เชื่อว่าเชฟทำดีที่สุดแล้ว เขาเก่งที่สุดอยู่แล้ว เรื่องทำกับข้าวอะไร มีเครื่องปรุงอะไร เราไม่ได้พูด แต่จะเน้นว่าอาหารต้องทำให้เพียงพอ เพราะอร่อยมาก ทำให้เหลือดีกว่าขาด”

ไม่เพียงแค่เมนูอาหารที่ใส่ใจตั้งแต่การเลือกวัตถุที่ดีที่สุด แม้แต่กล่องใส่อาหาร ก็มี “ข้อความ” จากใจเชฟส่งถึงผู้รับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เชฟบางท่านมีชื่อ Lunch box ด้วย เขาใส่ใจมาก คิดว่าต้องทำอย่างไรให้อาหารมีคุณภาพมากที่สุด ทำอย่างไรให้อร่อยที่สุด และทำอย่างไรให้สร้างสรรค์ที่สุด แต่ละท่านมีความเก่ง มีเอกลักษณ์ เชฟที่ดังๆ ไม่ใช่แค่มีฝีมืออย่างเดียว แต่เขาทำงานหนัก ซึ่งเราก็โชคดีที่เชฟเก่งๆ มาร่วมโครงการด้วย”

สำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับอาหารกล่องสุดพิเศษนี้ จากเดิม 8 แห่งปัจจุบันมีราว 13-14 แห่ง คัดเลือกจากแห่งที่มีคนไข้โควิดพักรักษาตัวอยู่ โดยกำหนดเวลาเดิมของโครงการที่วางแผนไว้คือ 3 เดือน แต่ขณะนี้ มาริษา มองไกลไปข้างหน้าถึงการต่อยอดในอนาคตให้เป็นโครงการที่ “ยั่งยืน”

“ตอนนี้เป็นการบ้านที่คิดทุกวัน ว่าทำแบบนี้ 3 เดือนจบไหม หรือจะทำต่อไป แต่ส่วนตัว คิดว่าเราได้รู้จักเชฟที่ดีมาก อยากให้ทำต่อ แต่ทำต่ออย่าไงร ยังเป็นการบ้าน ว่าจะเป็นแบบไหน จะทำให้ยั่งยืนอย่างไร” กล่าวจบก็หันไปถามเชฟหลายท่านที่นั่งร่วมโต๊ะกันขณะให้สัมภาษณ์ว่า

“ช่วยได้ไหมว่าจะทำอย่างไร เป็นการบ้านให้เชฟด้วย (หัวเราะ) เพราะครั้งนี้ประทับใจทุกท่านมาก ใจดีทุกคน”

ในขณะคนทำงานซึ่งสุขใจที่ได้มอบสิ่งดีๆ ส่วนผลตอบรับที่ได้ มาริษา เล่าถึงความ “ชื่นใจ” หลังได้รับฟังถ้อยคำจากบุคลากรทางการแพทย์

“เราถามทุกครั้งว่า อาหารเป็นอย่างไร ดีไหม ชอบไหม มีอะไรรีเควสหรือเปล่า ครั้งที่แล้วไปที่โรงพยาบาลศิริราช ได้ทราบว่าช่วงแรกๆ ของสถานการณ์โควิด โรงพยาบาลไม่อยากรับอาหารสด เพราะไม่แน่ใจว่าคุณภาพโอเคไหม ไม่ค่อยเชื่อมั่น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนอ่อนไหวเกี่ยวกับเชื้อโรคต่างๆ เลยไม่อยากรับนอกจากได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้ บางครั้งรับแล้วก็ยังไม่สบายใจที่จะรับประทาน เลยกินอาหารแช่แข็งกัน 2 เดือนเต็มๆ ทุกวันเพราะสบายใจว่ามีความปลอดภัย แต่หลังจากที่เริ่มให้เราบริจาค เขาบอกว่าดีใจมาก เพราะเป็นอาหารที่มีคุณภาพ อร่อย มีความใส่ใจจากเชฟ เวลาได้ฟังอย่างนี้แล้วก็ชื่นใจ”

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่เจ้าตัวอยากให้ได้รับประทานอาหารที่คุณภาพดีที่สุด นั่นคือ “คนชรา”

“คนชราในเนิร์สซิ่งโฮมเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว อยากมอบอาหารคุณภาพดีที่สุดให้รับประทาน นี่คือสิ่งที่อยากทำ เราอยากให้ท่านมีความสุข”

เป็นอีกหนึ่งแนวคิดจากไอเดียอีกมากมายในใจ เช่นเดียวกับมุมมองที่ว่า อยากให้โครงการเชฟแคร์เป็นแรงบันดาลใจให้เชฟรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเชฟมาก้าวเดินสู่เส้นทางสายนี้เพื่อประเทศไทยในอนาคต ซึ่ง Gastronomy Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารคือสิ่งที่เรามีศักยภาพจากหลายปัจจัย

มาริษา ยังมองว่า อาหารคือศิลปะอย่างหนึ่ง โดยส่วนตัวชอบ “โฮมคุกกิ้ง” ชอบในการสร้างสรรค์เมนูอาหารสำหรับแขกเหรื่อที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนตั้งแต่ครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ที่ “ฮ่องกง” กระทั่งย้ายมายัง “กรุงเทพฯ” แม้พักหลังไม่ค่อยได้ “เข้าครัว” แต่ยังเล่าถึงบรรยากาศอย่างออกรส และลึกซึ้งถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในมื้ออาหารอันเป็นการแสดงออกถึง “ความรัก” และใส่ใจ ด้วยความเป็นแม่ ย่อมรู้ใจว่าลูกแต่ละคนชอบทานอะไร ลูกๆ แต่ละคนชอบอาหารไม่เหมือนกัน คนหนึ่งก็ชอบเมนูเบาๆ คนหนึ่งชอบมื้อหนักๆ มีสิ่งที่กินและไม่กิน ซึ่งจดจำได้อย่างดี

“สมัยก่อนเข้าครัวสอนแม่บ้านทำอาหารเกาหลี เป็นคนชอบทำ ชอบครีเอต ชอบทำโฮมคุกกิ้งให้แขก เราไปเมืองนอกมาหลายประเทศ กินอาหารเช้าที่โรงแรม กลางวันเวลาประชุมก็กินอาหารข้างนอก ตอนเย็นมีงานเลี้ยง ก็กินอาหารข้างนอกตลอด เวลาแขกมาบ้านทั้งที่ฮ่องกง หรือกรุงเทพฯ เราก็ทำอาหารที่บ้านให้ อร่อยหรือไม่อร่อย แต่ใส่ใจ”

ถามถึงรสชาติที่ “ถูกปาก” ได้คำตอบว่า ชอบ“เผ็ด” และ“เปรี้ยว” ก่อนเล่าว่า ความที่ตนเป็นคนเกาหลี สมัยก่อนเวลาไปเมืองนอก คิดถึงอาหารเกาหลี ชอบรับประทานกิมจิ แต่ตอนนี้พอเมืองนอกกลับมา คิดถึง ต้มยำกุ้ง ไก่กะเพรา และข้าวต้มปลา

“สมัยก่อนแม่บ้านทำกับข้าวเกาหลี แต่ตอนนี้ส่วนมากเป็นอาหารไทย (ยิ้ม)”

กลับมาที่เรื่องราวการแบ่งปัน ซึ่ง มาริษา ย้ำว่า งานด้านการกุศล คือสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยเฉพาะคนไทยที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีการทำบุญเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจมาก

“ถ้าเราทำได้ ทุกคนก็ทำได้ ในวิกฤตนี้ ได้เห็นคนไทยออกมาช่วยกันเยอะมาก มีตู้ปันสุข ซึ่งรู้สึกซึ้งใจมาก คนไทยรู้จักการทำบุญตั้งแต่เด็ก ตอนเริ่มเดินได้ ก็ไปใส่บาตรกับคุณพ่อคุณแม่ในวันเกิด นี่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย”

นอกจากโครงการเชฟแคร์ มาริษา ยังแบ่งปันสังคมตลอดมาโดยก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ ที่ขาดแคลนแล้วถึง 12 แห่ง

“ตั้งมูลนิธิกับลูกสาวเพื่อสร้างโรงเรียนทุกคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันแห่งการให้ เราสร้างโรงเรียนกับครอบครัวและเพื่อน มอบในวันที่ 25 ธันวาคม พอวันที่ 26 ก็ลงมาจากเขา ปกติทำทางภาคเหนือ แต่ปีที่แล้วไปทำที่เกาะยาวใหญ่ นี่เป็นครั้งแรกที่ไปสร้างโรงเรียนทางใต้ ซึ่งชุมชนนี้ครูสอนศิลปะเก่ง โรงเรียนได้รางวัลเยอะมาก ก่อนมีโควิด ฝรั่งยังนั่งเรือไปซื้อรูปภาพของเด็กๆ อีกมูลนิธิหนึ่งที่เพิ่งตั้งขึ้นคือ มูลนิธิรักษ์สยาม เพราะชอบศิลปะกับวัฒนธรรม อยากสนับสนุนช่างฝีมือและหัตถกรรม คิดว่าจะทำอย่างไรให้ช่วยในการอนุรักษ์ได้”

ครบรสทั้งความใส่ใจ อิ่มหนำทั้งเมนูอาหาร และอุ่นใจไปกับการแบ่งปันจากความริ่เริ่มของผู้หญิงคนนี้ มาริษา เจียรวนนท์

 

หลากเชฟต่างความคิด

‘แต่จุดหมายเดียวกันคือทำให้คนมีความสุข’

รวบรวมเชฟแถวหน้าของไทยมาไว้อย่างพร้อมเพรียงเพื่อส่งต่อความห่วงใยถึงบุคลากรทางการแพทย์

แน่นอนว่า นิยามข้างต้นจะหมายถึงโครงการใดไปไม่ได้ นอกจาก “เชฟแคร์” ที่ริเริ่มโดย มาริษา เจียรวนนท์ ภริยา สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์

งานนี้เชฟดังเข้าร่วมมากมาย ไมว่าจะเป็น เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร, เชฟทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟ, เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย, เชฟศุภจิตรา ศุกรวรรณ ทินกร จากโรงเรียนศิลปศาสตร์อาหารไทย หม่อมหลวงพวง ทินกร, กุลวัชร ภูริชยวโรดม แห่งร้านโชนัน, ทศพร วิณิชวรพงศ์ แห่งร้าน WOK Station, เชฟธนินทร จันทรวรรณ, เชฟวิชิต มุกุระ, และเชฟแดน บาร์ค เป็นต้น รวมถึง“เจ๊ไฝ” สุภิญญา จันสุตะ ขวัญใจแฟนพันธุ์แท้สตรีตฟู้ดก็ร่วมแจมอย่างเต็มใจ

แม้ต่างสไตล์ หลากเมนู แต่จุดร่วมที่เหล่าเชฟมีความเห็นตรงกันอย่างไม่ต้องนัดหมาย คือ คุณภาพของวัตถุดิบที่หากมีคุณภาพแล้วไซร้ ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง แต่หากวัตถุดิบไม่ดี ก็จบตั้งแต่เริ่มต้น

“เชฟแคร์ดูแลเรื่องวัตถุดิบให้เราทำอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเราได้ของที่ดีที่สุด พอได้ของดี อาหารอร่อยไป 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะไก่ หมู เราก็เลือกส่วนที่อยากได้ ไม่ได้เอาของแช่แข็งมาใช้ แต่เป็นของสดตลอด ส่วนเมนูที่ทำ มีเหตุ มีผล คิดไปด้วยว่า ถ้าตัวเองเป็นหมออยู่ในห้อง ควรได้กินอะไร เขาจะมีความรู้สึกแบบไหน ให้ได้ฟังถึงสิ่งที่เราพูด ฟังถึงความรู้สึกที่เราให้ ก็น่าจะตอบโจทย์ของการให้ที่สมบูรณ์แบบ แม้เชฟแต่ละคน มีแต่ละความคิด ที่ต่างกัน แต่จุดหมายเดียวกันคือทำให้คนมีความสุข” ตัวแทนเชฟที่ร่วมโครงการกล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนยกตัวอย่างว่า วัตถุดิบพื้นฐานอย่าง “ไข่” หากไม่สดจริง ทำเมนูแสนอร่อยไม่ได้แน่ๆ

“ไก่ ไข่ หมูที่ได้รับมาตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะอย่างที่บอกว่า ถ้าเป็นของที่สด ใหม่ อย่างไรก็อร่อยไปครึ่งหนึ่งแล้ว อย่างการนำไข่แดงอย่างเดียวทอดเป็นเทมปุระ ถ้าไข่ไม่สดจริง จะทำไม่ได้”

สำหรับไก่ ใช้ “ไก่เบญจา” เนื้อสีชมพูอ่อนชวนรับประทาน เลี้ยงด้วยการปล่อยเดินอย่างอิสระ จิกกินข้าวกล้องคัดพิเศษ ไร้การฉีดฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะใดๆ ส่วนผัก ทาง “เจียไต๋ฟาร์ม” คัดสรรผัก ผลไม้สด ปลอดภัยและคุณภาพสูงเข้าร่วมโครงการเชฟแคร์ด้วยความพิถีพิถัน ผ่านมาตรฐานการล้างด้วยระบบโอโซน

แม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ก็เป็นกล่องรักษ์โลก ย่อยสลายได้ ไม่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ อันเป็นแนวทางที่ มาริษา ช่วยดูแลและคัดสรรด้วยตนเอง

เป็นส่วนหนึ่งของการมอบความห่วงใยให้กับคนไทยในห้วงเวลาแห่งวิกฤตนี้

ดูข่าวต้นฉบับ