ในโลกแห่งความรอบรู้ชั้นสูง
ความฉลาดปราดเปรื่อง
เป็นเรื่องเยี่ยมมาก หากทุกคนจะมีข้อมูลของเรื่องต่างๆ มากมายรอบตัว
เก็บเอาไว้ในคลังสมอง
และนำมันออกมาขัดเกลา ประมวลผล ถกเถียง
เพื่อให้บทสนทนาของเรากับอีกฝ่าย
ถ่ายทอดออกมาอย่างมีรสชาต มีความสนุกมากยิ่งขึ้น
แต่บางครั้ง ความรอบรู้ และข้อมูลที่แน่นของเรา
มันอาจไป กด ความรู้สึกของใครเขาโดยไม่รู้ตัว
ยิ่งโดยเฉพาะในห้องของการบำบัดจิตใจกับคนไข้ด้วยแล้ว
ความรู้ทางจิตวิทยาและเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพจิตใจทั้งหลาย รวมไปถึงการสังเกตอาการ หยั่งรู้ความเสี่ยงอันตรายของคนไข้ที่จะทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น ความรู้เรื่องกฎหมายในวงการการบำบัด
ข้อมูลทุกอย่างนี้ นักจิตบำบัดต้องแม่นมากระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเพื่อเข้าใจสภาวะอารมณ์และร่างกายของคนไข้ได้อย่างชัดเจนขึ้น
แต่!
หลายครั้งที่นักจิตบำบัด มองคนไข้ด้วยความรู้ที่เรียนมาเป็นหมอกปกคลุมบรรยากาศของการสนทนาทั้งหมด และรีบตัดสินว่าคนไข้เป็น ‘โรค’ อะไร
โดยลืมเผื่อระยะห่างของจิตใจ สร้างพื้นที่ให้คนไข้ได้อธิบายในสิ่งที่เขาเป็น
เป็นเพราะคนไข้ที่มาหาตัวเราเอง เป็นกลุ่มคนไข้ที่ ‘ไม่เป็นอันตรายรุนแรงต่อตัวเองหรือสังคม’
นั่นหมายถึง เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอาการทางจิตใจหนักถึงขั้นต้องส่งเข้าโรงพยาบาลหรือให้ยา
แนวทางการเยียวยาคนไข้ของเรา จึงเป็นการให้ ‘คนไข้เป็นใหญ่ และเป็นศูนย์กลาง’
แทนที่เราจะรับฟังคนไข้ด้วยการพยายามเปลี่ยน ‘ความคิดลบ’ ของคนไข้และรีบแทนที่มันด้วย ‘ความคิดบวก’ ตามบรรทัดฐานของสังคม
มันอาจจะฟังดูดาร์ค แต่เราจะค้นหา/ผจญภัยให้ลึกลงไปกับคนไข้เลยว่า
‘ความคิดที่คุณว่าลบน่ะ มันมีความหมายต่อตัวคุณอย่างไร หรือมันกำลังพยายามบอกอะไรคุณอยู่รึเปล่า’
เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกิดขึ้น
เมื่อนั้น คุณถึงจะเป็นอิสระต่ออารมณ์อะไรก็แล้วแต่ที่มันพันธนาการคุณมาเนิ่นนาน
ไม่เรียกคนไข้ด้วยชื่อโรค
คุณไม่ได้เป็น ‘ซึมเศร้า’
คุณแค่มี ‘อาการ’ ซึมเศร้า
มันเป็นสิ่งที่เข้ามาปะทะกับคุณ อาจเข้ามาฝังอยู่ในตัวคุณสักระยะ
แต่มัน ‘ไม่ใช่คุณ’ เมื่อมันเลือกจะมาได้ มันก็เลือกจะออกไปได้เหมือนกัน
การเรียกใครสักคนด้วยชื่อโรคตามที่ตำราบอกมา
มันปิดโอกาสให้คนไข้ได้ลองเลือกทางเดินชีวิตทางอื่นของเขาได้เลย
นอกจาก ‘โรค’ ที่เราโยนไปให้เขาต้องแบกไว้
แนวโน้มต่อไป คือการอยู่ในโลกนี้แบบ ‘เป็นเหยื่อ’ ของเขา
เป็นภาระ
เป็นศัตรูต่อความสดใส
เป็นภัยต่อส่วนรวม
และความเชื่อของสังคมต่อ ‘ป้ายชื่อโรค’ ต่างๆ ที่จะตามมา
แต่หากลองมองอีกมุม
คุณรู้สึก ‘เศร้า’
(เช่น) เพราะคุณโดนเพื่อนที่คุณไว้ใจที่สุดชีวิตหักหลัง
คนๆ นั้นสามารถคิดโทษตัวเองได้ว่า ฉันมันโง่ ปล่อยให้คนมาทรยศความรู้สึกตัวเองได้ยังไง
แต่ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ‘มันมีเส้นเรื่องมากมายที่อาจมาขนานกันจนเหมือนจะกลายเป็นเส้นเรื่องเดียว’
หากเราค่อยๆ ใช้เวลาเดินทาง ทำความเข้าใจไปในแต่ละเส้นเรื่อง
แล้วให้โอกาสคนไข้ ได้เลือกเส้นเรื่องที่เขารู้สึก ‘ใช่’ ที่สุด
อาจเป็นการบำบัดที่ยาวนาน แต่ความหมายของชีวิตที่ได้ มันจะมีค่าต่อจิตใจมากกว่า เพราะมันมาจากก้นบึ้งที่เป็นเรื่องจริง
‘การที่เราเสียใจจนเหมือนหัวใจแหลกสลาย เพราะเพื่อนที่เราไว้ใจที่สุดนั้นหักหลัง
นั้นแปลว่า หัวใจของเราบริสุทธิ์ และมีอานุภาพสูงในการมอบความรักที่หวังดีออกไปให้ใครสักคน ยิ่งรักมาก = ยิ่งเจ็บมาก หากเราไม่เสียใจเลย นั้นแปลว่า หัวใจของเรานั้นแข็งเป็นหิน ชินชาต่อโลกแห่งความรู้สึกนี้รึเปล่า เราอยากมีชีวิตที่หัวใจด้านชานี้ไหม? เราลองใช้เวลาสักนิดมาเชิดชูหัวใจที่น่ารักของเราหน่อยดีไหม’
เป็นต้น
เมื่อเราปล่อยให้คนไข้มีสิทธิดำเนินเรื่องชีวิตของเขาด้วยตัวเขาเอง
แล้วเราก็ทำหน้าที่ช่วยค้นหาเรื่องราวที่ มีค่าต่อจิตใจ สำหรับคนไข้
เราทำหน้าที่แค่เป็น ‘ผู้ร่วมเขียน’ เรื่องราวชีวิตของเขา
เรามองโลกของเขา ตามแบบที่เขามอง
โดยไม่ยัดเยียดความลำเอียงทางความเห็นใดๆ ไปให้
พลังที่เขาค่อยๆ สร้างขึ้นมาด้วยตัวของเขาเองเป็นหลัก
การรับรู้อย่างกระจ่างด้วยตัวเขาเอง
มันยิ่งใหญ่และหนักแน่น
เป็นช่วงเวลาที่น่าภูมิใจกว่าถ้าเราไปบอกเขา ให้เขามีความคิดตามแบบที่เราเชื่อเยอะเลย
---------------------------------------------------------------------------------
ในการดำเนินชีวิตปกติของเรา
มองคนให้เห็นเนื้อแท้ของเขาคนนั้น
ไม่ใช่สิ่งที่สังคมตีกรอบให้เขาเป็น
‘เธออยากให้เรามองเธอแบบไหน?’
ให้โอกาสเขาได้ให้ความหมายชีวิตของเขาที่มีต่อโลกด้วยตัวเขาเอง
ให้พื้นที่เขา ได้เป็นตัวตนที่แท้ของเขา
แล้วนั่นจะทำให้เราได้รู้จักใครสักคนอย่างลึกซึ้งและพิเศษขึ้นในทันที
ผมคิดว่าคนเรานั้นไม่ว่าคิดที่จะทำอะไรก็ตาม หากว่าได้คำนึงถึงในเรื่องของความรู้สึกของกันบ้างก็คงจะดี เพราะว่าในสิ่งนั้นก็อาจสามารถที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาได้เหมือนกันนะครับ.
26 พ.ค. 2563 เวลา 21.58 น.
ทุกคนมีปมในใจ
หรือเรื่องราวที่ฝังใจในวัยเด็ก
ทั้งเรื่องที่เป็นความทรงจำ
ผูกพันธ์
ความสัมพันธ์เก่าก่อน
และปมปัญหาชีวิตในวัยเด็ก
การเรียกเราว่าเด็กมีปมมีปัญหาจริงๆ
คือมันเป็นกันทุกคน
ถามว่าคนถูกคนอื่นว่าเด็กมีปม
เชื่อว่าไม่มีใครชอบค่ะ
คนที่ชอบว่าแต่คนอื่นมีปม
ตัวเขาเองก็มีปม
เราจะแกะปมนั้นได้ยังงัยค่ะ..ขอบคุณค่ะ
26 พ.ค. 2563 เวลา 14.22 น.
Ton. ขอบคุณมากครับ
27 พ.ค. 2563 เวลา 11.56 น.
อยากรู้จักก็ลองมาคบกันดูจริงๆจังๆ เสี่ยงกันดูซักตั้ง ไม่ใช่เอาแต่แซะกันไป แซะกันมา มันก็ไม่จบซักทีหรอก ปวดหัวอีกต่างหาก
26 พ.ค. 2563 เวลา 14.37 น.
เรื่องนี้พิสูจน์ได้
29 พ.ค. 2563 เวลา 01.51 น.
ดูทั้งหมด