สังคม

เช็กอาการเสี่ยง “ภาวะวูบหมดสติ”

Thai PBS
อัพเดต 11 พ.ค. 2566 เวลา 13.06 น. • เผยแพร่ 11 พ.ค. 2566 เวลา 13.06 น. • Thai PBS

วันนี้ (11 พ.ค.2566) จากกรณี กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ หรือ เอส ดารานักแสดง เกิดภาวะวูบหมดสติ

รศ.พญ.แพรว โคตรุฉิน อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงภาวะวูบหมดสติว่า ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยปกติแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกของผู้ป่วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการวูบหมดสติแต่ไม่มีหัวใจหยุดเต้น สามารถฟื้นคืนสติและรู้ตัวกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า syncope อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย, ความผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสมองขาดเลือด โรคลมชัก,

ความผิดปกติทางเมตาบอลิกส์ เช่น อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รับประทานหรือฉีดยาลดระดับน้ำตาลในเลือด และภาวะโลหิตจาง

นอกจากนั้นยังมีโรคฮิตช่วงฤดูร้อนอย่างฮีตสโตรก (heat stroke) ที่เป็นสาเหตุของอาการวูบหมดสติได้เช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนผู้ป่วยที่หมดสติและมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคเกี่ยวกับหัวใจ ทั้งโรคหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง, หัวใจวาย/น้ำท่วมปอด, เส้นเลือดแดงใหญ่แตก หรือเส้นเลือดแดงปอดอุดตัน ซึ่งโรคเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

รศ.พญ.แพรว ระบุว่า หากพบผู้ป่วยภาวะวูบหมดสติ สิ่งที่ประชาชนสามารถให้ความช่วยเหลือได้ คือ การตรวจสอบว่า ผู้ป่วยสามารถเรียกแล้วฟื้นคืนสติกลับมาหรือไม่ด้วยการตบไหล่เบา ๆ และตรวจสอบการหายใจ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก บ่งชี้ว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้น ต้องรีบโทรศัพท์สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ

จากนั้นปฐมพยาบาลด้วยการกดหน้าอกหรือ CPR ทันที ระหว่างรอรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แต่หากเรียกแล้วผู้ป่วยตอบสนองและรู้สึกตัว สามารถช่วยเหลือโดยการไม่เคลื่อนย้ายร่างกายของผู้ป่วย แต่เน้นเปิดพื้นที่โล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ให้ร่มเงากันความร้อน และคลายเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวม ก่อนเรียกขอความช่วยเหลือ หรือนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้จะเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่ภาวะวูบหมดสตินั้นมีสัญญาณเตือนที่สังเกตได้ รศ.พญ.แพรว แนะนำให้สังเกตอาการสำหรับผู้ที่มีภาวะเกี่ยวกับโรคหัวใจ ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น ตัวบวม หรือขาบวมสองข้าง นอนราบไม่ได้ ลุก-นั่งแล้วรู้สึกวูบ หรือภาพตัด ควรมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการและรักษา

ด้านผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคสมอง มักจะมีอาการพูดไม่ชัด อ่อนแรงครึ่งซีก ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก และผู้ป่วยโลหิตจางอาจจะมีอาการหน้าซีด และรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ

ส่วนอาการที่ไม่จำเพาะอื่น ๆ มีหลากหลาย ทั้งอาการใจหวิว เหงื่อออกตามตัว ตัวเย็น คล้ายจะเป็นลม อุจจาระหรือปัสสาวะราด หากมีอาการดังกล่าวควรมาโรงพยาบาลเพื่อรับการประเมินและรักษา

ใครที่อายุเกิน 40 ปี แนะนำให้ไปตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า เป็นการป้องกันไม่ให้เสี่ยงกับอาการวูบหมดสติได้

ล่าสุด ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ รศ.พญ.แพรว ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบผู้ป่วยภาวะวูบหมดสติเฉลี่ยวันละ 2-3 คน หรือเดือนละประมาณ 60-90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอากาศร้อน สูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และการติดเชื้อแทรกซ้อนในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น ผู้ป่วยบางรายมีโรคเกี่ยวกับหัวใจ หรือสมอง แต่ติดโควิด-19 จนไข้ขึ้นสูง หรือท้องเสียจากอาหารเป็นพิษจนหมดสติก็เข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

รศ.พญ.แพรว ยังเตือนว่า แม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็อาจจะเกิดภาวะวูบหมดสติได้เช่นกัน หากตากแดดหรือสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานาน เสียน้ำหรือเหงื่อมาก โดยไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ มีไข้สูงจากการติดเชื้อในร่างกาย ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป หรืออยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดมากเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอ

จึงฝากถึงประชาชนทุกคนให้ดูแลสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงทุกความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสวูบหมดสติที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งกำลังใจให้ “เอส-กันตพงศ์” หลังวูบหมดสติ

อัปเดตอาการ “เอส-กันตพงศ์” ร่างกายตอบสนองต่อการรักษา

ดูข่าวต้นฉบับ