ทั่วไป

'ม.มหิดล'สร้างสรรค์นวัตกรรมถังขยะพูดได้เพื่อผู้พิการทางการมองเห็น

สยามรัฐ
อัพเดต 06 พ.ค. 2565 เวลา 03.14 น. • เผยแพร่ 06 พ.ค. 2565 เวลา 03.14 น.

ในสภาวการณ์ที่ทุกคนต้องอยู่กับตัวเอง และช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดเช่นวิกฤตโควิด-19 ที่มาพร้อมกับปัญหาขยะล้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรืออาหารบริการส่งถึงที่(Delivery) ทำให้มีปริมาณขยะจากหีบห่อภาชนะเพิ่มมากขึ้นเท่าทวีคูณแม้จะมีการรณรงค์จัดการขยะกันโดยจัดให้มีถังรองรับต่างสี แต่ไม่มีใครเลยที่จะนึกถึงผู้พิการทางการมองเห็น ที่ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่แตกต่างหลากหลาย และมีความต้องการที่จะใช้ชีวิตอย่างปกติเฉกเช่นคนทั่วไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทราพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และอาจารย์ผู้สอนหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้นำทีมวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรม "ถังขยะพูดได้สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น" จากความต้องการของผู้ใช้จริงครั้งแรกว่า เป็นนวัตกรรมที่ริเริ่มขึ้นโดยตั้งโจทย์จากข้อจำกัดในการแยกขยะของผู้พิการทางการมองเห็น ซึ่งไม่อาจแยกขยะตามสีของถังขยะได้เหมือนคนทั่วไป อีกทั้งไม่อาจแยกได้เพียงจากการสัมผัสป้ายอักษรเบรลล์ เนื่องจากจะเป็นการสัมผัสเชื้อโรคที่มากับขยะด้วย จึงได้ร่วมกับ อาจารย์ ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้พิการทางการมองเห็น ออกแบบและพัฒนาถังขยะขึ้นใหม่ ให้มีเซนเซอร์คอยส่งเสียงให้แยกและทิ้งขยะได้อย่างถูกต้อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยกลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นที่นักเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา เนื่องจากต้องการปลูกฝังจิตสำนึกของคนไทยให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนเรื่องการแยกขยะให้กับนักเรียนและขยายผลสู่การสร้างรายได้จากแปรรูปขยะต่อไปได้อีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับ COVID-19 ก้าวต่อไปทีมวิจัยเตรียมจะพัฒนาถังขยะพูดได้รองรับหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น และจะขยายผลการพัฒนานวัตกรรมถังขยะพูดได้สำหรับผู้พิการทางการมองเห็นดังกล่าวออกไปในวงกว้าง ทั้งในภาครัฐ และเอกชนรวมถึงในระดับนโยบายต่อไปอีกด้วย

สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรมอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุที่มีราคาไม่แพงง่ายต่อการดูแลรักษา และทำขึ้นจากพลาสติกที่มีความทนทาน แข็งแรง และปลอดภัยจากเหตุไฟรั่ว แม้ใช้พลังงานจากไฟฟ้า และง่ายต่อการดูแลรักษา โดยเตรียมมอบถังขยะพูดได้ พร้อมอบรมการใช้สำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอด 14 แห่งทั่วประเทศให้สามารถนำไปดูแลด้วยตัวเอง ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเยาวชนคนตาบอดได้ต่อไป ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานอันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ดำเนินการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคภูมิใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้าน ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นผู้พิการทางการมองเห็น ที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมถังขยะพูดได้ฯ กล่าวเสริมว่า แม้ผู้พิการจะมีความแตกต่างด้วยข้อจำกัดทางสภาพร่างกาย แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกับสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลายนี้ได้ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน จากการเรียนรู้ที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะจัดการกับขยะด้วยความรับผิดชอบ หวังว่านวัตกรรมถังขยะพูดได้สำหรับผู้พิการทางการมองเห็นที่ได้ร่วมพัฒนานี้จะเป็นความหวังใหม่ของสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลายที่ออกแบบด้วย Inclusive Design โดยไม่ทิ้งผู้พิการไว้ข้างหลัง

ดูข่าวต้นฉบับ