ทั่วไป

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ตำนาน ‘เปาบุ้นจิ้น’ ตำนานคนไม่กลัวตอ

MATICHON ONLINE
อัพเดต 21 ก.ย 2565 เวลา 06.51 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2565 เวลา 03.23 น.

ตํานานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม” ที่ได้รับความนิยมที่สุดของชาวจีนและชาวไทย คือเรื่องของ “เปาเหวินเจิ่ง” ในภาษาจีนกลาง ที่คนไทยเรารู้จักในนามของ “เปาบุ้นจิ้น” ตามคำออกเสียงภาษาจีนฮกเกี้ยน อันเป็นเรื่องราวที่มีเค้าโครงมาจากประวัติศาสตร์จริงของขุนนางผู้ปกครองนครไคเฟิง (ไคฟง) ในรัชสมัยจักรพรรดิเหรินจง ราชวงศ์ซ่ง

และเรื่อง “เปาบุ้นจิ้น” ตอนที่ได้รับความนิยมที่สุดไม่ว่าจะเมื่อเป็นงิ้วหรือเป็นหนังเป็นละคร คือตอน “ประหารราชบุตรเขย” เรื่องราวของ“เฉินซื่อเหม่ย” หนุ่มชาวนายากจนอยู่ในชนบทอันห่างไกล แต่เป็นคนใฝ่ดีมีวิชาความรู้ ตั้งใจร่ำเรียนเป็นบัณฑิตและทบทวนวิชา มีความตั้งใจใฝ่ฝันว่าสักวันจะสอบเข้ารับราชการได้เป็นขุนนาง ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากภรรยาที่ยินดีรับภาระทั้งในการดูแลลูกน้อยและทำไร่ทำนา ปรนนิบัติแม่สามี เพื่อให้เฉินซื่อเหม่ย ได้ทบทวนวิชาเตรียมสอบให้เต็มที่เพื่ออนาคตของครอบครัว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในที่สุด เฉินซื่อเหม่ยก็เดินทางไปสอบที่เมืองหลวง และสอบได้เป็นที่หนึ่งหรือตำแหน่ง “จอหงวน” ได้เป็นขุนนางดังใจฝัน เมื่อได้เข้ารับราชการในเมืองกรุงแล้ว ความเก่งกาจสามารถของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงยังวางตัวเหมือนผู้ดีทั้งมีรูปงาม ในที่สุดก็ได้เป็น“ราชบุตรเขย” ขององค์ฮ่องเต้ และก็ทิ้งทุกอย่างทั้งบ้านเกิดพ่อแม่ลูกเมียไว้เบื้องหลัง

หลังจากข่าวคราวเงียบหายไป สมัยนั้นไม่มีเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียล ทำให้ไม่มีการอัพเดตผลสอบให้ใครๆ รวมถึงทางบ้านได้รู้ กระนั้นภรรยาของเขาก็ยังมองในแง่ดีว่า สามีอาจจะสอบตก เงินหมด แล้วอาศัยอยู่ในเมืองกรุงเพื่อรอสอบใหม่ ภรรยาของเขาจึงกระเตงลูกน้อยออกมาตามหาสามีในเมืองกรุง แล้วก็ได้พบว่า
ผัวและพ่อได้เป็นขุนนางใหญ่โตแต่ดันความจำเสื่อมจำเมียจำลูกไม่ได้เสียอย่างนั้น

จริงๆ นั้นไม่ใช่ว่าเฉินซื่อเหม่ยจะจำไม่ได้ แต่เพราะเขาเกรงว่าเรื่องมีเมียมีลูกมาแล้วก่อนเป็นราชบุตรเขยถ้าแดงออกมาแล้วงานเข้า ไม่รู้ว่าในเมืองจีนสมัยนั้นการสมรสซ้อนเป็นความผิดหรือไม่ แต่การมาอภิเษกกับองค์หญิงด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรแจ้งให้ทราบนี้ก็น่าจะมีโทษหนักอยู่ ที่แน่ๆ ชีวิตขุนนางของเขาต้องมาถึงจุดจบ เช่นนี้เขาจึงจ้างมือสังหารไปปลิดชีวิตแม่และเด็กเสีย แต่เมื่อมือสังหารนั้นได้รู้เห็นและฟังเรื่องราวของ“ม่ายจอหงวน” ผู้อาภัพ เขาก็พลันใจอ่อนและชิงชังต่อผู้ว่าจ้าง จึงแนะนำให้ภรรยาไปร้องทุกข์ต่อท่านเปาผู้เป็นเจ้าเมือง ก่อนตัวเองจะปลิดชีพตัวเองด้วยศักดิ์ศรีแห่งภาคีนักฆ่าผู้ตามงานไม่ลุล่วง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภรรยาของเฉินซื่อเหม่ยทำตามคำแนะนำที่ว่า ท่านขุนนางราชบุตรเขยจึงต้องเป็นจำเลยในความผิดฐานพยายามจ้างวานให้ฆ่าผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายของแผ่นดินจีนยุคท่านเปานี้ไม่มีหลักอย่างในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ที่ว่าผู้ใดลงมือกระทำความผิด แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำแล้วแต่การนั้นไม่บรรลุผล ก็ไม่ต้องรับโทษเต็ม แต่ให้ระวางโทษสองในสาม ดังนั้นเรื่องนี้แม้จะจ้างวานฆ่าไม่สำเร็จ โทษก็ยังคงเป็นการประหารชีวิตสถานเดียว

แต่ตัวจำเลยนั้นในฐานะราชบุตรเขย ก็คงถือว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกัน นอกจากไม่ให้ความร่วมมือในการไต่สวนแล้ว ยังพยายามใช้อิทธิพลให้ไทเฮาและองค์หญิงเข้าห้ามปรามและข่มขู่ท่านเปา คือถ้าจะพูดด้วยคำที่กำลังฮิตกันอยู่ในช่วงนี้ ก็คือคดีนี้มีเฉินซื่อเหม่ยตั้งตัวเป็น “ตอ” อันเบ้อเร่อ

อย่างไรก็ดี แม้ท่านเปาเจอ “ตอ” ระดับนั้นไปก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ได้ขยาดคร้ามอะไร กลับยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ตัดสินความต่อไปได้อย่างตรงไปตรงมา ส่วนหนึ่งนั้นก็ด้วยระบบของ “ดาบอาญาสิทธิ์” ซึ่งเป็น “ระบบธรรมาภิบาล” สำคัญที่สุดของสมัยนั้นและของเรื่องนี้ คือการที่ฮ่องเต้ได้ทรงพระราชทาน “ดาบอาญาสิทธิ์” ไว้ให้แก่เจ้าเมืองแต่ละเมืองว่ากิจการทางปกครองหรือการยุติธรรมใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจและพื้นที่ของเจ้าเมือง เจ้าเมืองย่อมมีอำนาจเต็มที่จะดำเนินการชำระความได้ด้วยอำนาจแห่งดาบอาญาสิทธิ์ ที่แม้แต่องค์ฮ่องเต้เองก็ไม่อาจคัดง้าง กลับแก้ หรือถอนอำนาจนั้นคืนได้หากไม่มีเหตุผลอันควร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องนี้ก็ไปตรงกับหลักกฎหมายเรื่องการมอบอำนาจทางปกครองในปัจจุบัน ที่ถือว่าเมื่อมีการโอนอำนาจในเรื่องที่มอบอำนาจนั้นจากผู้ทรงอำนาจเดิมไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจนั้นก็จะถือว่าออกคำสั่งนั้นในนามของตนเอง และตราบใดที่ยังไม่ได้เพิกถอนการมอบอำนาจ เจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจจะสอดเข้าไปออกคำสั่งทางปกครองแทนเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจใช้อำนาจนั้นโดยไม่ถูกต้องหรืออาจก่อความเสียหาย

ดังนั้นด้วยเหตุนี้ ท่านเปาจึงสั่งประหารชีวิตราชบุตรเขยได้ด้วยเครื่องประหารหัวมังกร ที่แม้ว่าเครื่องประหารนั้นอาจจะถูกแยกตามสถานะของผู้รับโทษ แต่“ความยุติธรรม” นั้นอยู่ที่สาระของมัน คือใบมีดและความตาย นั่นคือจะเครื่องประหารหัวมังกร หัวเสือ หรือหัวสุนัข ผู้ถูกประหารก็หัวหลุดซี้บ่องเซ็กทั้งนั้นมิได้แตกต่างกันสำหรับเรื่องนี้

การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและหลักการแบบไม่เลือกหน้า ไม่เกรงใจใคร และ“ไม่กล้วตอ” ของเปาบุ้นจิ้นนี้เอง ทำให้ท่านได้รับสมญานามว่า “เปาชิงเทียน” หรือท่านเปาผู้นำมาซึ่งแสงสว่าง ปัดเป่าความอยุติธรรมทั้งหลาย กลายเป็นตำนาน และต้นทุนทางวัฒนธรรมสำคัญของชาวจีนในการสร้างเป็นภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ที่ในที่สุดก็เป็นการทำให้เรื่องของท่านเปานั้นได้รับการเคารพนับถือและสรรเสริญอยู่ตราบจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามเรื่องที่ผู้คนอาจจะยังเข้าใจคลาดเคลื่อน รองจากเรื่องท่านเปาบุ้นจิ้นไม่ได้ชอบกินไข่เต่า (และจั่นเจาชอบอมโอเล่) แล้ว คงได้แก่เรื่องที่เข้าใจว่าท่านเปานั้นเป็น“ผู้พิพากษา” หรือ “ตุลาการ”

ในสมัยนั้นในแผ่นดินจีนหรือที่ไหนๆ ยังไม่มีแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ ดังนั้นเจ้าเมืองจึงดำรงตำแหน่งทั้งเป็นฝ่ายปกครองและตุลาการ ดังนั้น“ท่านเปา” จึงเป็นทั้งผู้ว่าการเมือง และถ้ามีคดีก็ต้องรับบทเป็นผู้พิพากษาไปด้วย โดยมีลูกน้องของท่าน คือ หวังเฉา หม่าฮั่น และ จั่นเจา เป็นพนักงานสอบสวน อัยการ และพนักงานราชทัณฑ์เบ็ดเสร็จในแผนกเดียว แถมคำสั่งหรือคำพิพากษาของท่านเจ้าเมืองยังเป็นที่สุด ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา ดังนั้นพิพากษาเสร็จแล้วก็ประหารได้เลย

ส่วนในยุคสมัยปัจจุบัน เรามีแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจว่าการมอบอำนาจให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวนั้นเป็นอันตรายเกินไป อาจเอื้อหรือล่อให้เกิดการใช้อำนาจมิชอบได้ เราจึงแยกให้ผู้ทำหน้าที่ตัดสิน เป็นผู้ทรงอำนาจฝ่ายหนึ่ง คืออำนาจตุลาการ กับผู้บังคับให้เป็นไปตามคำตัดสินหรือคำพิพากษาคือการบังคับคดีและการราชทัณฑ์ นั้นอยู่กับฝ่ายบริหารและปกครอง เช่นในประเทศไทยตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมนั้นถูกแยกออกมาจาก“กระทรวงยุติธรรม” ออกมาเป็นองค์อำนาจในตัวที่มีหน่วยงานธุรการของตัวเอง คือสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนการบังคับคดีและการราชทัณฑ์ ให้เป็นของกระทรวงยุติธรรม

เรื่องนี้มีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย แง่ดีดังที่ว่าไปแล้วคือป้องกันการใช้อำนาจล้นพ้นโดยมิชอบ แต่ในอีกแง่ที่ต้องยอมรับ คือ “ผลของคำพิพากษา” กับ “การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา” นั้นก็แยกจากกันด้วย
กรณีที่เห็นกันชัดเจน คือเมื่อศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปประการใดแล้ว อำนาจในการบังคับตามโทษนั้นก็จะเป็นของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีอำนาจลดโทษตามคำพิพากษา แต่ก็สามารถ “ลดวันต้องขัง” ซึ่งเป็นกระบวนการในทางปกครองได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมายและระเบียบต่างๆ

เรื่องนี้เคยมีผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ในชีวิตการเป็นผู้พิพากษาของท่าน เคยพิพากษาประหารชีวิตสถานเดียวกับจำเลยคนหนึ่งถึงสามครั้ง ในฐานความผิดเดียวกันแต่ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งท่านก็ไม่ได้เล่าต่อว่า สุดท้ายในครั้งที่สามจำเลยคนนั้นได้ถูกประหารชีวิตจริงๆ หรือไม่ เรื่องนี้แม้ท่านที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร ก็คงต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะปกติ

ดังนั้นในบริบทปัจจุบันแม้จะมีผู้พิพากษาแบบท่านเปาที่ “ไม่กลัวตอ” แต่ถ้าฝ่ายที่ต้องบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล คือฝ่ายกระทรวงยุติธรรมดัน“กลัวตอ” (และขู่ให้คนอื่นกลัวตามไปด้วย) ก็อาจจะรื้อตอไม่ขึ้นได้เหมือนกัน

ซึ่งตำนานเรื่อง“เปาบุ้นจิ้นประหารราชบุตรเขย” นี้เป็นที่จดจำและเป็นเรื่องเปาบุ้นจิ้นที่นิยมที่สุด เพราะมนุษย์เราไม่ว่าชาติไหนภาษาใด ย่อมต้องการและสรรเสริญความยุติธรรมเช่นนี้ทั้งสิ้น และที่คนนั้นยอมตนอยู่ใต้กฎหมายและอำนาจรัฐ นั้นก็เพราะเชื่อและศรัทธาว่า อำนาจรัฐจะให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายได้โดยไม่เลือกหน้า นอกจากนี้ เรื่องประหารราชบุตรเขยนี้ ยังแสดงถึงตำนาน “คนไม่กลัวตอ” ซึ่งนอกจากตัวท่านเปาเองแล้ว มือสังหารเองก็ไม่กลัวตอ จึงยอมขัดคำสั่งและชี้ช่องให้ภรรยาของเฉินซื่อเหม่ยไปร้องทุกข์ต่อทางการ ภรรยาเองก็ไม่ได้กลัวตอว่าบัดนี้สามีเป็นคนใหญ่คนโตไปเสียแล้วก็ควรทำใจ รอดชีวิตได้ก็บุญแล้ว แต่ในเมื่อตัวเองได้รับความอยุติธรรมก็ต้องยื่นเรื่องให้ทางการจัดการไปตามกบิลเมือง ส่วนหวังเฉา หม่าฮั่น และจั่นเจา ที่เป็นลูกน้องท่านเปาก็ไม่กลัวตอเช่นกัน จึงสืบสวนตั้งสำนวนให้กระจ่างจนท่านเปามั่นใจพิพากษาให้เปิดเครื่องประหารหัวมังกรได้

สำหรับ “ตอ” นั้นมีความหมายได้สองนัย นัยแรกหมายถึง“อุปสรรค” ที่ขัดขวางไว้ไม่ให้การแก้ไขปัญหานั้นลุล่วง กับอีกนัยหนึ่ง “ตอ” หมายถึงต้นเหตุที่เป็นฐานรากของปัญหานั้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรทั้งสองนัย “ตอ” นั้นสามารถเอาออกได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และในหลายต่อหลายเรื่อง ถ้าสามารถเอา “ตอ” ออกไปได้แล้ว ก็จะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ลุล่วงราบรื่นอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ การขุดคุ้ยอะไรแล้วไป “เจอตอ” จึงเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส คือแม้ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาเรื่อง “ตอ” ที่ได้เจอ แต่เราก็ได้รู้ว่าถ้าทำลายตอนี้ได้ ปัญหานี้น่าจะจบลง

ถ้าในตอนนี้คนคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียวยังไม่มีแรงขุดรื้อ ก็อาจจะต้องใช้คนจำนวนมาก หรือมีเครื่องมือที่จะขุดตอนั้นออกมาได้ แต่เมื่อใดที่เราได้มองเห็นมันแล้ว อย่างน้อยเราก็มีจุดหมายว่าอะไรที่เราควรจะทำลายทิ้ง

กล้า สมุทวณิช

ดูข่าวต้นฉบับ