คอลัมน์ สัญญาณรบกวน
เราใช้ภาษาในชีวิตประจำวันเพื่อทำความเข้าใจกัน แต่ไวยากรณ์และขนบของการสื่อสารเพื่อเอาตัวรอดก็เป็นที่มาของข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจ ทั้งยังบ่มเพาะทัศนคติคับแคบให้กับผู้ใช้ภาษาได้มากพอๆกับที่มันให้ประโยชน์ในการเข้าสังคม
ภาษาสื่อสารจำเป็นต้องกระชับ เรียบง่าย ไม่เอื้อพื้นที่ให้ขยายความหรือตั้งคำถาม เราลดทอนรายละเอียดและความรู้ความเข้าใจไปมาก (ทั้งในแง่ความรู้จากตำราและความรู้จากประสบการณ์ส่วนตัว) เพื่อแลกเปลี่ยนเร่งด่วน คำศัพท์ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการรับรู้ผิวเผิน เพื่อจุดประสงค์ระยะสั้น หรือกระทั่งเพื่อหลีกเลี่ยงความจริง ภาษาสื่อสารจึงไม่ควรถูก “เชื่อ” ว่าเพียงพอสำหรับใช้เป็นเหตุเป็นผลในมิติอื่นๆของชีวิตได้โดยปริยาย
ที่สำคัญ การสื่อสารในชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยการตกค้างของความรู้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนและคำศัพท์ไร้ความหมาย (เช่น การพูดว่า “พระอาทิตย์ขึ้น-ตก” อาจมีประโยชน์ในการสื่อสารถึงช่วงเวลาของวัน แต่ไม่มีคุณค่าทางปัญญาใดๆ หนำซ้ำยังเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา) มันจึงมีหน้าที่เพียง “ทำซ้ำ” ทางการสื่อสาร ด้วยเหตุผลเดียวคือความคุ้นชิน ผลด้านลบที่ตามมาจึงเป็นการฝังรากของความเข้าใจผิดหรือทัศนคติคับแคบซึ่งถูกทำซ้ำไปด้วย บางอย่างทำซ้ำนานเป็นร้อยเป็นพันปีและไม่มีเค้าว่าจะเลือนหายตายจากในเร็ววัน
การนำภาษาสื่อสารแบบ “ตื้น” มาใช้ในบริบทที่ควรลงลึก อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจหรือการตัดสินใจที่ไม่ผ่านการพิจารณาเพียงพอ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องทางสังคมและส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ตัวอย่างหนึ่งคือการพูดถึงความ “เก่า-ใหม่” ซึ่งในบางกรณีบดขยี้ความซับซ้อนของ “เวลา” ให้เหลือเพียงอคติเกี่ยวกับอายุขัยและการให้คุณค่าเชิงจารีต
เรามักใช้คำว่า “เก่า-ใหม่” ด้วยทัศนคติเกี่ยวกับเวลาแบบประสบการณ์วันต่อวันของมนุษย์ มีแนวโน้มจะวัดความ “เก่า-ใหม่” จากการให้ค่าทางมโนทัศน์เกี่ยวกับ “อายุขัย” และการเปลี่ยนแปรทางกายภาพในแบบของเรา แต่สสารและการดำรงอยู่แต่ละชนิดล้วนมีกรอบอ้างอิงทางเวลาของตัวเอง ไม่มีสิ่งไหนใช้เส้นเวลาร่วมกันโดยสิ้นเชิง ความ “เก่า-ใหม่” มีคุณสมบัติเป็น “สัมพัทธ์” (relative) นั่นคือขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ไม่มีความเก่า-ใหม่ใดเป็นสากล ในระดับบุคคล สิ่งที่อยู่กับเรามาสามสิบปีอาจเรียกว่า “เก่า” สำหรับเรา แต่ยังคง “ใหม่” สำหรับคนที่ไม่ได้ครอบครองมัน ตำนานที่สืบสานมาสองพันปี อาจ “เก่า” สำหรับวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ “ใหม่” สำหรับชุมชนที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่เมื่อเราครอบกรอบทุกอย่างด้วยความหมาย “เก่า-ใหม่” ของการสื่อสารแบบตื้น เราจึงมองข้ามความเป็นไปได้หรือความหมายในมิติอื่นๆของสิ่งที่อาจมีค่าบนเส้นเวลาของมันเองไปอย่างน่าเสียดาย
“เก่า-ใหม่” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการแบ่งพื้นที่เมืองและมองสิ่งปลูกสร้าง หลายเมืองในโลกมีย่าน “เก่า” ซึ่งมักเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีอาคารบ้านเรือนหลงเหลือจาก “สมัยก่อน” สะท้อนภาพวิถีชีวิต “ในอดีต” ส่วนย่าน “ใหม่” มักถูกพัฒนาขึ้นในช่วงต้นหรือกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ได้รับอิทธิพลจากการออกแบบเมืองของโลกฝั่งตะวันตก (ในโลกฝั่งตะวันตกเองมักเป็นย่านที่ได้อิทธิพลจากแนวคิดแบบ “สมัยใหม่”) ย่านเก่าของแต่ละประเทศมักถูกมองว่าเป็นการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ในขณะที่ย่านใหม่แสดงถึงความเจริญทัดเทียมเทียบเท่ากับวัฒนธรรมร่วมสมัยระดับสากล
การแบ่งแยก “เก่า-ใหม่” เช่นนี้ มาพร้อมกับนัยของการให้ค่าทั้งทางนามธรรมและรูปธรรม ย่านเก่าได้รับการจัดการดูแลอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง มีงบประมาณรัฐและหลายแห่งมีกองทุนข้ามชาติพร้อมสนับสนุน เป็น “มรดก” ของโลก และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ในขณะที่ย่านใหม่มีสถานะลื่นไหลและเปราะบางกว่า ตกอยู่ภายใต้ความแปรปรวนของกระแสนิยม ตึกรามบ้านช่องอยู่ในกลไกของระบบใช้แล้วทิ้ง ความทันกระแสสำคัญกว่าการทำนุบำรุง ความ “เก่า” ยิ่งเก็บยิ่งมีค่า ความ “ใหม่” ต้องรื้อถอนได้จึงมีราคา
วัสดุปลูกสร้างจำนวนมากมีอายุขัยยาวนานกว่าชั่วอายุคน ความ “เก่า-ใหม่” ในการสื่อสารของมนุษย์จึงใช้ไม่ได้กับสิ่งปลูกสร้างโดยตัวของมันเอง เราวัดอายุของย่านในเมืองจากช่วงวัยและยุคสมัยของสังคม ซึ่งมีเหตุมีผลในมิติการใช้งาน แต่ถึงอย่างนั้น มันก็สร้างทัศนคติที่เป็นกรอบขังความเป็นไปได้อีกมากมายในการออกแบบและวางระบบสำหรับการอยู่อาศัยให้ชุมชน
การแบ่งแยกขอบเขตของการอนุรักษ์กับการใช้แล้วทิ้งอย่างเป็นขาว-ดำบนพื้นฐานการใช้ภาษาสื่อสารแบบตื้น ทำให้สังคมมักไม่พิจารณาการใช้งานหรืออายุขัยของรายละเอียดต่างๆในความเป็นเมืองจากปัจจัยอื่นๆที่อาจมีประโยชน์กว่าความ “เก่า-ใหม่” หรือการให้ค่าในเชิงประวัติศาสตร์
ความ “เก่า” ไม่จำเป็นต้องมีค่าเพียงเพราะมันอยู่มานาน ในขณะที่ความ “ใหม่” ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้แล้วทิ้งไปตามกระแสนิยม
สถานะใช้แล้วทิ้งของย่านใหม่ทำให้ภูมิทัศน์เมืองเปลี่ยนแปลงตามกระแสและการเปลี่ยนมือของกลุ่มทุน แม้จะมีสิ่งปลูกสร้าง “อายุมาก” แค่ไหน หากไม่อยู่ในย่านเก่าก็มักไม่นับว่าควรค่าต่อการอนุรักษ์หรือซ่อมแซมดูแล แต่อัตลักษณ์แท้จริงของชุมชนที่ยังมีชีวิตและยังพัฒนามักปรากฏอยู่ในย่านใหม่ หากสังคมสามารถขยายทัศนคติเกี่ยวกับเมืองให้กว้างกว่ากรอบของคำว่า “เก่า-ใหม่” ย่านใหม่อาจเป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญและมีมาตรการจัดสรรดูแลอย่างพิถีพิถันกว่า เพราะเป็นศูนย์รวมชีพจรของเมือง (และของชาติ) รวมถึงเป็นจุดสร้าง “ความทรงจำร่วม” ในช่วงวัยของผู้คนในชุมชนนั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนควรต้องขยายกรอบทางทัศนคติต่อเมืองออกจากคำว่า “เก่า-ใหม่” ปัจจุบันนี้การรักษาซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างในย่านใหม่แทนการรื้อถอน ไม่ได้มีเหตุจูงใจทางความสวยงาม เพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม หรือเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น การประหยัดพลังงานยังเป็นประเด็นที่นักออกแบบและวิศวกรควรต้องคำนึงถึงมากขึ้น และไม่ใช่เพราะมันเป็นปัจจัย “ใหม่” หากเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้จะดำรงอยู่อย่างมีคุณภาพใน “ระยะยาว” ของชุมชน ซึ่งมีมิติทางเวลาและอายุขัยสัมพัทธ์กับสภาพแวดล้อมอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน
หากคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของสังคม พื้นที่และสิ่งปลูกสร้างย่อมมีบทบาทอย่างยิ่งในความเป็นภาชนะรองรับความเป็นอยู่ของชุมชน นโยบายสำหรับดูแลจัดการพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างอย่างเหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน ความหมายในระดับตื้นของภาษาอย่าง “เก่า-ใหม่” ที่เราใช้ระบุความเป็น “อดีต” กับ “ปัจจุบัน” ทำให้เกิดการตีค่าด้วยอคติที่ไม่เชื่อมโยงกับประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน
สังคมส่วนใหญ่มีอายุขัยยาวนานกว่าชั่วอายุของสมาชิกแต่ละคนอย่างน้อยเป็นศตวรรษ หากยึดติดอยู่แต่กับความหมายในภาษาสื่อสารของความ “เก่า-ใหม่” เราจะเสี่ยงกับการมองข้ามคุณค่าของพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างของชุมชนในระดับที่เหนือจากสัมพัทธภาพทางเวลาแห่งยุคสมัยของเรา และอาจมีส่วนในการลิดรอนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากคนรุ่นต่อไป
ใช้ภาษาที่อ่านแล้ว เข้าใจเนื้อหาได้ยากมาก
พยายามทำความเข้าใจ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี
21 มิ.ย. 2561 เวลา 12.28 น.
Rosemaryn🌈 นี่ๆ พ่อคุณก่อนจะเขียนบอกคนอื่นอะ ตัวเองก็โคตรจะรุ่ยรวยทางภาษาเหลือเกิน ใช้ภาษาสูงส่งเหยียดคนอ่านอยู่เรื่อย เนี่ยแหละอุปนิสัยน่ารำคาญของพวกนักเขียนซีไรต์
คำพูดมากมาย ความหมายเท่าเดิม นะปราบดา คุ่น
ว่างๆ ลองไปอ่านพระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯพระเทพบ้างนะ ท่านเป็นเชื้อพระวงศ์แต่ท่านใช้คำเรียบง่าย สละสลวย อ่านเข้าใจง่าย
จะเป็นนักเขียน สำนึกด้วยว่าเขียนให้คนอื่นอ่าน ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจ ไม่งั้นก็ไปเขียนเองอ่านเองคนเดียวนะคะ พยายามอ่านงานคุณอย่างมีสติและไม่อคติแล้วนะ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี มองบนจนตาเหลือก
22 มิ.ย. 2561 เวลา 12.06 น.
S. หลายปีก่อนอ่านงานปราบดาหยุ่นไม่รู่เรื่อง
มาวันนี้ผ่านมาอ่านก็ยังไม่รู้เรื่อง
เราคงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเขา
22 มิ.ย. 2561 เวลา 04.38 น.
Ice สรุปสั้นๆคือ ต้องการจะสื่อว่า คนส่วนใหญ่เวลาจะใช้คำว่าเก่าหรือใหม่ เรามักมีอคติตัดสินไปแล้วว่าอันหนึ่งดี อีกอันหนึ่งไม่ดี เวลาใช้ซ้ำๆจะติดจนเกิดมุมมองด้านเดียว ซึ่งอันที่จริงไม่ว่าเก่าหรือใหม่ก็มีสิ่งดีในตัวมันเอง นอกจากนี้เก่าของคนหนึ่งอาจเป็นใหม่ของอีกคนก็ได้ คนเขียนเขาไม่อยากใช้ภาษาที่มีข้อจำกัดตื้นๆมาอธิบายสิ่งที่มีความลุ่มลึก สุดท้ายเลยใช้ภาษาเทพ เข้าใจเองคนเดียว จบ
28 มิ.ย. 2561 เวลา 15.52 น.
Sirichai Sanguankaew บทความอธิบาย คำว่า "เก่า-ใหม่" ตามความหมายของภาษาและความหมายตามดารเรียนตามประสบการณ์แห่งตน
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory) เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการสร้างความรู้ของผู้เรียน ซึ่งถ้าพิจารณาจากรากศัพท์ “Construct” แปลว่า “สร้าง” โดยในที่นี้หมายถึงการสร้างความรู้โดยผู้เรียนนั่นเอง
28 มิ.ย. 2561 เวลา 04.15 น.
ดูทั้งหมด