เมื่อผมเป็น ‘บ้านนอกเข้ากรุง’ เดินทางสู่เมืองหลวงเป็นครั้งแรกราวครึ่งศตวรรษก่อน สถานที่แรกที่ผมสอดส่ายสายตามองหาคือห้องสมุด เพราะอยากอ่านนิยาย
ก็ค้นพบได้หลายที่ เช่น หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดประชาชนซอยพระนาง ห้องสมุดประชาชนปทุมวัน ห้องสมุดประชาชนอนงคาราม ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี เป็นต้น
สถานที่เหล่านี้กลายเป็น ‘แหล่งมั่วสุม’ ของผมไปโดยปริยาย ถ้าไปที่ห้องสมุดประชาชนปทุมวันในวันหยุด ก็นั่งอ่านนิยายจากเช้าถึงเที่ยง เบรกกินบะหมี่เป็ดในร้านแถวนั้น (อร่อยมาก) แล้วไปอ่านต่อ ถ้าไปที่หอสมุดแห่งชาติ ก็อ่านทั้งวัน พักเที่ยงกินข้าวหมูแดงแถวนั้น
นอกจากนี้ก็มีหอสมุดกลาง จุฬาฯ มีหนังสือนวนิยายอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก
เมื่ออ่านนิยายหมดห้องสมุดทั้งหลาย ก็ต้องพึ่งร้านเช่าหนังสือ
ร้านเช่าหนังสือร้านแรกที่ผมรู้จักอยู่ที่ถนนสุทธิสาร สมัยเข้าเมืองหลวงใหม่ ๆ เช่าบ้านอยู่แถวนั้น
ร้านเช่าหนังสือร้านนี้เป็นตึกแถวเก่า ขายของชำกับให้บริการเช่าหนังสือ ชั้นหนังสือวางติดกำแพงทุกด้าน สูงถึงเพดาน หนังสือหลายร้อยหลายพันเล่ม แต่ไม่มีการ์ตูน สมัยที่ผมเป็นหนอนหนังสือสิงในร้านเช่า การ์ตูนยังไม่ฮิต
กลางห้องแถวมีโต๊ะใหญ่หนึ่งตัว ลูกค้าก็นั่งล้อมวงอ่านหนังสือ
หนอนหนังสือกว่าครึ่ง อ่านนิยายกำลังภายใน
มีเครื่องดื่มเป๊ปซีโคลาแช่เย็นให้บริการ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็อ่านหนังสือไป ดูดน้ำดำไป คล้าย ๆ กินเบอร์เกอร์ต้องคู่กับ เฟรนช์ ฟราย นอกจากนี้ก็มีบริการให้ยืมกลับบ้าน
อ่านเสร็จก็ไปจ่ายเงิน ค่าเช่าเล่มละหนึ่งบาท
ต่อมาย้ายบ้านเช่าไปที่ถนนเพชรบุรี ก็พบร้านเช่าในซอยกิ่งเพชร ต่อลมหายใจคนเสพติดนิยายไปได้
ร้านเช่าหนังสือก็มีหน้าที่คล้ายห้องสมุด แตกต่างตรงความหลากหลายของหนังสือและค่าบริการ
ชีวิตผมตอนนั้นก็มั่วสุมอยู่ ณ สถานที่เหล่านี้ ห้องสมุดกับร้านเช่าหนังสือ อ่านหนังสืออยู่ประเภทเดียวคือนิยาย
เป็นหนอนนิยายจริง ๆ
จนเมื่อเรียนจบ ทำงานเป็นหลักเป็นฐาน ก็เปลี่ยนจากโหมดเช่าเป็นโหมดซื้อ
อ่านหนังสือฟรีมาทั้งชีวิต ย่อมสมควรซื้อหนังสือต่อชีวิตนักเขียนบ้าง
แล้วในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนชีวิต
เมื่ออ่านนิยายจนหมดห้องสมุดและร้านหนังสือแล้ว ก็ถึงจุดอิ่มตัว หลังจากนั้นผมไม่อ่านนิยายเริงรมย์อีกเลย แต่ไปอ่านหนังสือสารคดี ตำราวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ฯลฯ ล้วนเป็นหนังสือที่ผมไม่แตะเลยในอดีต
ยังอ่านนวนิยายอยู่บ้าง แต่เป็นงานวรรณกรรมที่ลุ่มลึกกว่านวนิยายเริงรมย์
ประสบการณ์ชีวิตจุดนี้ชี้ให้เห็นว่า การอ่านนิยายตั้งแต่เด็กช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ที่ฝังรากลึกจนถอนไม่ออก และเมื่อถึงจุดหนึ่ง มันก็หันไปอ่านหนังสือประเภทอื่นที่ให้สาระและมีความลุ่มลึกขึ้น หรือในสิ่งที่นิยายไม่มี
นานปีให้หลัง ผมพบหนังสือที่ผมเขียนในร้านเช่า เป็นความรู้สึกแปลก ๆ อย่างหนึ่ง
แปลกแต่ดี !
มันเป็นเส้นทางของหนอนหนังสือ เริ่มต้นคือเสพอักษร และพัฒนาต่อเป็นผู้สร้างอักษร
บางที บางครั้ง เมื่อหนอนหนังสือตัวหนึ่งเสพอักษรเข้าไปมากพอ ถึงจุดจุดหนึ่ง มันก็แปลงร่างเป็นผีเสื้อ
วินทร์ เลียววาริณ
จริงครับ บางครั้งในเรื่องของความสำเร็จของคนเรานั้น มันก็ย่อมที่จะต้องขึ้นอยู่กับที่ประสบการณ์ที่ตัวของเรานั้นได้สะสมมาด้วยอยู่เหมือนกัน.
10 ส.ค. 2563 เวลา 01.12 น.
Zeed Beer 77 ขอบพระคุณ คุณวินทร์สำหรับข้อคิดนี้และยังเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนรุ่นหลังด้วยครับ
11 ส.ค. 2563 เวลา 12.41 น.
รักษ์ ยังไงๆหนอน!ก็มีประโยชน์ กินซากเน่าๆ และ รักษาภาวะธรรมชาติ! ให้ คนที่สนใจได้อ่านมัน! มันมีอยู่ทุกบ้าน ไม่เชื่อชำเริงมองดู มีหนังสือ บิล ข้อความ ต่างๆมากมายเพียงแต่ มองข้ามมันไปชอบ แมลงวันมากกว่า! มันแค่บินตอมและวางไข่ ก็เป็นหนอน! ถึงวันนั้นคนถูกตอมก็เหมือนซากเน่าๆแล้ว!
10 ส.ค. 2563 เวลา 13.27 น.
Vanida ประสบการณ์ใกล้เคียง แต่ไม่เคยไปห้องสมุดอื่นนอกจากของโรงเรียน ไม่มีเล่มไหนที่ไม่ผ่านมือ เด็กๆเริ่มจากกำลังภายใน อ่านทั้งบ้าน โตขึ้นเป็นนิยาย อ่านมากจนแยกแยะได้ว่า เราจะได้อะไรจากคนเขียนประเภทไหน สิ่งที่ประทับใจในเรื่อง บางทีเอามาใช้ได้ในชีวิตจริง กลายเป็นว่าเนื้อเรื่องบางตอนกลายเป็นประสบการณ์ที่เราไม่ได้ผ่านจริง แต่หยิบมาใช้ได้ อย่าคิดว่าอ่านนิยายแล้วจะมีแต่เรื่องประโลมโลก บางช่วงบางตอนที่เราหยิบจับมาใช้ให้เหมาะกับเรา มันมีค่าเกินกว่าที่จะคิดว่ามันก็แค่ " นิยาย "
10 ส.ค. 2563 เวลา 13.19 น.
Bamrung ช่างจินตนาการ
Good imagination
11 ส.ค. 2563 เวลา 02.45 น.
ดูทั้งหมด