ส่องชีวิตคน (เคย) ตกงานยุคโควิด-19 “ท้อได้ แต่แพ้ไม่ได้” เริ่มต้นใหม่ได้ ถ้าไม่เลือกงาน
ปี พ.ศ. 2563 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความไม่คาดฝันสำหรับใครหลายๆ คน เพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ทั่วทั้งโลกต้องสั่นสะเทือน ไม่เพียงแต่จำนวนผู้คนที่ล้มป่วยหรือเสียชีวิต แต่ภาคเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก บ้างก็ต้องปิดตัวลงเพราะขาดรายได้ยาวนาน
โดยรายงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน พบว่าปัจจุบันมีธุรกิจที่จำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว โดยมีการใช้มาตรา 75 (ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) ไปแล้วกว่า 2,237 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 15 เท่า จากปี 2562 และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบแล้วกว่า 448,611 คน
คุณชวลิต แซ่จัง มัคคุเทศก์หนุ่มที่พ่วงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง และคุณคมสัน โชยดิรส ผู้ช่วยเชฟในโรงแรมหรูย่านศรีนครินทร์ สองหนุ่มคนขับแกร็บที่เพิ่งจะหันมารับงานอย่างจริงจังได้เกือบสองเดือน คือตัวอย่างของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 จากที่เคยต้องตื่นเช้าไปทำงานประจำในทุกๆ วัน กลับต้องพบกับบททดสอบชีวิตครั้งสำคัญ
ชีวิตพลิก เมื่อคลื่นซัด
“นอกจากทำงานในบริษัท ผมยังรับหน้าที่เป็นไกด์ออกหน้างาน ทั้งงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ ขายงานเอง และงานอื่นๆ เท่าที่เราจะทำได้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กรและหน่วยงานต่างๆ” คุณชวลิต เล่า “แต่ธุรกิจเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วครับว่าจะเอายังไงดี เพราะว่ามันมีผลกระทบกับทางฝั่งจีน จนมีผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ผมต้องบินไต้หวัน ทั้งเราและลูกค้าที่ตัดสินใจกันอยู่นานมากว่าจะไปดีหรือไม่ ในที่สุดก็ตัดสินใจไปและมันก็เป็นทริปสุดท้ายของผม หลังจากนั้นทริปที่จองไว้คือยกเลิกหมดเลย จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม บริษัทก็แจ้งว่าพวกเราไม่ต้องเข้าออฟฟิศแล้ว ตอนที่รู้ข่าวก็เครียดเลย”
คุณชวลิต แซ่จัง มัคคุเทศก์หนุ่มและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัททัวร์
คุณคมสัน โชยดิรส ผู้ช่วยเชฟในโรงแรมย่านศรีนครินทร์
เชฟคมสัน เองก็มีโชคชะตาที่ไม่ต่างกัน ด้วยสายงานโรงแรมที่เมื่อนักท่องเที่ยวลดลง กอปรกับมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการลดลงอย่างมาก…จนกระทั่งไม่มีเลย “เราเริ่มเห็นสัญญาณเมื่อตอนที่จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มลดลง รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการห้องของโรงแรมด้วย จากที่เคยมีมาใช้บริการวันละ 600 – 700 คน ช่วงก่อนล็อกดาวน์มีคนมาใช้บริการเพียงวันละ 20-30 คนเท่านั้น สุดท้ายเจ้าของโรงแรมก็สู้ไม่ไหว ขอให้เรา Leave without pay (ลาโดยไม่รับค่าแรง) โดยยังจ่ายเงินเดือนให้ 30% แต่เราไม่ต้องไปทำงาน รายได้มันหายไปเยอะเลยเหมือนกันนะ”
จากห้องแอร์ สู่ท้องถนน
คุณคมสัน เล่าว่า ด้วยความที่ชอบขี่รถมอเตอร์ไซค์เป็นทุนเดิม และอยากทดลองทำอะไรใหม่ๆ จึงลองมาขับแกร็บตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิด “พอดีมีน้องที่ทำงานขับแกร็บอยู่ก่อนแล้ว ผมก็ถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง เพราะเราชอบขี่มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ก็คงเหมือนขี่รถเล่นแถมได้เงินด้วย เลยลองสมัครดู ช่วงแรกๆ ก็วิ่งตอนกลางคืนหลังเลิกงาน วิ่งได้ครึ่งเดือนโรงแรมก็ปิด ตอนนี้ก็เลยเป็นเหมือนงานหลักไปแล้ว ผมรับทั้ง GrabFood (ส่งอาหาร) แล้วก็ GrabExpress (ส่งพัสดุ) ก็ถือว่าตื่นเต้นดีนะ แม้จะเหนื่อยแต่ก็ท้าทาย ต้องวิ่งไปในที่ที่ไม่เคยไป แล้วแต่งานจะพาไป อย่างเมื่อวานผมประจำที่พัฒนาการ ไปส่งแถวๆ รามสอง แล้วมีต่อจากรามสอง ไปปทุมธานีเพื่อส่งเอกสาร พอได้งานที่ต้องวิ่งไปไกล รายได้มันก็ดีไปด้วย ในวันหนึ่งๆ พอวิ่งอยู่ที่ประมาณ 10-15 งาน รายได้ก็ถือว่าโอเคเลย”
“ช่วงแรกๆ ผมน็อกเลยเหมือนกันนะ จากคนเคยทำงานสบายๆ ในห้องแอร์ เคยคิดว่าจะขับแกร็บเป็นงานสำรอง รับงานแค่ระหว่างขี่รถกลับบ้าน จนสุดท้ายต้องมาทำจริงจัง ไม่ชินเลย เจออากาศร้อนจัด แล้วก็ต้องตื่นเช้ามาก แต่กลับบ้านดึกมากกว่าตอนทำงานออฟฟิศเสียอีก เราต้องปรับตัวปรับพฤติกรรมค่อนข้างเยอะ เตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดีขึ้น ต้องศึกษาวิธีการทำงานให้ดีขึ้น จริงๆ การขับแกร็บถือว่าเป็นอาชีพอิสระนะ ไม่ได้ให้ทำงานเป็นกะเหมือนแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อยากจะพักเมื่อไหร่ก็พักได้ แต่คิดว่าถ้าพักชั่วโมงนึง งานคุณอาจหายไปตัวหรือสองตัวเลยนะ อย่างขั้นต่ำของแกร็บคือ 40 บาท หายไปสองตัวก็ 80 บาท พอคิดอย่างนั้นเราเลยกลายเป็นจัดระเบียบชีวิตมากขึ้น เพื่อทำให้ได้ดีที่สุด เตรียมตัวให้ดีที่สุด เพื่อให้การขี่รถของเราไม่ขาดตอน” คุณชวลิต กล่าว
ถ้าล้มก็แค่ลุก แต่อย่าหยุดเดิน
เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ คุณชวลิต ได้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า “ผมบอกตัวเองเรื่องปรับตัว คือเราล้มได้ แต่เราห้ามตายกับเหตุการณ์นี้ คนเราล้มได้ แต่จะลุกแล้วเดินต่อไปยังไงให้เร็วด้วยตัวเอง ที่ตัดสินใจขับแกร็บเต็มตัว เพราะคิดว่าถ้าไม่ทำ อยู่บ้านเฉยๆ แล้วค่าใช้จ่ายผมล่ะ ถ้าเราฟูมฟายไม่ทำอะไร ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำไฟผมล่ะ ค่าห้อง ค่ากินแต่ละวันจะทำยังไง ไม่มีใครช่วยเราได้ สุดท้ายเราต้องช่วยตัวเอง ผมไม่ได้บอกว่าสำหรับใครที่กำลังล้มให้มาขับแกร็บนะ แต่หมายถึง ให้ลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าเราทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอใคร”
“ถามว่า ออกมาทำงานขี่รถทั้งวันแบบนี้เหนื่อยไหม แน่นอนว่าเหนื่อย แต่ผมถือว่าที่เราได้ออกมาทำอะไรแบบนี้ ก็เป็นโอกาสได้ทำในสิ่งที่หลายๆ คนไม่มีโอกาสได้ลอง งานทุกอย่างถ้าเราเข้าใจและรู้หลักของการทำงานมันก็จะง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทำอาหาร หรือขี่รถส่งของส่งอาหาร เราก็ต้องศึกษาหลักหรือแก่นของมันก่อน ว่ามันคืออะไร และเราต้องทำตัวยังไง จากที่วิ่งไม่เป็นก็เข้าใจมันมากขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น แถมผมยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว เวลาขี่รถ ผมไม่ได้แค่มองทางอย่างเดียว แต่จะมองไปรอบๆ ด้วย ผมได้เห็นว่าร้านอาหารสมัยนี้ทำอะไรกันอยู่ แบบไหนดีแบบไหนไม่ดี ทำให้ได้ความคิดใหม่ๆ ไม่แน่หากว่าผมมีโอกาสมีธุรกิจของตัวเองในอนาคต ผมก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้” คุณคมสัน กล่าวทิ้งท้าย
แม้ว่าอนาคตอาจเป็นเรื่องไม่แน่นอน ตราบใดที่ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าตอนจบของสมรภูมิโควิดจะอยู่ที่ใด แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ก็คือการปรับตัวไปตามสถานการณ์และวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ และขอเป็นกำลังใจให้กับใครที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้ ให้สามารถเอาชนะกับความท้าทายเบื้องหน้า เติบโตจากปัญหาและก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งกว่าเดิม