ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

การค้าในกลุ่ม CLMVT คึกคัก แนะจับมือยกระดับธุรกรรมดิจิทัล

Money2Know
เผยแพร่ 16 ส.ค. 2561 เวลา 11.05 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ผู้แทน CLMVT เผยการค้าผ่านดิจิทัลเริ่มคึกคัก แนะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างมาตรฐานอีคอมเมิร์ซ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการค้าดิจิทัลในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

กระทรวงพาณิชย์จัดงาน CLMVT Forum 2018 ทะยานสู่อนาคตด้วยการใช้เทคโนโลยี ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ”ระบบนิเวศการค้าดิจิทัล สิ่งที่ต้องทำคืออะไร?”โดยมี H.E. Dr.Than Myint รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมียนมา,Mr.Jojo Malolos ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเฉพาะทาง วิง(กัมพูชา) จำกัด,

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดร.สันติธาร เสถียรไทย หัวหน้าเศรษฐกรกลุ่ม บ.ซีลิมิเตด,Mr.Nagesh Devata หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาขาและหุ้นส่วน บ.เพย์พาล ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บ.แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด

ภูมิภาค CLMVT ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย เป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสทางการค้า และยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประเทศสมาชิกทั้ง 5 จึงเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าควรมีการจัดประชุมหารือต่อเนื่องกันทุกปี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางความผันผวนของเทคโนโลยีที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาในยุคปัจจุบัน

สถานการ์การค้าดิจิทัลเมียนมา-กัมพูชา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

H.E. Dr.Than Myint กล่าวว่าสถานการณ์การค้าดิจิทัลในเมียมา ตอนนี้กำลังได้รับการดูแลจากภาครัฐเป็นพิเศษ เพราะว่าหลายๆบริษัทเริ่มดำเนินกิจการอีคอมเมิร์ซกันบ้างเเล้วแบบไม่เป็นทางการ รัฐบาลเมียนมาจึงพยายามจะดึงผู้ประกอบการเหล่านี้ให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบที่รัฐบาลเมียนมาสามารถดูเเลได้ ซึ่งจะมีการอำนวยการในเรื่องความสะดวกต่างๆให้กับบริษัทที่ทำอีคอมเมิร์ซ

ที่ผ่านมาในเมียนมานิยมการค้าขายผ่านเฟซบุ๊คกันเป็นส่วนใหญ่ และสถานการณ์ปัจจุบันประชากรเมียนมาสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ถึง 80% ซึ่งเหตุผลที่เฟซบุ๊คเป็นที่นิยมน่าจะมาจากสาเหตุที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างเสรี เนื่องจากว่าที่ผ่านมาชาวเมียนมามักถูกปิดกั้นทางความคิดจากรัฐบาลทหาร

จากสภาวะที่การค้าดิจิทัลกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้รัฐบาลเมียนมามีแผนที่จะจัดตั้งสมาคมการค้าดิจิทัลขึ้นภายในประเทศ สำหรับเป็นองค์กรการค้าที่จะเข้ามาควบคุมเเลและให้คำปรึกษาด้านต่างๆในการทำการค้าดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการเเละประชาชนที่สนใจ ซึ่งจะทำให้การค้าดิจิทัลในเมียนมาเกิดความเสรีและมีความง่ายต่อการเข้าถึงสำหรับทุกคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Mr.Jojo Malolos เผยว่า ที่กัมพูชามีแหล่งการเงินที่ดำเนินงานให้กู้ โดยมีการจ่ายเงินกู้ซึ่งมีการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของธนาคารลงได้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว 10 ปีที่เเล้วบริษัทวิง เริ่มให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลจากแนวคิดการเห็นประชากรส่วนใหญ่มีมือถือ

มือถือเป็นตัวกลางสำคัญที่จะสามารถให้ทุกคนทำธุรกรรมที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายชาตินำไปใช้เเละประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่ของโลกก็ใช้มือถือเป็นอุปกรณ์ในการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลเเล้วทั้งนั้น

ทั้งนี้ทางกัมพูชาเองก็ได้ออกกฎหมายควบคุมเรื่องนี้เเล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทางกัมพูชากำลังทำอย่างต่อเนื่องคือการเร่งให้ความรู้เรื่องดังกล่าวกับประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศ โดยใช้เฟซบุ๊คเข้ามาเชื่อมโยงการให้ความรู้เเละแระชาสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งนี้การขายของออนไลน์ในกัมพูชาเริ่มเป็นที่สนใจของประชากรในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

สมาร์ทโฟนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กล่าวว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้กับการค้าแบบดิจิทัลคือความต้องการของตลาดคืออะไร และข้อจำกัดมีอะไรบ้าง สำหรับสิ่งสำคัญหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะมีส่วนสำเร็จกับการค้าดิจิทัลคือการเข้าถึงระบบดิจิทัล

ถ้าหากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลได้การค้าของระบบนี้ก็ล้มเหลว แต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวจะถูกมองข้ามไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้วเพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบดิจิทัลได้ง่าย

และการค้าแบบดิจิทัลก็พลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วยเต็มๆ ซึ่งปัจจุบันคนทำธุรกกรมผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนทั้งนั้น สำหรับการเข้าถึงข้อมูลในยุคดิจิทัลแบบนี้สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เเละความเข้าใจกับประชากร ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจในระบบดังกล่าวรวมไปถึงวิธีใช้งาน และข้อดีข้อเสียต่างๆที่อาจตามมาเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วย

สูตรสำเร็จคือสร้างความไว้ใจ

Mr.Nagesh Devata เปิดเผยว่า การทำการค้าดิจิทัลสิ่งสำคัญคือความไว้เนื้อเชื้อใจกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ในธุรกิจขนาดเล็กมักไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจสักเท่าไร เพราะผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้และความเข้าใจในการทำธุรกิจบนดิจิทัล ซึ่งทำให้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้านอกพรมแดนตนเอง

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กควรตระหนักอยู่เสมอว่ามีกฎระเบียบข้อบังคับอะไรบ้างซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กประสบความสำเร็จ ซึ่งความไว้วางใจก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจดิจิทัล

เมื่อไรก็ตามที่ผู้ประกอบการทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าบริการของผู้ขายดีจริงก็จะเป็นบันไดขั้นแรกในการไต่ไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งที่เหลือก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบการจะต้องไปต่อยอดกันต่อไปว่าจะให้ธุรกิจของตนเองเดินหน้าไปทางไหนต่อ ซึ่งถ้าเกิดความไว้ใจเมื่อไรก็จะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้เกิดการซื้อขายผ่านดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต

ทำอย่างไรให้การค้าดิจิทัล CLMVT ยกระดับไปอีกขั้น

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กล่าวว่าปัจจุบันการค้าขายแบบดิจิทัลยังคงมีปัญหาและอุปสรรคสำหรับธุรกิจขนาดเล็กกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะหากต้องการขยายธุรกิจส่วนใหญ่ก็ต้องพึ่งพาเงินกู้จากธนาคาร แต่ก็จะเกิดปัญหาตรงที่ว่า

ธนาคารจะไม่มีข้อมูลการค้าของผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่ภาครัฐบาลต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการเสียภาษีจากผู้ค้าบางรายอีกด้วย

นอกจากความไว้วางใจที่เป็นสิ่งสำคัญในการทำการค้าดิจิทัลอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญในตลาดไทยนั่นคือกฎการเก็บภาษีไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ ต้องมีระบบควบคุมที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บสถิติหรือการควบคุมที่จริงจัง แต่ปัจจุบันมีการนำระบบเก็บข้อมูลเข้ามาใช้

ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายว่ามีรายได้เท่าไรสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย นั่นจะส่งผลไปถึงการเสียภาษี ซึ่งต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรที่จะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าสู่ระบบและเปิดเผยข้อมูลของตัวเอง ถ้าหากไม่มีการแก้ไขผู้ประกอบการรายย่อยก็จะดำเนินกิจการแบบไม่จ่ายภาษีต่อไปเรื่อยๆ

ขณะที่ H.E. Dr.Than Myint กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การที่จะยกระดับการค้าดิจิทัลในกลุ่มประเทศ CLMVT ประเทศสมาชิกต้องหันมาให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในแง่การขนส่งรวมไปถึงด้านต่างๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลของทั้ง 5 ประเทศต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เช่นมีการหารือประจำเดือนสำหรับกำหนดทิศทางให้ทั้ง 5 ประเทศเข้าใจและดำเนินการไปในทางเดียวกัน

จึงจะเป็นการยกระดับการค้าดิจิทัลในกลุ่ม CLMVT แบบยั่งยืน ที่ผ่านมาการค้าแบบอีคอมเมิร์ซยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางประเทศในกลุ่ม CLMVT และมักประสบปัญหากับเรื่องดังกล่าวอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าการที่ประสบปัญหาก็ยังเป็นเรื่องที่ดีอยู่บ้าง

เพราะจะได้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับบางประเทศที่อาจกำลังจะเจอปัญหากับที่บางประเทศได้ประสบไปก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดการทำอีคอมเมิร์ซควรมีกฏข้อบังคับต่างๆชัดเจนในการเข้ามาดูแลทั้งระบบไม่ให้ประสบปัญหา

ดูข่าวต้นฉบับ