ไลฟ์สไตล์

ไม่ได้ทำในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY
เผยแพร่ 01 ก.ค. 2562 เวลา 09.59 น.

หลายคนชอบมองที่ความสำเร็จของคนอื่น ไม่มองภาพเบื้องหลังความสำเร็จที่รองรับด้วยความลำบาก มองเห็นความหอมหวนของชื่อเสียงเงินทอง แต่มองไม่เห็นหยาดเหงื่อและน้ำตาที่เป็นฐานรากของความสำเร็จนั้น

เราเห็นภาพชื่อเสียงของนักเขียน สตีเฟน คิง เจ. เค. โรว์ลิง ฯลฯ แต่เราอาจไม่รู้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เราเห็นภาพ เจ. เค. โรว์ลิง เป็นนักเขียนที่รวยที่สุดคนหนึ่งของโลก หนังสือของเธอถูกสร้างเป็นหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า มีผู้อ่านเข้าคิวรอซื้อหนังสือเล่มใหม่ของเธอ แต่เราไม่เห็นด้านที่เธอเหนื่อยยากเขียนหนังสือเงียบๆ คนเดียวขณะท้องหิว

เจ. เค. โรว์ลิง เขียนหนังสือทั้งที่แทบไม่มีกิน เธอเป็นแม่คนเดียวที่ต้องเลี้ยงลูก ไม่มีงานทำ อยู่ด้วยเงินสวัสดิการสังคม 

เธออุ้มทารกไปเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟ เมื่อเขียน Harry Potter and the Philosopher’s Stone จบ มันถูกสำนักพิมพ์สิบสองแห่งปฏิเสธ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่เธอก็เขียนต่อไป

นักเขียนเรื่องสยองขวัญ สตีเฟน คิง รักการเขียนหนังสือมาแต่เด็ก แต่หนทางเป็นนักเขียนโรยด้วยหนามตลอดทาง

เขาต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง เพื่อเป็นค่าเรียนและเขียนหนังสือตามความฝัน ทำงานเป็นภารโรง เด็กปั๊มน้ำมัน คนงานซักล้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เขาส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต่างๆ พิจารณา และได้รับจดหมายปฏิเสธมากมาย จนต้องหาวิธีเก็บจดหมายปฏิเสธเหล่านั้น

นานปีหลัง ในหนังสือเรื่อง On Writing เขาเล่าว่า “ตอนที่ผมอายุสิบสี่ ตะปูบนกำแพงห้องของผมไม่สามารถรับน้ำหนักจดหมายปฏิเสธได้ ผมเปลี่ยนตะปูเป็นเหล็กยาว แล้วเขียนต่อไป”

หลังจากถูกปฏิเสธไปหกสิบครั้ง เรื่องสั้นเรื่องแรกของคิงก็ได้รับการตีพิมพ์ ชื่อ The Glass Floor ได้ค่าเรื่อง 35 ดอลลาร์ ตอนนั้นอายุยี่สิบ

สตีเฟน คิง แต่งงานเมื่ออายุยี่สิบสี่ เขากับภรรยาต่างเป็นนักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่ ไม่มีบ้าน อาศัยอยู่ในรถเทรลเลอร์ ทำงานทุกอย่างเพื่อหารายได้มารองรับการเขียนหนังสือ

ทั้งสองยากจนมาก ไม่มีโทรศัพท์ เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าโทรศัพท์รายเดือน

ช่วงหนึ่งเขาเขียนร่างแรกของนวนิยายเรื่องแรก Carrie แล้วโยนลงถังขยะ เพราะหมดกำลังใจ ภรรยาเขาหยิบมันกลับมา และบอกให้เขาเขียนให้จบ

นวนิยาย Carrie ผ่านการปฏิเสธหลายครั้งจนในที่สุดเขาก็ขายมันได้อย่างทุลักทุเล มันเปิดทางให้เขามีชื่อเสียง เป็นนักเขียนยอดนิยมในที่สุด

……………

นักเขียนจำนวนมากในโลกทำงานเหนื่อยยาก มุ่งหวังไปสู่จุดหมายคือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ

ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ นักประพันธ์ระดับโลก ในวัยเด็กต้องออกจากโรงเรียน เมื่ออายุสิบสองทำงานวันละสิบชั่วโมงในโรงงาน แต่ก็ทำงานเขียนอย่างหนักจนประสบความสำเร็จ

ชีวิตของ มายา แองเจลู ก็เหมือนชื่อหนังสือที่เธอเขียน I Know Why the Caged Bird Sings ลำบากแต่เด็ก ถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก ไร้บ้าน ตั้งท้องตอนวัยรุ่น ขายตัวเพื่อเลี้ยงชีพ หาเงินเลี้ยงลูก ต่อมาเป็นนักร้องและนักเต้น แล้วหันไปเขียนหนังสือ จนประสบความสำเร็จ

อ็อคตาเวีย บัตเลอร์ เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (dyslexia) แต่เธออยากเป็นนักเขียนนิยายไซไฟ เธอทำงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงเพื่อเลี้ยงชีพ ตั้งแต่คนล้างจานไปจนถึงพนักงานในโรงงานทำมันฝรั่งกรอบ หาเช้ากินค่ำขณะที่เขียนหนังสือ เธอตื่นตอนตีสองตีสามเพื่อเขียนหนังสือ

งานที่เขียนถูกปฏิเสธปีแล้วปีเล่า แต่เธอก็เขียนต่อไป

ในที่สุดเธอก็กลายเป็นนักเขียนนิยายไซไฟที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งจนได้

คนเหล่านี้เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมหยุด

ไม่ได้เป็นนักเขียนในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า

เมื่อผมเริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ ทรมานอย่างยิ่ง กว่าจะเข็นแต่ละคำออกมา ยากเย็น ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทางเดียวคือเขียนๆๆๆ และมาดูว่าจะปรับปรุงมันได้อย่างไร หลังจากนั้นก็เขียนๆๆๆ

ส่งไปแล้วได้รับจดหมายปฏิเสธบ้าง หายเงียบไปบ้าง 

มันยากจริงๆ จนบางครั้งก็คิดว่ากำลังสู้ในสงครามที่ดูเหมือนเอาชนะไม่ได้

ผมเห็นตัวอย่างในแวดวงนักเขียนมามากพอกล้าสรุปว่า แทบทั้งหมดที่ไปไม่ถึงฝั่งเพราะเลิกกลางคัน 

ดังนั้นการพิสูจน์ว่าความฝันของเราจริงแค่ไหนคือถามตัวเองว่า มันถึงขนาด “ถ้าไม่ได้ทำในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า” หรือไม่

ปรัชญานี้ใช้ได้กับทุกความฝัน ทุกวงการ

ไม่ได้ทำในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า

ความเจ็บปวดอดทนต้องความเจ็บปวดเหนื่อยยากก็คือหัวใจของความสำเร็จ

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ โดยไม่ออกแรง ยิ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ ยิ่งต้องออกแรงมาก

เมื่อตะปูรับน้ำหนักของความล้มเหลวไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นเหล็กยาว แล้วก้มหน้าทำงานต่อไป

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ความเห็น 12
  • บทความนี้ทำให้ผมได้รู้ว่า ในการที่เราจะประสบกับในความสำเร็จกับในอาชีพที่ใจรักนั้นก็ควรที่จะต้องมีความอดทนให้มาก เพราะว่าในทุกๆสาขาอาชีพนั้นก็ย่อมที่จะต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคที่ไม่แตกต่างกันเสมอครับ.
    01 ก.ค. 2562 เวลา 11.47 น.
  • Anon. P
    ขอบคุณสำหรับข้อคิดครับ
    01 ก.ค. 2562 เวลา 11.19 น.
  • BomB
    ❤️🙏🏻
    01 ก.ค. 2562 เวลา 11.41 น.
  • ชอบงานเขียนของ ชาติ กอบจิตติ เรื่อง คำพิพากษา คำพูน บุญทวี เรื่อง ลูกอีสาน นิมิตร ภูมิถาวร แด่คุณครูด้วยคมแฝก รงค์ วงษ์สวรรค์...... ฯลฯ
    01 ก.ค. 2562 เวลา 11.38 น.
  • yoohoo
    ชอบ​ประโยค​สุดท้าย​จัง​
    01 ก.ค. 2562 เวลา 14.05 น.
ดูทั้งหมด