ไลฟ์สไตล์

5 สาเหตุที่ทำให้ลูกเราเข้ากับเพื่อนไม่ได้

Mood of the Motherhood
อัพเดต 12 ก.ค. 2562 เวลา 11.43 น. • เผยแพร่ 12 ก.ค. 2562 เวลา 11.43 น. • Features

ความสัมพันธ์กับเพื่อน มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของลูก หลายครั้งเราพบว่า เด็กที่ไม่มีเพื่อน จะไม่มีความสุขในการไปโรงเรียน ส่งผลให้เรียนไม่ดี 

เด็กที่ถูกเพื่อนปฏิเสธบ่อยครั้ง อาจเกิดความรู้สึกไม่พอใจตนเองและสังคม ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีปัญหาดังกล่าว ควรรีบแก้ไขและหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะการไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน นอกจากจะมีผลต่อทักษะการเข้าสังคมแล้ว อาจทำให้เด็กเกิดความเครียด ส่งผลเป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคมในอนาคต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรหาสาเหตุที่ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

1. ลูกขาดทักษะด้านการเข้าสังคม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อาจเป็นเพราะลูกไม่ค่อยได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกันมาก่อน เมื่อเข้าโรงเรียนจึงไม่รู้วิธีการทำงานเป็นกลุ่ม การเข้าหาเพื่อน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมถึงการจัดการกับปัญหาที่เหมาะสม

วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมลูก ถ้ารู้ตัวล่วงหน้าว่าลูกอาจจะมีปัญหาตอนเข้าสังคม คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อมให้ลูกก่อนเข้าโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น พาลูกไปเพลย์กรุ๊ปเพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับเด็กวัยเดียวกัน หรือถ้าเตรียมความพร้อมไม่ทัน คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสพาลูกเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่มีเด็กวัยเดียวกัน และแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในการเข้าสังคมให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง

2. ลูกขาดความมั่นใจและไม่รู้วิธีเข้าหาเพื่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลูกรู้สึกอึดอัดหรือทำตัวไม่ถูกเมื่ออยู่ใกล้คนอื่น แม้แต่เพื่อนที่รู้จักกันมาพอสมควร ก็ยังลังเลในการแสดงความคิดเห็น เล่น หรือทำกิจกรรมร่วมกัน

วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จัดกิจกรรมหรือเล่นเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ เช่น ร้องเพลงประกอบการเต้น แสดงบทบาทสมมติ รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกพบกับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็กที่เล็กกว่าและโตกว่า เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การเข้าสังคมและรู้จักการปรับตัว

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ และสังเกตสถานการณ์อยู่ห่างๆ คอยให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม หากสังเกตว่าลูกยังไม่มีเพื่อนหรือไม่กล้าเข้าไปเล่นกับเพื่อน ไม่ควรกดดัน แต่ควรเข้าไปถามลูกว่าเป็นเพราะอะไร เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสม

3. ลูกขี้หงุดหงิดและไม่สามารถระงับอารมณ์โกรธได้

เด็กบางคนขี้โมโห เมื่อมีอารมณ์โกรธมักจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา ทำให้เพื่อนกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้

วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมลูก ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก พูดคุยอย่างเห็นอกเห็นใจ และให้คำแนะนำที่เหมาะสม

นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกเรียนรู้อารมณ์ดังนี้ เรียนรู้อารมณ์ตนเอง ด้วยการจับสัญญาณร่างกาย เช่น ใจเริ่มเต้นเร็ว มือเริ่มกำหมัดแน่น แสดงว่ากำลังรู้สึกโกรธ ให้เดินหลบจากสถานการณ์นั้น และเรียนรู้อารมณ์ผู้อื่น ด้วยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง คำพูด ว่าคนอื่นกำลังมีความรู้สึกอย่างไร และหยุดการกระทำที่เพื่อนไม่ชอบ รวมถึงฝึกให้ลูกรู้จักวิธีการสื่อสารและวิธีการเข้าสังคมด้วย

4. ลูกมีพฤติกรรมก่อกวนหรือน่ารำคาญ

ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็ไม่อยากสุงสิงกับคนที่จู้จี้จุกจิก เอาแต่ใจ ก่อกวน หรือชอบสร้างปัญหาเช่นกัน

วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมลูก สอนไหวพริบในการเข้าสังคมให้กับลูก เช่น หากลูกต้องการเล่นกับเพื่อนที่กำลังเล่นขายของ ลูกอาจขอเข้าไปเล่นด้วย โดยเสนอตัวเป็นลูกค้า แต่หากลูกเข้าไปหาเพื่อนด้วยท่าทางก้าวร้าว มีโอกาสที่ลูกจะถูกปฏิเสธ

หากลูกพยายามขอเล่น แต่เพื่อนปฏิเสธไม่ให้ลูกเล่น ไม่ควรดื้อดึง และเปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นแทน

5. ลูกมีความ ‘แตกต่าง’ จากคนอื่น

เด็กส่วนใหญ่มักมองคนที่มีร่างกายต่างจากตนเองว่าเป็นคนที่แปลกและแตกต่าง และเลือกที่จะคบหาแต่คนที่มีลักษณะเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น เด็กผู้ชายส่วนมากจะถูกปลูกฝังให้เข้มแข็ง ไม่ร้องไห้งอแงเมื่อมีเด็กผู้ชายร้องไห้เสียงดังในห้องเรียน ทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเด็กผู้ชายขี้แยเป็นเรื่องแปลก

นอกจากนั้น เด็กที่ฉลาดเกินไป หรือมีความสามารถเกินวัย ก็อาจเป็นอุปสรรคในการคบเพื่อน เพราะเด็กที่ฉลาดเกินไป จะมีความโดดเด่น โดยเฉพาะในด้านการพูด ทำให้เพื่อนไม่เข้าใจ รวมถึงเด็กที่ฉลาดเกินไป อาจสนใจแต่เรื่องเรียนจนขาดทักษะในการเข้าสังคม

วิธีเปลี่ยนพฤติกรรมลูก หากลูกมีแนวโน้มไม่มีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องค้นหาสาเหตุ และแก้ไขให้ตรงจุดอย่างเร่งด่วน

หากพยายามทุกวิธีแล้วลูกก็ยังไม่มีเพื่อน ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่เข้าร่วมกิจกรรม ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพราะลูกอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการอื่นๆ ที่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

อ้างอิง

Th.theasianparent

Taamkru

Trueplookpanya

Kodomoclub

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Tui
    กรำของเด็ก สุดท้ายโดนหาจิตแพทย์
    13 ก.ค. 2562 เวลา 05.28 น.
ดูทั้งหมด