ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'ยับยั้งชั่งใจ' ให้ได้ แล้วชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะ!

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 22 ต.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • nawa.
Human photo created by azerbaijan_stockers - www.freepik.com

เคยไหม? อยากได้ของสิ่งหนึ่งมาก ๆ เก็บเอาไปนอนคิดทุกคืน แต่สุดท้ายไม่ซื้อ  

เคยไหม? โกรธใครสักคนสุด ๆ อยากจะสวนหมัดใส่หน้า แต่ไม่ทำ เพราะไม่อยากมีปัญหาระยะยาว 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เคยไหม? อยากทำอะไรสักอย่างใจจะขาด แต่ยังไม่ทำ กะว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวานดีกว่า 

สังเกตเห็นอะไรบ้างไหมในสถานการณ์ตัวอย่างทั้งหมด สิ่งที่เห็นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์, ความอดทน, สติ แต่จริง ๆ แล้วเราเรียกเจ้าอาการ ‘อยากทำใจจะขาด แต่ไม่ทำ’ นี่เรียกว่า ‘ความยับยั้งชั่งใจ’ 

หากจะพูดกันแบบง่าย ๆ การยับยั้งชั่งใจ มันคือการที่เรารู้จักควบคุมอารมณ์, ความสนใจ หรือพฤติกรรมในชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการในอนาคตนั่นเอง 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในวัยเด็ก เราสามารถสอนให้เด็ก ๆ รู้จักอดทน และยับยั้งชั่งใจได้ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การทดลองมาร์ชเมลโล่ (Stanford Marshmello Experiment) ก็คือ เราจะให้มาร์ชเมลโล่กับเด็กในช่วงวัยอนุบาลไว้ครอบครอง 1 ชิ้น โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าเด็กน้อยจะหยิบมันกินเลยก็ได้ แต่ถ้าสามารถอดทนรอ 15 นาทีโดยยังไม่กิน ก็จะให้มาร์ชเมลโล่เพิ่มอีก 1 ชิ้นไปเลย ซึ่งจากการทดลองก็พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่สามารถยับยั้งชั่งใจไม่เผลอหยิบมาร์ชเมลโล่กินไปซะก่อน แม้จะแอบเหลือบ ๆ จับ ๆ บ้าง แต่สุดท้ายการรอคอยก็ได้ผล!  

เห็นไหมล่ะว่าการรู้จักยับยั้งชั่งใจ และผลลัพธ์ของการรอคอยมันหอมหวานเสียยิ่งกว่าอะไร! 

ตัดภาพมาที่วัยผู้ใหญ่อย่างเรากันบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องจะกินหรือไม่กินมาร์ชเมลโล่ แต่ความสำคัญของความยับยั้งชั่งใจสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญในชีวิตประจำวันเลยนะ เราจึงมีคำแนะนำ 3 ข้อที่อยากให้ทุกคนท่องไว้เวลาต้องเจอกับเรื่องที่ต้องระงับยับยั้งใจ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ระงับอารมณ์

ทุกวันนี้รอบตัวมีสิ่งมากระทบจิตใจได้ง่ายและมากมายมหาศาล อย่างเรื่องการเมืองในบ้านเราตอนนี้ก็บอกเลยว่าดุเดือด บางคนอาจติดตามข่าวสารจนเกิดความเครียด ไม่สบายใจ โกรธ โมโห ร่างกายหรือวาจาอยากปะทะเต็มทน หากคนไหนไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ก็คงเกิดความโกลาหลทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ แต่หากใครสามารถยับยั้งชั่งใจได้ ไม่ใช้อารมณ์ฟาดฟัน ถกเถียงพูดคุยกันด้วยเหตุผล ทิ้งความโกรธลงถังขยะไป หรือแล้วแต่วิธีสงบใจของแต่ละคนที่จะงัดกันขึ้นมาใช้ ก็ขอให้สบายใจได้ว่า เราคือคนที่สามารถควบคุมตนเองได้ดีแล้ว

รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่นในเวลาทำงาน อาจจะต้องร่วมงานหรือเจอสถานการณ์ที่ไม่สบอารมณ์ ไม่ถูกใจ จนอยากจะตอบโต้ให้มันจบลงอย่างเร็ว แต่เชื่อเถอะว่าไม่เกิดผลดีในระยะยาวแน่ การอดใจแล้วใช้สติบวกกับเหตุผลในการแก้ปัญหาตรงหน้าย่อมดีกว่าการปะฉะดะแน่นอน 

ลิมิตความอยาก

ไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์ความคิด ในหลาย ๆ พฤติกรรมของเราเองก็ต้องการความยับยั้งชั่งใจเหมือนกัน อย่างเช่น ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยคล่องตัวแบบนี้ หากเราอยากได้อยากมีอะไรก็อาจจะต้องใช้ความยั้งคิด ไตร่ตรองการใช้จ่ายเงินให้มากขึ้นกว่าเดิม อยากได้กระเป๋า แต่ต้องอดทนเก็บเงิน หรือไม่ก็ตัดใจซะ เพราะว่าอย่างอื่นจำเป็นกว่า ต้องเก็บเงินเผื่อฉุกเฉินในอนาคต หากวันใดวันหนึ่งมีสภาพคล่องมากกว่านี้ ค่อยกลับมาซื้อก็ได้ยังไม่สายไป

อดทนเวลาที่ฝนพรำ

มาเรื่องสบาย ๆ กันบ้าง ตัวอย่างการใช้ความยับยั้งชั่งใจที่เห็นได้บ่อยคือ การลดน้ำหนัก ใครที่เคยเข้าสู่กระบวนการของการลดน้ำหนักจะเข้าใจดีว่าแต่ละนาทีผ่านไปมันไม่ง่าย ไม่ว่าจะต้องเลือกกินแต่ของที่มีประโยชน์ ห้ามใจไม่ให้ซื้อชาไข่มุก ซื้อเค้ก เวลาเดินผ่านร้านโปรดก็ต้องทำเป็นเมิน ไม่มอง กัดปากแน่นสุด รวมไปถึงต้องอดทนออกกำลังกายตามเทรนเนอร์เผื่อให้ได้ผลลัพธ์ของสุขภาพแบบที่ดีที่สุด ทุกอย่างต้องผ่านการยับยั้งชั่งใจมากมายถึงจะประสบผลสำเร็จ และเมื่อถึงวันนั้นก็พบว่า การอดทนยับยั้งใจมันสุดจะคุ้มเลยล่ะ

อย่างที่บอกไปแล้วว่าการรู้จักระงับยับยั้งใจมีประโยชน์ในทุก ๆ เรื่องราวในชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่ที่ยกตัวอย่างให้ได้อ่านกันเท่านั้น ต่างคนก็ต่างมีเรื่องราวที่ต้องนำไปประยุกต์ใช้กัน และไม่ว่าอย่างไรก็ขอให้ทุกคนผ่านไปได้

สุดท้ายแล้วจะขอทิ้งท้ายประโยคเชย ๆ ว่า ชนะอะไรก็ไม่ภูมิใจเท่าชนะใจตัวเอง จริงไหมล่ะคะ 

.

ขอบคุณข้อมูลจาก britannica.com

.

ความเห็น 11
  • Yongyuth
    คุณธรรม 4 ประการ เพื่อยับยั้งชั่งใจ ก็คือสัจจะ หรือความจริง ที่ต้องยอมรับ ให้ได้ว่าทุกอย่าง ไม่มีทาง เป็นไปตามความหวัง ได้เสมอไป ตามกฎอนิจจังทุกขังอนัตตา ข้อ 2 ทมะ คือความข่มใจ ไม่ให้ปล่อยไปตามความอยาก ของอารมณ์ มันอยากได้ เราจะไม่ให้ตามใจมัน คือกิเลสตัณหานั่นเอง ข้อต่อไปก็คือ ขันติ ความอดทนอดกลั้น เวลาประสบการณ์วิบากกรรม อันเป็นทุกข์ ที่เกิดจากบาปในอดีต ที่เคยทำมา เราต้องใช้ขันติ รอเวลา จนกว่าทุกข์นั้นจะผ่านไป และข้อที่ 4 คือจาคะ คือการเสียสละ สละอารมณ์โลภ โกรธหลง กลัว ออกไปจากจิตใจ คือให้ทาน
    23 ต.ค. 2563 เวลา 05.24 น.
  • Pattie
    ชนะทุกคนยกเว้นใจตัวเอง👍
    23 ต.ค. 2563 เวลา 10.46 น.
  • ถ้าต้องทนอะไรนานเกินไปมันก็สุดทางแล้วเหมือนกัน
    23 ต.ค. 2563 เวลา 04.04 น.
  • 🏪Ⓜ️
    พูดง่าย...แต่ทำยาก😥😥😥
    23 ต.ค. 2563 เวลา 14.02 น.
  • คะน้าโตเกียวเนยสด👏👏
    คนคิดได้ ก็คือ คนคิดได้ คนทำไม่ได้ และไม่ทำ เอาอะไรมาบอก มาห้าม ก็ไม่สนใจอยู่ดี 😅😅😅 บางคนเข็ดกับผลของการกระทำก็แล้วไป แต่บางคนไม่ขยาดกับผลที่ได้รับเลยทำจนเป็นนิสัย
    23 ต.ค. 2563 เวลา 15.44 น.
ดูทั้งหมด