ไลฟ์สไตล์

ชีวิตอาภัพของ "ขันที-นางใน" จากจีนโบราณ และที่มาของคำเรียกตำแหน่ง "มาม่า"

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 02 ต.ค. 2566 เวลา 02.47 น. • เผยแพร่ 30 ก.ย 2566 เวลา 01.33 น.
ภาพประกอบเนื้อหา - นางในจากวังต้องห้ามจีน (ภาพจากหนังสือ

ชีวิตอาภัพของ “ขันที” และ “นางใน” จากจีนโบราณ ใน “พระราชวังต้องห้าม” และที่มาของคำเรียกตำแหน่ง “มาม่า”

วัง ที่หรูหราอลังการกินพื้นที่กว้างใหญ่ อาจทำให้องค์จักรพรรดิหรือชนชั้นสูงได้รับความสะดวกสบายอย่างมากในยุคที่จีนยังปกครองโดยจักรพรรดิ แต่แน่นอนว่า อีกด้านหนึ่ง บุคลากรจำนวนไม่น้อยที่เป็นเหมือนฟันเฟืองซึ่งขับเคลื่อนให้วังต้องห้ามผ่านไปในแต่ละวันได้ กลับไม่ได้มีชีวิตกันอย่างสุขสบายนัก หากไม่สามารถไต่เต้าหรือคว้าโอกาสเข้าไปถวายงานใกล้ชิดกับชนชั้นสูง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นางใน : หนี่ว์กวน และ กวนหนี่ว์จือ

พระราชวังต้องห้าม ในจีนผ่านยุคสมัยมาหลายราชวงศ์ สถิติจำนวนบุคลากรถูกบันทึกไว้และปรากฏตัวเลขที่น่าสนใจ อาทิ บันทึกในรัชศกคังซีปีที่ 49 จักรพรรดิตรัสว่า นางกำนัลสมัยราชวงศ์หมิงมีถึง 9,000 คน ขันทีอีก 100,000 คน อาหารการกินไม่พอแจกจ่าย หวังอีเฉียว ผู้เขียนหนังสือ“เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม” อ้างอิงบันทึกสมัยจักรพรรดิเสินจง ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า มี “นางใน” ประมาณ 1,500 คน ขณะที่ในราชวงศ์ชิง รัชศกซุ่นจื้อปีที่ 2 อัครเสนาบดีตัวเออร์กุ่น เคยถามราชบัณฑิตถึงเรื่องจำนวนนางในสมัยราชวงศ์หมิง โดยประเมินว่า มีประมาณ 1 พันเศษ

หากย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์หมิง ระบบนางในที่เป็นหญิงพิธีการ หรือที่เรียกว่า “หนี่ว์กวน” และ “กวนหนี่ว์จือ” ซึ่งมาทำหน้าที่อ่านประกาศราชโองการแต่งตั้งบุคคล มีระบบที่เข้มงวด ระบบการคัดเลือกก็มีหลากหลาย แต่ครอบครัวขุนนางปัญญาชนก็มักส่งบุตรสาวเข้าวังเพื่อเป็นหนี่ว์กวน หากมีความสามารถโดดเด่นย่อมมีโอกาสเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งหน้าที่สำคัญ โดยรวมแล้วการเลื่อนขั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ความรู้ อุปนิสัย การอบรม และประสบการณ์ชีวิต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อนางในแสดงความสามารถให้ราชสำนักเห็นแล้ว หนี่ว์กวน ที่อายุมากแล้วจะมีโอกาสเป็นนางในอาวุโส จากบันทึกทางประวัติศาสตร์แล้ว จะพบเห็นการเรียกนางในอาวุโสว่า “เน่ยถิงเหล่าเล้า” หรือเรียกกันแบบติดปากว่า เหลาเหล่า หรือเหล่าเล้า เหล่าเล้านี้เองจะเป็นผู้คอยรับใช้ปรนนิบัติจักรพรรดิ โดยในสมัยนั้นมีคติว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายสางพระเกษาให้จักรพรรดิทุกเช้า ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดขั้นหาที่เปรียบไม่ได้ทีเดียว

“ก่วนเจียโผว” (แม่บ้าน) และ “แม่บ้านใหญ่”

หวังอีเฉียว อ้างอิงบันทึก “ชิวเติงลู่” ของเสิ่นหยวนชิน สมัยราชวงศ์ชิงที่ระบุว่า นางในผู้สางพระเกษาให้จักรพรรดิมีตำแหน่งสูงสุด เรียกกันว่า “ก่วนเจียโผว” (แม่บ้าน) โดยรวมแล้วตำแหน่งก่วนเจียโผว จะมีกันทุกตำหนัก ทำหน้าที่กวดขันกิริยาวาจาของนางใน ตำแหน่งกลุ่มนี้มีผู้บังคับบัญชาเรียกว่า “ต้าก่วนเจียโผว” (แม่บ้านใหญ่)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม่บ้านใหญ่นี้มีตำแหน่งสูงศักดิ์ เห็นได้จากการแต่งกายที่แตกต่างจากนางในธรรมดาทั่วไป ต้าก่วนเจียโผว จะแต่งผมแบบเกล้ามวยผม ประดับปิ่นทองและมุกสองข้าง ข้างหนึ่งมีผ้าบางสีดำคลุมไว้ แม่บ้านใหญ่ตำแหน่งนี้มีหน้าที่กำกับดูแลงานในตำหนัก หรือดูแลตำหนักองค์หญิงทั้งหมด เมื่อฐานะสูงขึ้นก็มีอำนาจมากขึ้น หวังอีเฉียว บรรยายว่า ถ้าได้รับใช้ราชโอรส เมื่อองค์ชายเจริญวัยหรือขึ้นครองราชย์จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นฮูหยิน เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งสูงส่ง เป็นรองพระชายาและพระสนมเท่านั้น

พูดถึงการไต่เต้าทางตำแหน่งเพื่อไปสู่สถานะทางอำนาจในวังต้องห้าม อาจทำให้เห็นความยากลำบากในวิถีชีวิตสำหรับคนที่ไม่มีต้นทุนทั้งทางภูมิหลังและโอกาสต่างๆ มากพอ หากสนมไม่เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิ หรือบางครั้งก็มีกรณีที่ถูกบีบให้ฆ่าตัวตาย คนที่ประสบชะตากรรมลงเอยแบบน่าหดหู่ เรื่องราวไม่ได้จบลงแค่ผู้ประสบภัย หวังอีเฉียว บรรยายว่า นางในใต้สังกัดที่มีตำแหน่งต่ำกว่าหรือคนรับใช้ก็ต้องรับชะตากรรมอันเลวร้ายตามไป

“มาม่า”

ในสมัยราชวงศ์ชิงที่สืบต่อมาจากราชวงศ์หมิงได้ปรับปรุงระบบบางประการแล้ว ในสมัยนี้เองมีตำแหน่งที่เรียกว่า “มาม่าหลี่” เป็นคำที่ถอดเสียงมาจากภาษาแมนจูว่า Mamari

ฮาเนดะ โทรุ และยะมะดะ ทซึเนโอะ นักวิชาการญี่ปุ่น อธิบายสอดคล้องกันว่า Mamari เป็นคำพหูพจน์ของ Mama (มามา/มาม่า) ซึ่งแปลว่าคุณย่า และยังหมายถึงแม่เฒ่า ใช้เรียกหญิงอายุมากกว่าแบบยกย่อง กล่าวได้ว่าในภาษาแมนจูใช้เป็นคำเรียกนางในอาวุโส ในราชวงศ์ชิงตำแหน่ง “มาม่าหลี่” และ “ก่วนเจียโผว” ยังมีบทบาทต่อชีวิตคนในราชสำนัก หวังอีเฉียว ระบุด้วยว่า จักรพรรดิราชวงศ์ชิงให้ความเคารพและเมตตาต่อมามาหลี่ ที่ปรนนิบัติรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างดีด้วย

เหอหรงเอ๋อ

เรื่องราวเกี่ยวกับนางในช่วงปลายราชวงศ์ชิงที่น่าสนใจ ยังมีปรากฏในบันทึกความทรงจำของเหล่าขันทีและนางใน ซึ่งเขียนขึ้นหลังสถาปนาจีนใหม่ ทำให้เห็นภาพการใช้ชีวิตของชาววังได้พอสมควร กรณีหนึ่งคือหนังสือ “กงหนี่ว์ถานหวั่งลู่” อันเป็นบันทึกเรื่องเล่าจากความทรงจำของหรงเอ๋อ นางในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ซึ่งนักวิชาการด้านการศึกษาและวรรณกรมนามว่า “จินอี้” และ “เสิ่นอี้หลิง” เรียบเรียงขึ้นใหม่ เป็นอีกหนึ่งบันทึกประสบการณ์ของคนในที่มีสีสันแตกต่างจากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์

เหอหรงเอ๋อ เป็นนางในที่ติดตามรับใช้ พระนางซูสีไทเฮา ซึ่งหวังอีเฉียว นิยามว่า ชีวิตของเธอสะท้อนสภาพชีวิตนางในช่วงปลายราชวงศ์ชิง เธอถูกคัดเลือกเข้าในวังตอนอายุ 13 ปี โดยทำงานรับใช้พระนางซูสีไทเฮาในตำหนักฉู่ซิ่ว เป็นตำหนักที่มีกฏเกณฑ์เข้มงวดส่งผลให้นางในต้องทำงานปัดกวาดเช็ดถูจิปาถะเป็นพิเศษ และยังต้องรักษาสภาพการแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย

บันทึกระบุว่า พระนางซูสีไทเฮา ให้เหอหรงเอ๋อ แต่งงานกับขันทีแซ่หลิว ซึ่งเป็นบุตรอุปถัมภ์ของหลี่เหลียนอิง ผู้เป็นหัวหน้าขันที งานแต่งงานของนางในผู้นี้ยังออกมาหรูหรา พระนางซูสีไทเฮาทรงพระราชทานสินสอดมากถึง 8 หีบ ข้างในบรรจุเงินทองและเครื่องประดับเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ชีวิตการแต่งงานของทั้งคู่ดำเนินไปได้ไม่นาน ด้วยความที่ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักสัมพันธ์กันมาก่อน หลังจากนั้น สามีของเหอหรงเอ๋อติดฝิ่นอย่างหนัก ทั้งคู่ลงเอยด้วยการหย่ากัน เหอหรงเอ๋อ กลับไปอยู่กับครอบครัวตามเดิม

หวังอีเฉียว บรรยายว่า บันทึกชีวิตของเหอหรงเอ๋อ ยังอยู่ในระดับไม่ย่ำแย่มากนักแล้ว

ขันที

นอกเหนือจากนางในสมัยราชวงศ์ชิง อีกหนึ่งบุคลากรในพระราชวังต้องห้ามคือ “ขันที” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่ไม่ค่อยมีหลักประกันในชีวิต หากขันทีป่วยจะให้ขับออกจากวังเป็นสามัญชน นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องดิ้นรนใช้ชีวิตทำกินกันเอาเอง สถานะทางสังคมหลังจากออกจากวังก็ไม่เหมือนราษฎรทั่วไปย่อมหาเลี้ยงชีพได้ลำบาก

ซูเผยเซิ่ง

อีกหนึ่งขันทีที่สะท้อนสภาพชีวิตของขันทีซึ่งมักมาจากครอบครัวยากไร้คือ ซูเผยเซิ่ง ผู้มีฐานะยากไร้ อยู่ในอำเภอต้าซิง เมืองซุ่นเทียน ทำหน้าที่จนไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้าขันที ซูเผยเซิ่งเคยเป็นคนรับใช้ในจวนองค์ชายก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้ง ช่วงเวลานี้เขาทำงานแข็งขัน กลายเป็นหัวหน้าขันทีทรงอิทธิพล องค์จักรพรรดิไว้วางพระทัยผู้นี้มาก แต่ไม่วายถูกองค์ชายและราชนิกูลฟ้องร้องเมื่อทำงานแล้วมีข้อบกพร่องแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม และยังโดนจักรพรรดิตำหนิ

เหตุการณ์เกี่ยวกับขันทีที่เกิดขึ้นบ่อยในวังคือ คดีขันทีหนีออกจากวัง หวังอีเฉียว บรรยายว่า คนในวังไม่มีสิทธิ์ส่งจดหมายถึงครอบครัวโดยไหว้วานให้คนนำจดหมายออกจากวัง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มักเกิดคดีขันทีหนีออกจากวัง หากสำเร็จก็แล้วกันไป แต่หากล้มเหลวมักถูกลงโทษโบยอย่างหนัก

ขันทีที่ถูกจับได้ในครั้งแรกจะถูกส่งกลับวังแล้วลงโทษ หัวหน้าขันทีจะสั่งโบย 60 ไม้ และยังถูกดุด่าว่ากล่าว แล้วถูกส่งให้ไปดายหญ้าที่อู๋เตี้ยนและภูเขาอ้งซาน เป็นเวลา 1 ปี

หากยังหลบหนีซ้ำอีก คราวนี้จะถูกลงโทษเพิ่มอีกเท่าตัว เช่นดายหญ้า 2 ปี หลังพ้นโทษแล้วจะไม่ถูกส่งกลับที่เดิม แต่ถูกส่งให้ทำงานเป็นคนรับใช้ที่เขตทางเข้าในวังและที่อื่นรอบนอกวัง

กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดนี้อาจทำให้ขันทีหวาดกลัว แต่สำหรับคนที่ไม่หวาดหวั่นและดึงดันต่อไปก็มักทำให้เกิดระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างขุนนางแมนจูหรือทหารรักษาวัง เมื่อมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นก็มักไหว้วานให้ช่วยทำงานได้

บั้นปลายของขันทีและนางในที่ปฏิบัติหน้าที่ในพระราชวังต้องห้ามอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันตามยุคสมัย แต่โดยทั่วไปแล้ว สภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านี้คงมีบางช่วง (หรือไม่ว่าอาจหลายช่วงชีวิตด้วยซ้ำ) ที่พอจะอธิบายด้วยคำว่า “อาภัพ” ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

หวัง, อีเฉียว. เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม. ชาญ ธนประกอบ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 23 พฤษภาคม 2563

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • su@_8
    เขียนมาต้องการอะไรครับ??
    23 ต.ค. 2563 เวลา 14.43 น.
  • Ka Win
    ที่เสนอมานี่ต้องการให้คนอ่านเกลียดจังสถาบันเหรอ
    23 ต.ค. 2563 เวลา 14.35 น.
  • 1 LEVEL 🎱 🐒
    ลูกกำแพงดิน... ไม่มีค่า.. มีแต่ราคา...
    08 เม.ย. 2564 เวลา 16.57 น.
  • 1 LEVEL 🎱 🐒
    ไปถามแม่... ว่ากี่ขบวนกลับประตูหลังได้ แล้วหามาลงเล่าสู่กันฟัง ป.ล.ถ้าไม่รู้จริงๆเดี๋ยวจะให้ผู้รู้เฉลย.
    08 เม.ย. 2564 เวลา 16.56 น.
ดูทั้งหมด