ไลฟ์สไตล์

แฟชั่นทรงผม "ทรงมหาดไทย" มาจากไหน? ทำไมถึงฮิต?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 12 พ.ค. 2566 เวลา 02.51 น. • เผยแพร่ 12 พ.ค. 2566 เวลา 02.48 น.
ผมทรงมหาดไทย (ภาพจากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring)

ที่มาของผม “ทรงมหาดไทย” นั้น จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl) ซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2375 บันทึกไว้ว่า

“กล่าวกันว่าการที่คนสยามตัดผมข้างหลังออกเช่นนี้ เป็นผลเนื่องมาจากความไม่สะดวกในเวลาออกรบ กล่าวคือในการทำสงครามครั้งหลังๆ มีชาวสยามถูกพวกโคชินจีน [เวียดนาม – ผู้เขียน]ที่มีความกล้าหาญมากกว่า ดึงผมจับตัวไปเป็นเชลย ซึ่งไม่เหมาะกับวิธีการรบในส่วนนี้ของโลก…”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการระบุว่าผมทรง “มหาดไทย” มาจากคำว่า “มหาอุทัย” ซึ่งหมายถึงดวงอาทิตย์แรกขึ้นหรือพระอาทิตย์อุทัย

“อนึ่งในชั้นเดิมที่พวกไทยเรายกมาจากดินแดนที่ประเทศจีนในเวลานี้นั้น ก็ไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งหญิงชายเหมือนกับจีนในสมัยโบราณ แต่พอตั้งกรุงสุโขทัยเสร็จไทยก็ตัดผม มีรูปเป็นวงกลมกลางกระหม่อม และโกนรอบข้างทำให้ผมตรงกลางมีรูปร่างเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมที่ตัดใหม่นี้ว่ามหาอุไทย…”

ตามด้วยทัศนะของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ระบุถึงทรงผมคนไทยสมัยสุโขทัย ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาไว้ ความว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ยังมีข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยธรรมเนียมของเรา เจ้านายขุนนางย่อมไว้ผมยาว ต่อไพร่เลวจึงตัดผมสั้น เช่น ชฎา ลอมพอก ซึ่งมาแต่ผ้าโพกเมื่อยังไว้ผมสูง จะเลิกไว้ผมยาวเมื่อเกิดบวชกันขึ้นดอกกระมัง (พระบรมไตรโลกนาถ) ข้อนี้ไม่มีหลักฐานเป็นแต่ข้าพเจ้านึกขึ้น ก็จดเอาไว้สำหรับผู้อื่นพิจารณาต่อไป”

สอดคล้องกับ สมภพ จันทรประภา ระบุในหนังสืออยุธยาอาภรณ์ ว่า ผม “ทรงมหาดไทย” ได้รับความนิยมขึ้นหลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) ทรงเจรจาสงบศึกสงครามกับล้านนา และทรงออกผนวช

คราวนั้นมีข้าราชการจำนวนมากออกบวชตามด้วย จึงทำให้ผมสั้นทรงนี้ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา และเมื่อปลายอยุธยา ต่อธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด ซึ่งหนังสือกองวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้อธิบายไว้ด้วยเช่นกันว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ครั้นย่างเข้ายุคสงคราม ชาติไทยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต้องรบพุ่งเพื่อผดุงเอกราช ชายหญิงต้องจับดาบฟาดฟันกับผู้รุกราน เครื่องแต่งกายจึงแปรผันไปบ้าง ดังผู้หญิงที่ตัดผมให้สั้นลง เพื่อปลอมเป็นผู้ชายและสะดวกในการหนีภัย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต้องตัดทอนลงมิให้รุ่มร่าม เป็นอุปสรรคแก่การเคลื่อนที่ มีการห่มผ้าตะแบงมานขึ้นด้วย ส่วนชายไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกจนกระทั่งกรุงธนบุรี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

องค์ บรรจุน. (มิถุนายน, 2561). การเมืองเรื่องทรงผมของชายชาวหงสาวดีและพระนเรศวร. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 (ฉบับที่ 8) : หน้า 34-43

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2561

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • M P. เปี๊ยก !
    ผมก็ตัดทรงกระทรวง(ยุติธรรม)แสกกลางซ้ายขวาเท่าๆกัน ยุติธรรมไหมละ ?
    20 ส.ค. 2562 เวลา 20.05 น.
  • Sayan
    ตำรวจ ทหาร ไม่ว่ายศอะไรก็ทรงเดียวกันหมด ถ้าข้าราชการทุกกระทรวงจะต้องตัดเหมือนกันก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยกลับดูเป็นระเบียบดีซะอีก ถ้าคุณเป็นข้าราชการแค่ "ทรงผม" คุณยัง "เสียสละ" ไม่ได้แล้วคุณจะมาเสียสละอะไรได้เพื่อแผ่นดิน
    20 ส.ค. 2562 เวลา 20.12 น.
  • Yut
    ละครจักรๆวงศ์ๆผมยาวทั้งหญิงและชาย แต่คนดูและผมก็ยังรู้สึกว่านี่คือทรงผมคนโบราณ พออ่านข่าวนั่นดิคนไทยมาฮิตแสกกลางกันตั้งแต่เมื่อไหร่ว่ะ
    14 เม.ย. 2563 เวลา 03.32 น.
  • BEW2429🙏
    ผมว่าเริ่มมีนัยยะอะไรบางอย่างแล้วล่ะ ช่วงนี้นำข่าวเกี่ยวกับอดีต ประวัติศาสตร์ชาติไทยเข้ามาบ่อยๆมันแปลก หรือต้องการนำล่องให้ข้าราชการตัดทรงมหาดไทย เพราะทหาร ตำรวจ และสำนักพระราชวังทุกคนตัดเตียนกันแล้ว เหลือข้าราชการพลเรือนและประชาชน
    20 ส.ค. 2562 เวลา 19.08 น.
ดูทั้งหมด