ทั่วไป

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้า “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” รักษาโควิด-19

PPTV HD 36
อัพเดต 21 ก.ย 2564 เวลา 10.26 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2564 เวลา 06.30 น.
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แย้ม จะเป็นผู้จัดหา-นำเข้า-กระจาย “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” ทางเลือกใหม่ป้องกันรักษาโควิด-19

โลกในปัจจุบัน ยังไม่มียาป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้อย่างเฉพาะเจาะจง แม้แต่ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ หรือฟ้าทลายโจร ก็ยังเป็นยาที่มีข้อถกเถียง ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังพยายามตามหา “จอกศักดิ์สิทธิ์” ตัวนี้ เพื่อคืนชีวิตปกติสุขให้กับประชาชน

ล่าสุดประเทศไทย กำลังจะมีทางเลือกใหม่ในการป้องกันรักษาโควิด-19 นั่นคือ “แอนติบบอดีค็อกเทล (Antibody Cocktail)”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข้อได้เปรียบการรักษาโควิด-19 ด้วย “โมโนโคลนอลแอนติบอดี”

รู้จัก “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” ทางเลือกรักษาโควิด-19 เยอรมนีบริจาคให้ไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แอนติบอดีค็อกเทลนั้น คือการนำโมโนโคลนอลแอนติบอดี (MonoClonal Antibody) ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกัน โดยโมโนโคลนอลแอนติบอดีก็คือโปรตีนหรือเซลล์สังเคราะห์ที่มีความสามารถในการรับมือกับโรคใดโรคหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง

โดยวันนี้ (21 ก.ย.) ได้มีการแถลงข่าวออนไลน์ในหัวข้อ “การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต และแผนการใช้ยาแอนติบอดีค็อกเทล เพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศไทย”

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ในวงการวิชาการการแพทย์ตอนนี้ วัคซีนโควิด-19 เองก็กำลังพัฒนาไม่หยุด ยาก็เช่นเดียวกัน … ส่วนยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี เป็นยาสังเคราะห์ ที่จะเข้าไปจับกับไวรัส ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายไม่ได้ ถ้ามียานี้มารักษาผู้ติดเชื้อในระยะต้นที่เริ่มมีอาการ ก็จะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น อาการไม่รุนแรง และลดการเสียชีวิต”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมอุรเวชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญในช่วงนี้ที่ต้องเน้นคือ ทำย่างไรให้ผู้ป่วยใหม่ไม่เพิ่มขึ้น ให้ผู้ป่วยใหม่เข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น และทำอย่างไรจะปกป้องกลุ่มเสี่ยงให้ไม่ต้องเข้าไอซียูได้ คำตอบหนึ่งคือ ยาที่ลดความรุนแรงตั้งแต่ระยะแรก ได้แก่ โมโนโคลนอลแอนติบอดี

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เสริมว่า การจะรับมือกับโควิด-19 ให้ได้อย่างนั้นจะต้องใช้หลากลายวิธี ต้องมีทั้งมาตรการ วัคซีน และยารักษาประกอบกัน

“ปัจจุบันยาป้องกันรักษาโควิด-19 ที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกยังไม่มี เป็นความท้าทายในการสู้ไวรัส แต่ขณะนี้มีหลายตัวอยู่ในการวิจัยทั่วโลก” ผศ.นพ.กำธรกล่าว และบอกว่า ยาป้องกันรักษาโควิด-19 ที่โลกเร่งศึกษากันอยู่จะแบ่งเป็นยาต้านไวรัส และยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (แอนติบอดีค็อกเทล)

โดยสำหรับยาที่เป็นยาต้านไวรัส คาดว่าอีกครึ่งปีจะรู้ชัดว่ายาตัวไหนดี กำลังกำเนินการศึกษากันอยู่ทั่วโลก คาดว่ามี 2 ตัวเป็นอย่างน้อย และอาจเป็นยาอื่นที่ไม่ใช่ยาที่คุ้นหูกันดีในช่วงนี้อย่าง ฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมดิซิเวียร์

ศ.นพ.นิธิบอกว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะมีส่วนในการจัดหา นำเข้า และกระจาย ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี เป็นตัวแรกที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ (อย.) ของไทยรับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยจะให้ยานี้ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการระยะแรก แต่มีปัจจัยเสี่ยงว่าจะป่วยหนักหรือเสียชีวิต ยานี้จะช่วยลดการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือไอซียู ซึ่งสำคัญมาก เพราะการลดภาระตรงนี้ลง การดูแลคนไข้อื่นก็จะสบายขึ้น โดยจะนำเข้าและกระจายยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีให้โรงพยาบาลต่าง ๆ”

นอกจากนี้ ในส่วนของการศึกษายาต้านไวรัสเอง ก็มีการดำเนินการเช่นกัน “เราจะร่วมกับโรงพยาบาลอีก 2-3 แห่งวิจัยยาต้านไวรัสตัวใหม่เร็ว ๆ นี้ โดยเป็นยาตัวเดียวกับที่อาจารย์กำธรพูดถึง ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบยานั้น เราไม่อยากจำกัดอยู่แต่วัคซีน” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.กำธรบอกว่า ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีในการป้องกันรักษาโควิด-19 นี้คงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับ ต้องมีกระบวนการคัดเลือกว่า ผู้ติดเชื้อกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศเริ่มมีการใช้ยากลุ่มใหม่ที่ผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับหนึ่งคือโมโนโคลนอลแอนติบอดี

โดยผลจากการวิจัยทางคลินิกระยะ 3 ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการของโรคระดับน้อยถึงปานกลางภายใน 7 วันของการติดเชื้อ และไม่เคยได้รับยารักษาโควิด-19 ใด ๆ มาก่อน รวมถึงผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยหนักหากติดเชื้อ อย่างผู้สูงอายุ น้ำหนักตัวมากหรือมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคปอดและภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมการวิจัยนี้ ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 4,000 ราย ทำให้ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดแรกที่มีผลการทดลองรับรองว่า ช่วยลดอัตราการป่วยหนักขั้นนอนโรงพยาบาลหรือห้องไอซียู หรือเสียชีวิตได้ถึง 70% ช่วยลดระยะเวลาที่มีอาการป่วยลงได้ถึง 4 วัน

“ยาตัวนี้ต้องใช้ระยะแรก ๆ ของการติดเชื้อ ไม่แนะใช้ในช่วงที่ช้าไปแล้ว ไม่เกิน 10 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์” ผศ.นพ.โอภาสกล่าว

ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียวที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก นั่นคือกลุ่มผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังอยู่เดิม ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน แต่ในอนาคตจะมีการขยายข้อบ่งชี้ ไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคระบบประสาท คนท้อง และเด็ก

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับยาแอนติบอดี ค็อกเทลอาจมีอาการข้างเคียงเช่นเดียวกับที่พบจากการฉีดยาอื่น ๆ ได้ เช่นปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) แต่ก็มีโอกาสน้อยมาก

“นอกจากนี้ ยังมีปัญหาช่องว่างของการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั่นคือร่างกายของบางคนอาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดี ภูมิไม่ขึ้น หรือคนที่ฉีดวัคซีนไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ช่องว่างตรงนี้ก็จะมียาโมโนโคลนอลแอนติบอดีมาเป็นตัวปิดช่องว่าง” ผศ.นพ.โอภาสกล่าว

ศ.นพ.นิธิ เน้นย้ำว่า บทบาทของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลที่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้คล่องตัวรวดเร็ว และจะยังคงช่วยเหลือประเทศ ประสานทุกหน่วยงาน เพื่อนำชีวิตปกติกลับคือสู่ประชาชนให้ได้ในเร็ววัน

สำหรับประเทศไทย นอกจากโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นผู้จัดหานำเข้ามาหลังจากนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือน ส.ค. ก็เคยได้รับบริจาคค็อกเทลระหว่าง คาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab) มีชื่อว่า “รีเจนคอฟ (REGEN-COV)” จากบริษัทรีเจเนรอน (Regeneron) จำนวน 1,000-2,000 ชุดจากเยอรมนีมาก่อนแล้ว

ยาแอนติบอดีค็อกเทลนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) แล้ว และขึ้นทะเบียน อย. ในประเทศไทยแล้ว สำหรับการจัดเก็บรักษาต้องอยู่ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยยาล็อตที่ไทยได้รับบริจาคมาจะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2565

ภาพจาก Getty Image / Shutterstock

ทุบสถิติ โควิด-19 คร่าชีวิตชาวมะกันมากกว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” แล้ว

"ศิริราช" เปิดผลการศึกษาตัวเลขภูมิคุ้มกัน จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้

ดูข่าวต้นฉบับ