หากคุณเติบโตมาพร้อมกับแบบเรียนภาษาไทยชุดมานะมานี เชื่อว่าคงไม่มีทางลืมภาพประกอบในหนังสือเรียนเล่มแรกแน่นอน
นี่คือผลงานสร้างชื่อของ‘เตรียม ชาชุมพร’ ศิลปินลูกอีสาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกยกให้เป็นความหวังของวงการนักเขียนการ์ตูนไทย เพราะด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่าการ์ตูนมีพลังพิเศษ เปลี่ยนเด็กในวันนี้ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าได้ ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะบุกเบิกการ์ตูนเด็กและนิยายภาพแนวสร้างสรรค์สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง แม้สุดท้ายเวลาในชีวิตของเขาอาจไม่ยืนยาวก็ตาม
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกคนมาร่วมสัมผัสชีวิตและตัวตนของเตรียม แล้วคุณจะเข้าใจว่าเหตุใดผลงานของชายคนนี้จึงอยู่ในใจของใครต่อใครเสมอมา
*-1- *
*แรงบันดาลใจของลูกอีสาน *
หากถามว่าคนส่วนใหญ่หลงรักอะไรในภาพวาดแบบเรียนมานะมานี ชั้น ป.1
บางคนอาจนึกถึงภาพตัวละครที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา บางคนอาจประทับใจภาพวิวทิวทัศน์ ทั้งต้นไม้ ภูเขา สายน้ำ หรือแม้แต่ภาพแผนที่ ซึ่งถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
แต่เบื้องหลังความงดงามนั้นมีแรงผลักดันสำคัญจาก ชีวิตวัยเด็กของตัวศิลปินนั่นเอง
เตรียมเป็นเด็กบ้านนอก เติบโตท่ามกลางท้องนาไร่ปอในหมู่บ้านหนองหวาย จังหวัดศรีสะเกษ
แม้มีฐานะยากจน แต่เขาก็หาความสนุกจากธรรมชาติรอบตัว และสิ่งนี้ก็ฝังแน่นในใจเรื่อยมา
เขาเคยบรรยายภาพชีวิตช่วงนั้นว่า
“พ่อกับแม่มักออกไปหาปลาที่แม่น้ำมูล แม่พายเรือ พ่อตกปลา เรามักไปกันเป็นหมู่เรือหลายลำ ได้ปลาก็จอดเรือพักกินข้าวกลางวันกัน เอาปลามาย่าง ผักก็เก็บเอาตามป่าถึงชีวิตช่วงนั้นจะลำบากแต่ผมก็รักมัน..
“พ่อผมเป็นช่างประดิษฐ์ที่หาตัวจับยาก แกประดิษฐ์ได้หมดถ้าเป็นงานฝีมือของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการขุดเรือ ทำปืนแก๊ป ทำเกวียน ทำบั้งไฟ จนถึงงานจักสาน กระบุง ตะกร้า หรือเครื่องจับปลาหลายๆ ชนิด”
เตรียมไม่ต่างจากลูกไม้ใต้ต้นที่ซึมซับความสามารถด้านนี้มาเต็มๆ
เขาผลิตของเล่นเองทุกอย่าง ตั้งแต่ขุดเรือลำเล็กๆ จากต้นไม้ ลากเล่นไปบนพื้นทรายในหมู่บ้าน หรือทำรถสี่ล้อจากดินเหนียวเลียนแบบรถขายยา ซึ่งนานๆ ถึงแวะเข้ามาในหมู่บ้านสักครั้ง
แต่ผลงานที่ช่วยยืนยันพรสวรรค์ คือการสร้างหุ่นละครจากหนังประโมทัย หรือหนังตะลุงของภาคอีสาน ซึ่งปกติมักแสดงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น
“ผมดูหนังแล้วประทับใจมาก เพราะทั้งสนุกทั้งมัน ตัวคนพากย์คนร้องเขามีบทเจรจาที่แซ่บจริงๆ เวลาตัวพระสู้กับตัวยักษ์เราก็ลุ้นกันมันไปเลย หรือพวกตัวตลกออกมาที ก็หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง”
ครั้งนั้นเตรียมรวบรวมพรรคพวกในหมู่บ้านมาช่วยทำหุ่น โดยเขาเขียนรูปหุ่นที่ชอบลงบนกระดาษปฏิทิน จากนั้นทุกคนก็มาช่วยกันตัดกระดาษ ตกแต่งลวดลวย แล้วหาผ้าขาวมาขึง เอาไฟตะเกียงมาส่อง ช่วยกันเชิด ช่วยกันร้อง เป็นที่ติดอกติดใจของเด็กและผู้ใหญ่ไปตามๆ กัน
นับเป็นก้าวแรกของเส้นทางศิลปินตัวจริง
*-2- *
*ทางคดเคี้ยวของนักวาดการ์ตูน *
แต่จุดที่ทำให้เขาเริ่มหันสนใจการ์ตูนจริงจังเกิดขึ้นเมื่อขึ้นชั้น ป.7
เตรียมย้ายมาอยู่บ้านพี่สาวที่อุบลราชธานี จึงมีโอกาสได้อ่านการ์ตูนดีๆ อย่างเบบี้ หนูจ๋า โกมินทร์กุมารของทวี วิษณุกร และเจ้าชายผมทองของจุก เบี้ยวสกุล
เตรียมหลงใหลถึงขั้นยอมเก็บเงินที่ได้จากการขายไอศกรีมวันละสลึงเป็นค่าเช่าหนังสือ และถ้าวันไหนออมเงินได้ 3-4 บาท ก็จะกัดฟันซื้อหนังสือมาอ่านที่บ้าน ด้วยความหวังว่าสักวันจะได้เป็นนักวาดแบบนี้บ้าง
แล้วฝันที่รอคอยก็กลายเป็นจริง เมื่อเตรียมได้พบกับ ‘จุก เบี้ยวสกุล’ หนึ่งในนักวาดผู้เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นเขยเจ้าของโรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ ที่เขาเรียนอยู่พอดี
“จุกมาดูแลกิจการที่โรงเรียนและมาสอนศิลปะด้วย ผมเคยศรัทธาเขามาก่อน ก็เลยขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พอดีกับช่วงนั้นพ่อกับแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียนระดับสูงขึ้นไปอีก เพราะค่าใช้จ่ายแพงมาก แม่ให้ไปสมัครสอบนายสิบกับสอบครู ปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นเลยมาอยู่กับจุก ช่วยเขาทำงานทุกอย่าง ”
“มันก็ดีนะ ทำให้เราแข็งแกร่ง ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าทนมาได้ยังไง แต่ก็ทนได้และต้องอดทน เพราะเราจะมาเอาวิชาจากเขา จุกเขาก็ดี เหมือนพ่อคนที่สองของผมเลย มีอะไรก็แนะนำทุกอย่าง”
หน้าที่หลักๆ ของเตรียมคือช่วยงานบ้าน เลี้ยงลูก คอยซื้อข้าวของให้ ส่วนจุกก็ถ่ายวิชาด้วยการให้เขาเขียนตัวหนังสือตามแบบ ลอกการ์ตูนฝรั่งโดยให้เขียนภาพใหญ่กว่าแบบ 3-4 เท่า ซึ่งเตรียมทำออกมาสวยงาม และมีแววจะเติบโตอยู่ไม่น้อย
ทว่าแม่ของเตรียมกลับมองต่าง เธอไม่เห็นว่าอาชีพนักวาดมีอนาคตอย่างไร จึงวานให้ลูกเขยคนโตพาเตรียมไปสมัครเป็นเด็กขายอะไหล่ แต่ทำได้ไม่ถึงปีก็ลาออกวกกลับไปอยู่กับจุกใหม่
ช่วงหลังเตรียมใช้วุฒิ ม.ศ.3 สอบเป็นครูผู้ช่วยได้ที่โรงเรียนเดิม ทำงานสอนเด็กวาดเส้น วาดการ์ตูน พร้อมฝึกปรือฝีมือขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ผลงานเรื่อง ‘มังกรผยอง’ ซึ่งได้ไอเดียจากนิยายจีนก็สำเร็จ
จุกซึ่งมีเส้นสายกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ช่วยส่งต่อให้นิตยสารท้อปป๊อป โดยใช้นามปากกาว่า ‘จิ๋ว เบี้ยวสกุล’ ปรากฏว่าได้ตีพิมพ์ แต่ลงได้ตอนเดียวสำนักพิมพ์ก็ปิดไป
หลังจากนั้นไม่นาน จุกเลิกรากับภรรยาและย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ส่วนเตรียมก็เริ่มตระหนักว่า หากยังเป็นครูต่อชีวิตก็คงไม่มีความสุข จึงตัดสินใจทิ้งอุบลฯ ตามเข้ามาเสี่ยงโชคในกรุงเทพฯ
ทว่าชีวิตในเมืองกรุงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะจุกเองไม่ได้สนับสนุนมากนัก ภาระหนักเลยตกมาเป็นของ ‘อำพล เจน’ ลูกศิษย์อีกคนของจุกและรุ่นพี่ที่สิทธิธรรมวิทยาศิลป์
“ผมพาเตรียมไปเช่าหอพักอยู่ในซอยวัดสังกัจจายน์ฝั่งธนฯ และยังมีเพื่อนเรียนเพาะช่างอีกหลายคนเช่าอยู่หอเดียวกันนั้น พอให้เตรียมคลายเหงา ระหว่างนั้นเตรียมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหารายได้ ต้องมีงานทำ”
เตรียมเสนองานที่ไทยวัฒนาพานิช บรรณาธิการเห็นแววเลยมอบหมายให้เขียนนิยายภาพ ตีพิมพ์ในชัยพฤกษ์ ฉบับวิทยาศาสตร์ แต่ทำได้ไม่นานก็ถูกดึงตัวให้ไปช่วยที่หนังสือชัยพฤกษ์การ์ตูน
ที่นี่เตรียมได้ปล่อยพลังสร้างสรรค์เต็มที่ จนกลายเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่ววงการ
อำพล เจน เขียนเล่าไว้ในเว็บบอร์ดส่วนตัวว่า “ตอนนั้นเตรียมเขียนไปสัก 1-2 เรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงมาปรึกษา ผมเลยบอกว่า ‘กูมีอยู่เรื่องหนึ่งที่อยากให้มึงเขียน เหมาะกับหนังสือชัยพฤกษ์ด้วย กูเองอยากเขียนใจแทบขาด แต่กูไม่มีปัญญาเขียน’
“แล้วผมก็พาเตรียมไปวงเวียนใหญ่ จำได้ว่าเคยเห็นหนังสือพ็อกเก็ตบุกส์ที่มีเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือนั้นวางขายอยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ มน.เมธี ชื่อ น้ำใจไหลเชี่ยว รื้อๆ ค้นๆ เดี๋ยวเดียวก็เจอ หนังสือเล่มนั้นมีเรื่องสั้นชื่อว่า ‘รุ่นกระทง’ ปนอยู่กับอีกหลายๆ เรื่อง ผมบอกเตรียมว่า ‘มึงเขียนเรื่องนี้เลย’”
‘รุ่นกระทง’ หรือที่เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘เพื่อน’ เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กหญิงชาวกรุงที่หนีจากบ้านจนได้เจอเด็กชายคนหนึ่ง แม้เพียงช่วงสั้นๆ แต่ทั้งคู่ก็ชักชวนกันท่องเที่ยว สัมผัสความงามของท้องทุ่งไร่นา กระทั่งกลายเป็นความผูกพันที่ยากจะลืมเลือน
หลังเผยแพร่ ‘เพื่อน’ ก็ดังเป็นพลุแตก กลายเป็นงานคลาสสิกที่ถูกกล่าวขาน โดยเฉพาะฉากหลังที่เป็นชนบทและธรรมชาติ ซึ่งจำลองจากฉากชีวิตวัยเยาว์ จนนำไปสู่ตอนต่ออีก 4 ภาค
ผลงานส่วนใหญ่ของเตรียมมักเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เสพง่าย ตรงไปตรงมา เช่น ‘เด็กชายคำแพง’ ซึ่งถ่ายทอดประวัติของตัวเขา หรือ ‘ตากับหลาน’ ซึ่งหยิบเรื่องของเล่นวัยเด็กอย่างเรือขุดมาดัดแปลง รวมทั้งรับงานวาดภาพประกอบให้แบบเรียนและสื่อสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในนั้นคือ แบบเรียนภาษาไทยชุดมานะมานีเล่มแรก ซึ่งว่ากันว่า เขาถอดวิญญาณชีวิตคนชนบทมาเขียน จึงไม่แปลกเลยว่าเหตุใดผลงานชุดนี้จึงตราตรึงในใจผู้อ่าน และกลายเป็นโลโก้ติดตัวเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
*-3- *
*คนหนุ่มผู้บุกเบิกการ์ตูนสร้างสรรค์ *
แม้ชีวิตนักวาดภาพในสังกัดใหญ่จะทำให้เตรียมโด่งดังเป็นนักเขียนแถวหน้า แต่เขากลับรู้สึกอึดอัดกับการใช้ชีวิตใต้ระบบนายทุนเช่นนี้
“ผมเคยเจอนายทุนที่ให้เขียนเรื่องแบบซ้ำๆ ซากๆ เพราะแนวนั้นขายได้ เราจะเปลี่ยนเป็นแนวที่คิดว่าดีกว่า สร้างสรรค์กว่า เขาก็ไม่ยอม หรือบางทีเขียนกำลังมันๆ เขากลับบอกว่าให้รีบจบ..”
"วงการการ์ตูนนี้เป็นมาเฟีย เพราะสำนักพิมพ์ไหนที่ยืนยงมานานก็มักมีอำนาจผลิตการ์ตูนอะไรก็ได้ออกมาให้เด็กอ่าน ให้ถูกใจตลาดเข้าไว้ เด็กจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ บางทีก็ผลิตการ์ตูนที่มีคุณภาพเพื่อหวังชื่อเสียง ไม่ได้ทำออกมาจากใจ ”
“ทุกวันนี้ มีคนทำการ์ตูนหลายคนที่มีความคิดดี และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม แต่เขาขาดการสนับสนุนด้านทุน ทำอยู่ได้ไม่นานก็ล้ม เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก”
เพื่อวางรากฐานใหม่ให้วงการ เขาตัดสินใจลาออกมารวมกลุ่มเพื่อนนักวาด 4 คน ตั้ง ‘กลุ่มเบญจรงค์’ เพื่อรับงานสื่อสร้างสรรค์ ทั้งหนังสือการ์ตูน หนังสือเด็ก หนังสือภาพ นิทานภาพ
กลุ่มเบญจรงค์ ถือเป็นหัวหอกของวงการการ์ตูนยุค 2520 จุก เบี้ยวสกุล เล่าว่า เตรียม และโอม รัชเวทย์ สองสมาชิกหลักนั้นงานไม่ขาดมือเลย เพราะนอกจากความสามารถแล้ว สำนักพิมพ์ไหนๆ ก็ไม่อยากถูกตราหน้าว่ามอมเมาเยาวชน จึงต้องขวนขวายผลงานเหล่านี้มาตีพิมพ์
ขณะที่เตรียมย้ำว่า “การปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กก็เหมือนการให้ปุ๋ยต้นไม้ ผลออกมาก็เป็นผลไม้ที่สวยงาม มีเมล็ดกิ่งงอกออกมาเป็นพันธุ์ที่ดี การ์ตูนเป็นสื่อที่สำคัญมาก เพราะสามารถปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้กับเด็กได้ รูปแบบก็เชิญชวน และการเขียนการ์ตูนก็เหมือนกับการให้การศึกษาอีกระดับหนึ่ง”
ช่วงนั้นเองที่เขาเริ่มคลุคลีกับเอ็นจีโอ และหยิบนำสถานการณ์จริงของสังคมมาถ่ายทอด เช่น ‘เด็กหญิงวาสนา’ ซึ่งถูกครูหนุ่มข่มขืน, ‘เอื้องผึ้ง’ เด็กสาวจากภาคเหนือซึ่งถูกพ่อส่งมาค้ากามในกรุงเทพฯ หรือ ‘ยายจ๋า’ หญิงชรากับเด็กหญิงที่ยังชีพด้วยการเก็บขยะขาย
สำหรับเตรียมแล้ว คุณค่าที่แท้จริงของงานสายนี้ ไม่ใช่เพียงให้ความรู้ทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมอบทัศนคติ และการใช้ชีวิตบนโลกที่ถูกต้องด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงยากที่พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้
หลังสร้างงานมาเกือบสองทศวรรษ ในปี 2533 ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อเตรียมถูกรถโดยสารประจำทางเฉี่ยวชนระหว่างทางกลับบ้าน เป็นเหตุให้นักเขียนหนุ่มวัย 38 ปีจากไปตลอดกาล
ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหายคือ ความตั้งใจที่อยากส่งมอบสิ่งดีๆ สู่เด็กและเยาวชน ดังเช่นที่เขาเคยเอ่ยกับคู่ชีวิต ‘สุจินดา อัศวไชยชาญ’ ว่า “หากตายไปกลัวอย่างเดียว จะไม่มีใครสืบทอดงานเขียนนิยายภาพ” ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า งานของเตรียมไม่เคยตาย และมีผู้พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ต่อไป ไม่มีวันจบสิ้น
ภาพประกอบ
• หนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ 'เตรียม ชาชุมพร'
• บทความ เตรียม ชาชุมพร ดาวร่วงในโลกการ์ตูน หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน วันที่ 26 มกราคม 2534
• เว็บไซต์ http://triamcartoon.blogspot.com/
• Facebook แฟนคลับ “เตรียม ชาชุมพร”
ข้อมูลประกอบการเขียน
• หนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ 'เตรียม ชาชุมพร'
• หนังสือจากจุกเบี้ยวสกุลถึงเตรียม ชาชุมพร โดย วรวิชญ เวชนุเคราะห์
• นิตยสารสวนเด็ก ปีที่ 2 ฉบับที่ 13 เดือนมีนาคม 2533
• หนังสือตำนานการ์ตูน Legend of Cartoons and Comics โดย จุลศักดิ์ อมรเวช (จุก เบี้ยวสกุล)
• เว็บไซต์ AmpolJane Community
• บทความ เตรียม ชาชุมพร ศิลปินนักเขียนการ์ตูนลูกอีสาน เว็บไซต์ T-Book
• สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
• บทความ เตรียม ชาชุมพร ดาวร่วงในโลกการ์ตูน หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน วันที่ 26 มกราคม 2534
J.. E.. W🥢 มานะมานี ปิติชูใจ อยู่ในความทรงจำเสมอ.. 💕
08 ก.ย 2562 เวลา 02.09 น.
🫧🫦아방은 🐾 คุณนี้เอง ที่ทำให้พวกเรามีความทรงจำดีๆ ไม่รู้ลืม มีความสุขมากๆๆๆๆๆเลยค่ะ ทำให้คิดถึงอดีต คิดถึงครู คิดถึงเพื่อนสมัยเรียน คิดถึงสิ่งแวดล้อมเก่าๆ แค่เห็นตัวการ์ตูนก็ยิ้มได้แล้วค่ะ ขอบคุณจากใจค่ะ😊😊
08 ก.ย 2562 เวลา 02.23 น.
Peeradech Phone รูปวาดที่มองแล้วอยากจะมุดเข้าไปในภาพ
08 ก.ย 2562 เวลา 02.10 น.
GNUN ภาพสวย เนื้อเรื่องดี ชอบมากอ่านแล้วจินตนาการไปด้วยอยากใช้ชีวิตในชนบทที่สวยงาม
08 ก.ย 2562 เวลา 02.17 น.
ตาริน สุดยอดฝีมือการวาดการ์ตูนไทย
....ผมอยากสะสมงานของท่านไว้จริงๆ
....นั่นแหละคือความจริง
...ไม่ว่สจะเป็นรูปมานีมานะ ชุดแรก ที่สอนให้เด็กรู้จักปู งู ทุ่งนา ป่าเขา
....จวบจนกระทั่งภาพปก เด็กนักเรียนหิ้วไก่ย่างขายในสถานีรถไฟ
08 ก.ย 2562 เวลา 00.46 น.
ดูทั้งหมด