เว็บไซต์ World Economic Forum เผยรายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทาง และการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Report 2019) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถด้านการเดินทาง และการท่องเที่ยวของ 140 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทย มีคะแนนรวมเฉลี่ย 4.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7.0 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน
ซึ่งรายงาน T&T Competitiveness Index 2019 ได้พิจารณาจาก 14 ดัชนี โดยแต่ละดัชนีจะมีคะแนนเต็ม 7.0 คะแนน ได้แก่ 1.สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ 2.ความมั่นคงปลอดภัย 3.สุขภาพและอนามัย 4.ทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงาน 5.ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6.การให้ความสำคัญกับการเดินทางและท่องเที่ยว 7.การเปิดรับนานาชาติ 8.การแข่งขันด้านราคา 9.ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 10.โครงสร้ำงพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ 11.โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ 12.โครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว 13.ทรัพยากรธรรมชาติ 14.ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ
โดยดัชนีที่ประเทศไทยมีอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวดีที่สุด 3 อันดับแรก คือ ดัชนีทรัพยากรธรรมชาติ 4.8 คะแนน อันดับ 10 ของโลก, ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว 5.9 คะแนน อันดับ 14 ของโลก และดัชนีการแข่งขันด้านราคา 5.8 คะแนน อันดับ 25 ของโลก
สำหรับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทาง และการท่องเที่ยว ในภาพรวมสูงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่
อันดับ 1 สเปน มี 5.4 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 41.4%)
อันดับ 2 ฝรั่งเศส มี 5.4 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 40.4%)
อันดับ 3 เยอรมนี มี 5.4 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 40.0%)
อันดับ 4 ญี่ปุ่น มี 5.4 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 39.6%)
อันดับ 5 สหรัฐอเมริกา มี 5.3 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 36.6%)
อันดับ 6 สหราชอาณาจักร มี 5.2 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 34.9%)
อันดับ 7 ออสเตรเลีย มี 5.1 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 33.6%)
อันดับ 8 อิตาลี มี 5.1 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 32.2%)
อันดับ 9 แคนาดา มี 5.1 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 31.3%)
อันดับ 10 สวิตเซอร์แลนด์ มี 5.0 คะแนน (ค่าเฉลี่ยจากเกณฑ์มาตรฐาน 30.4%)
ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทาง และการท่องเที่ยวสูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 สิงคโปร์ (อันดับ 17 ของโลก)
อันดับ 2 มาเลเซีย (อันดับ 29 ของโลก)
อันดับ 3 ไทย (อันดับ 31 ของโลก)
อันดับ 4 อินโดนีเซีย (อันดับ 40 ของโลก)
อันดับ 5 เวียดนาม (อันดับ 63 ของโลก)
ทั้งนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่อยู่ในการจัดอันดับครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง อันดับ 14 ของโลก, เกาหลี อันดับ 16 ของโลก, อินเดีย อันดับ 34 ของโลก, ไต้หวัน อันดับ 37 ของโลก, ศรีลังกา อันดับ 77 ของโลก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจากรายงานดังกล่าว กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่ ปี 2556 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้เกินกว่า 1 ล้านล้านบาทมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2561 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.94 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประเทศไทยอาจจะต้องเดินหน้าการพัฒนาในด้านที่ควรปรับปรุง ได้แก่ ด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพิ่มความเข้มข้นในด้านความปลอดภัย และยกระดับความสะอาด และสุขภาพ ให้มีความครอบคลุมในทุกสาขาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย
ขณะเดียวกันต้องยกระดับดัชนีที่อยู่ในระดับกลางให้ปรับอันดับสูงขึ้น เพิ่มมาตรการในการอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับต่อการขยายตัวของ คนเดินทางทั่วโลก
ประกอบกับยกระดับดัชนีที่อยู่ในระดับดีเด่นให้สามารถรักษาระดับให้สูงขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า อันดับที่อยู่ในเกณฑ์ดีที่สุด แต่มีการปรับอันดับลดลงในปีนี้ อาจจะต้องมีมาตรการในการรองรับโจทย์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การแข่งขันด้านราคา และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ โดยอาจจะต้องบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป