ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

13 ประโยชน์สุดจี๊ด ของพริกสุดแซ่บ! ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ-น้ำตาลในเลือด

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 02 ก.ย 2565 เวลา 11.25 น. • เผยแพร่ 04 ก.ย 2565 เวลา 02.00 น.

พริก สมุนไพรรสเผ็ดร้อน ที่หลายๆ คนติดใจ

ประโยชน์ของพริกนั้นดีงามมาก ทั้งช่วยลดน้ำหนัก สร้างภูมิต้านทาน ลดน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พริก ประวัติและความเป็นมา

มีการบันทึกว่าพริกถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จากนั้นก็มีการนำพริกมาปลูกและเผยแพร่ไปทั่วยุโรป และลามไปทั่วโลก ทำให้พริกมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปมากมาย เช่น พริก ภาษาอังกฤษ คือ Chili หรือ Chili peppers ซึ่งก็มาจากคำว่าพริกในภาษาสเปน หรือ chile โดยพริกจัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum ซึ่งพริกมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum spp.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนประเทศไทยของเราก็รู้จักและคุ้นเคยกับการปลูกพริกมานานแล้ว และสายพันธุ์ของพริกในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่น้อย รวมทั้งหมดประมาณ 831 สายพันธุ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ตามชนิดของพริก ได้แก่ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ และพริกขี้หนูเม็ดเล็ก

ชื่อเสียงที่โดดเด่นที่สุดของพริก ต้องยกให้เรื่องความเผ็ด เพราะว่าพริกคือเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อนชนิดหนึ่ง เนื่องจากในพริกมี “สารแคปไซซิน” (Capsicin) ที่เป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อน โดยสารชนิดนี้จะกระจายอยู่ในทุกส่วนของพริกแต่ส่วนที่พบมากที่สุดหรือเผ็ดมากที่สุดก็คือ รกหรือไส้ของพริกนั่นเอง ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่สามารถทนความร้อนได้ดีแม้ว่าจะผ่านกระบวนการทำให้สุกหรือตากแดดร้อนๆ จนแห้งแล้วก็ตาม แต่พริกก็ยังคงความเผ็ดร้อนไว้ได้ดังเดิม

ประโยชน์ดีๆ ของการกินเผ็ด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. ช่วยลดน้ำหนัก

การรับประทานพริกช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากแคปไซซินในพริกมีสารthermogenic ซึ่งเป็นสารก่อความร้อนในร่างกาย ส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญได้ดี จึงมีส่วนช่วยให้น้ำหนักของเราลดเร็วขึ้น อีกทั้งพริกยังมีกรดแอสคอร์บิก ที่ช่วยเร่งให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานได้โดยมีการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานพริก 10 กรัม ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และนานถึง 30 นาทีเลยทีเดียว แต่จะให้รับประทานพริกสดๆ เป็น 10 กรัมเลยก็คงไม่ไหว ฉะนั้น ใครที่อยากใช้พริกช่วยลดน้ำหนัก จะลองหันมารับประทานพริกในรูปแบบสารสกัดดูก็ได้

นอกจากนี้ ยังพบว่าวิตามินซีที่สูงมากในพริกสามารถขยายเส้นเลือดในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ดีและทำให้ระบบขับถ่ายของเราดีขึ้นอีกด้วย

2. ทำให้อารมณ์ดี

สารแคปไซซินในพริกสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด อีกทั้งยังลดการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เครียด ช่วยให้เราอารมณ์ดี สดชื่น ทำให้ความดันโลหิตลดลง รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุขมากขึ้นได้

3. ช่วยให้เจริญอาหาร

นอกจากสารเอ็นดอร์ฟินจะช่วยทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกว่าอาหารอร่อยขึ้นได้อีกต่างหาก อีกทั้งพริกจะไปทำให้ต่อมน้ำลายทำงานมากขึ้น จนไปกระตุ้นปลายประสาทให้สมองส่วนกลางรับรู้การอยากอาหาร ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าคนส่วนมากจะชอบรับประทานอาหารรสเผ็ด หรือรู้สึกว่าอาหารที่มีรสเผ็ด ยิ่งเผ็ดก็ยิ่งรับประทานอร่อย

4. บรรเทาอาการปวด

อย่างที่บอกไปแล้วว่าสารแคปไซซินในพริกสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่บรรเทาอาการเจ็บปวดแบบธรรมชาติ จึงช่วยให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลงได้ โดยสมัยก่อนมีการนำพริกขี้หนูมาทำลูกประคบ หรือทำเป็นน้ำมันนวดแก้ปวดเมื่อยตามข้อ ขณะที่ในปัจจุบันก็มีการนำสารแคป ไซซินมาเป็นส่วนประกอบของขี้ผึ้งและเจล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดบวมบริเวณผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น เข่าอักเสบ แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งเริมและงูสวัดด้วย

5. บำรุงสายตา

พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งสีของพริกที่ไม่ว่าจะเป็นสีแดง เหลือง เขียว ก็มีเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณบำรุงและป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้ ยิ่งเมื่อรวมพลังกับวิตามินเอและวิตามินซีที่อยู่ในพริกด้วยแล้ว ก็จัดว่าพริกเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาที่ดีชนิดหนึ่งเลยล่ะค่ะ ทว่าการจะรับวิตามินเอและวิตามินซีจากพริกนั้น ควรต้องรับประทานพริกสดๆ ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ดังนั้น ควรเลือกรับประทานพริกที่มีความเผ็ดน้อยอย่างพริกหยวก พริกหวาน หรือใครรับประทานเผ็ดเก่งมากจะรับประทานเปลือกพริกในส้มตำ อันนี้ก็แล้วแต่สะดวก

6. ช่วยให้จมูกโล่ง หายใจสะดวกขึ้น

จะสังเกตได้ว่าเวลาเรารับประทานพริกเข้าไปสักพักจะมีอาการน้ำมูก น้ำตาไหล นั่นก็เป็นเพราะรสเผ็ดๆ รวมทั้งสารก่อความร้อนในพริกจะไปช่วยลดปริมาณน้ำมูก และสิ่งกีดขวางในทางเดินระบบหายใจ ทำให้จมูกโล่ง ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แถมยังบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะที่เหนียวข้น ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งหอบหืด ภูมิแพ้ ไซนัส และหลอดลมอักเสบ เราขอแนะนำให้รับประทานพริกเป็นประจำเลย แต่ก็ระวังอย่ารับประทานเผ็ดมากเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารตามมาได้

7. เสริมสร้างภูมิต้านทาน

พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าวิตามินเอและวิตามินซีเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้ แถมในพริกยังมีเบต้าแคโรทีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราให้แข็งแรงขึ้นได้อีกด้วย

8. ลดน้ำตาลในเลือด

มีการศึกษาพบว่า แคปไซซินในพริกช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสได้ โดยมีการทดลองให้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วเจาะเลือดเก็บข้อมูลก่อนดื่มและหลังดื่มที่เวลา 15 นาที 30 นาที และ 60 นาที ในขณะที่วันต่อมาให้ดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่เพิ่มการรับประทานพริกเข้าไปด้วย ซึ่งพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดวันที่รับประทานพริกร่วมด้วย มีระดับต่ำกว่าวันที่ไม่รับประทานประมาณ 20% ซึ่งก็สรุปได้ว่าพริกน่าจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้นั่นเอง

9. ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น

รู้ไหมว่า การรับประทานพริกเป็นประจำช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น เพราะสารแคปไซซินสามารถยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี อีกทั้งในพริกยังมีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี ที่ช่วยเพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือดให้รับกับแรงดันต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น ลดอาการหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบได้

10. ควบคุมคอเลสเตอรอล

มีงานวิจัยทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงรับประทานพริกขี้หนู 5 กรัม ร่วมกับรับประทานอาหารปกติเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่รับประทานพริก ซึ่งจากการทดลองพบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานพริกมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) คงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่รับประทานพริกเลย มีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น จึงสรุปได้ว่าการรับประทานพริกช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้คงที่และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า สารแคปไซซินมีสรรพคุณช่วยยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ในขณะที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้นได้ ทำให้เรามีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลงอีกด้วย

11. ป้องกันโรคโลหิตจาง

โรคโลหิตจางมีสาเหตุหลักมาจากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงรวมทั้งฮีโมโกลบินให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นซึ่งในพริกก็มีธาตุเหล็กประกอบอยู่พอสมควร รวมถึงยังมีทองแดงที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีกรดโฟลิกที่ช่วยเสริมให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง ดังนั้น พริกจึงถือเป็นอีกหนึ่งอาหารที่ช่วยป้องกันโลหิตจางได้

12. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

วิตามินซีในพริกมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร แถมยังช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเราก็บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า พริกมีวิตามินซีสูงมาก ดังนั้น การรับประทานพริกจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ ยิ่งไปกว่านั้นในพริกยังมีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปากได้

13. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

เพียงแค่รับประทานพริกก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงได้แล้ว เพราะพริกจะไปช่วยลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยละลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อน จนอุดตันหลอดเลือด ไม่เพียงเท่านั้น เพราะอย่างที่เราบอกไปแล้วว่าการรับประทานพริกยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล โดยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ทำให้มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ต่ำลง จึงส่งผลดีต่อหัวใจและสุขภาพ ดังนั้น หากเรารับประทานพริกเป็นประจำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้พอสมควร

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562

ดูข่าวต้นฉบับ