“แม่ครัว” หรือ“ฆาตกร” ผงชูรสจัดหนัก ! ทำอาหารให้อร่อยโดยไม่ใส่ไม่ได้หรือ ?
ในปัจจุบันคงจะไม่เกินไป ถ้าบอกว่าคนเมืองใหญ่ ที่ไม่เคยมีอาการคอแห้ง กระหายน้ำ หรือรู้สึกรำคาญช่องปากหลังรับประทานอาหารบางมื้อจากเมนูด่วน ร้านอาหารตามสั่งข้างทาง ร้านเจ้าดังบางแห่งในเมือง ไม่ใช่คนในเมืองอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบัน แทบจะไม่มีร้านอาหารใดเลยที่ไม่มี “ผงชูรส” เป็นเครื่องปรุงชูโรงเรียกลูกค้า “ใส่ง่าย อร่อยไว” กันไปจนกระทั่ง “แพ้ – ไม่แพ้ผงชูรส” ก็เกิดอาการไม่สบายกายขึ้นมาได้
ทำให้เรารู้สึกว่าคุณแม่ครัว พ่อครัวร้านอาหารหลายเจ้านั้น เอาสะดวก อร่อยง่ายกันเกินไป จนทำให้ผู้บริโภคตกเป็น “นักโทษประหาร” ตายผ่อนส่งจากรสเสน่ห์ปลายจวัก บางเจ้าก็ออกมาบอกว่าใส่ไปเพื่อความเข้มข้น ลูกค้าก็ชอบนี่ มากินกันตั้งเยอะ บางเจ้าก็บอกว่า ใส่ไปก็ไม่เป็นอะไรหรอก ผงชูรสก็เหมือนเกลือ หรือเอาง่ายที่สุดก็บอกว่า “ร้านไหนก็ใส่ ไม่เห็นมีใครมาเป็นอะไรเลย !” จนลืมไปว่า จริง ๆ แล้วตนเองนั้นต้องขายฝีมือกันสักหน่อย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผงชูรส !!
วันนี้เราจึงพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “ผงชูรส” ว่าแท้จริงแล้ว มันจะ “ไม่เป็นอะไร” อย่างที่คุณแม่ครัวพ่อครัวเขาบอกเรากันหรือไม่ ?
ผงชูรสคือใครทำงานอย่างไร– ไขข้อสงสัยว่าความ“อร่อย” นั้น“เสี่ยง” มากขนาดไหน ?
ผงชูรสหรือMonosodium Glutamate - MSG ถูกค้นพบในญี่ปุ่นเมื่อ ปี ค.ศ.1908 โดยศาสตราจารย์ "Klkunae lkeda" โดยการสกัดจากสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งแรกเริ่มนั้นผงชูรสได้สกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติเช่นนี้มาโดยตลอด ทำให้ผงชูรสมีราคาแพง จนกระทั่งเกิดการสังเคราะห์เพื่อใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารอย่างทุกวันนี้
โดยการทำงานของผงชูรสนั้น กรดหรือเกลือกลูตามิกของมัน จะไปทำหน้าที่กระตุ้นประสาทการรับรสอาหารของลิ้นให้ไวกว่าปกติ โดยเฉพาะเกี่ยวกับรสชาติของเนื้อสัตว์ ดังนั้นผู้บริโภคจึงรู้สึกว่าอาหารที่ใส่ผงชูรสอร่อยกว่าอาหารที่ไม่ใส่ผงชูรส แต่ความอร่อยของอาหารนั้นไม่ได้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณผงชูรสที่ใส่ลงไป
นั่นคือ เมื่อใส่ผงชูรสลงไปถึงปริมาณหนึ่งซึ่งทำให้อาหารอร่อยที่สุดแล้วจากนั้นถ้าเติมผงชูรสลงไปอีกอาหารจะไม่อร่อยขึ้นกว่านั้น!! ทั้งนี้เพราะเมื่ออาหารเข้าปากแล้วผงชูรสก็จะไปจับตัวกับบริเวณส่วนรับรสชาติซึ่งอยู่ที่ลิ้น ปริมาณที่จะจับได้นั้นมีจำนวนจำกัด ตามขนาดบริเวณที่จะรับรสได้ของลิ้น แล้วเจ้าผงชูรสที่เหลือก็จะลงสู่กระเพาะและจะไม่มีส่วนที่ทำให้ร่างกายรับความอร่อยอีกต่อไป
นั่นหมายความว่าความเชื่อ“ยิ่งใส่ยิ่งอร่อย” นั้นผิดเต็มประตู!
ใส่มากไปนั้น “ไร้ประโยชน์” แล้วมัน“มีโทษ” บ้างหรือไม่ ?
หน้าที่สำคัญของสารในผงชูรส ซึ่งมี “กรดหรือเกลือของกลูตามิก” คือการเป็นตัวนำสารของระบบประสาท ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายได้รับกรดหรือเกลือของกลูตามิกนี้เข้าไปสูงกว่าปกติปริมาณนี้ก็อาจทำให้ระบบบางส่วนของประสาทโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรู้สึกทำหน้าที่ผิดไป
จนเกิดอาการแพ้ผงชูรสหรือโรคภัตตาคารจีน(Chinese Restaurant Syndrome หรือCRS) ที่ได้ชื่อนี้มาจากยุคสมัยที่ผงชูรสราคาถูกลงเมื่อสังเคราะห์ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารได้ ทำให้ภัตตาคารจีนในสหรัฐ โหมกระหน่ำใส่ผงชูรสกันด้วยความเชื่อผิด ๆ ว่าทำให้อาหารอร่อย ! โดยอาการนั้นอาจเป็นหนักถึงอาการร้อนวูบวาบกล้ามเนื้ออ่อนแรงใจสั่นแน่นหน้าอกมีอาการชาที่ทรวงอกคอและใบหน้าและอาจมีอาการคล้ายไมเกรนคืออาการปวดศีรษะชีพจรเต้นเร็วอ่อนเพลียและอาเจียนได้
นอกจากนี้ บริโภคมากไปก็ทำให้อ้วนด้วย! เพราะมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาแชเปิลฮิลล์(University of North Carolina at Chapel Hill) สหรัฐอเมริการวมทั้งแพทย์จากโรงพยาบาลฟูไว่และสถาบันโรคหัวใจกรุงปักกิ่งประเทศจีน ร่วมกันศึกษาถึงผลกระทบของการรับประทานผงชูรส ในชาวจีนทั้งเพศชายและหญิงจำนวน 750 คน อายุ 40-59 ปี ใน 3 หมู่บ้านห่างไกลทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ โดยชาวจีนกลุ่มนี้ใช้พลังงานแต่ละวันเท่า ๆ กัน และรับประทานอาหารที่มีจำนวนแคลอรี่เข้าไปเท่า ๆ กัน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รับประทานผงชูรสมากมีแนวโน้มอ้วนกว่ากลุ่มที่รับประทานผงชูรสน้อยและกลุ่มที่ทานผงชูรสมากจะอ้วนกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่ทานผงชูรสถึง3 เท่า
ที่น่าตื่นตระหนกที่สุดก็คือการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮิโรซากิประเทศญี่ปุ่น(Hirosaki University) นั้น ได้ทดลองให้หนูทดลองกินอาหารที่มีผงชูรสจำนวนมาก ปรากฏว่าเยื่อเรตินาของหนูกลุ่มนี้บางลงไปถึง 75 % และมองไม่เห็น เมื่อเทียบกับกลุ่มหนูอีก 2 กลุ่ม ที่กลุ่มหนึ่งได้รับอาหารมีผงชูรสในระดับปานกลาง เยื่อเรตินามีความเสียหายแต่ไม่มากนัก กับอีกกลุ่มไม่ได้กินผงชูรสเลย
นักวิจัยระบุว่า อาหารที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบปริมาณ20 % ถือว่าเป็นสัดส่วนสูงแม้ยังไม่ทราบว่ากินผงชูรสในปริมาณเท่าไรจึงจะอันตรายก็ตาม แต่ถึงกินน้อยมันก็อาจสะสมไว้นานเป็นสิบปีก่อนออกฤทธิ์ในภายหลัง งานวิจัยชิ้นนี้จึงอาจอธิบายได้ว่าทำไมคนในแถบเอเชียตะวันออกจึงเป็นโรคต้อหินโดยเฉพาะช่วงอายุ40 ปีขึ้นไป
แม้ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกเลิกปริมาณที่จำกัดว่าไม่ควรบริโภคผงชูรสต่อวัน เกิน 6 กรัมต่อคนที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม เนื่องจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหาร (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives: JECFA) ได้ประเมินความปลอดภัยของเกลือกลูตาเมตถึง3 ครั้งในปีพ.ศ. 2513, 2516 และ2530 โดยพิจารณาให้ผงชูรสอยู่ในกลุ่มที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดนั่นก็คือกลุ่มที่“ไม่จำเป็นต้องกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน” ซึ่งตรงกับข้อมูลจากทาง องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ที่ให้ข้อมูลว่าการใช้ผงชูรสมีความปลอดภัย เมื่อบริโภคตามปริมาณปกติ
แม้จะไม่ถึงขั้นอันตรายชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผงชูรสดีต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับที่ "ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ" ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น มีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง อีกทั้งยังกินเค็มมากกว่ามาตรฐาน 2 เท่า ซึ่งผู้ต้องหาหลักคนหนึ่ง แม้จะไม่ได้ลงมืออย่างเป็นทางการ ก็นับว่าจ้างวานฆ่า ก็หนีไม่พ้นผงชูรสนั่นเอง
แนวโน้มการบริโภคผงชูรสของคนไทย - เรากำลังทำลายตัวเองอย่างช้า ๆใช่หรือไม่ ?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข นั้น ได้เคยทำการสำรวจลักษณะการใช้ผงชูรสในคนไทย จากร้านอาหารและแม่บ้านในตัวเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 4 ภาค รวม 2,000 คน และสรุปผลการสำรวจว่า
1. 70 % ของแม่บ้านจากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจนั้น ใช้ผงชูรสไม่เกิน 100 กรัม ต่อเดือน
2. กลุ่มผู้มีรายได้สูง (ซึ่งมักจะมีความรู้สูง) มีจำนวนผู้ใช้ผงชูรสน้อยกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งอาจอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า คนรวยมีโอกาสกินอาหารพวกเนื้อในปริมาณมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องเติมผงชูรสลงไปเพิ่มรสชาติ
3. พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ทราบเรื่องเกี่ยวกับโรคภัตตาคารจีนและวิธีป้องกันแต่ผู้บริโภคก็มิได้สนใจเท่าใดซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนไทยอยู่แล้วที่มักใช้คติ“กินเรื่องใหญ่ตายเรื่องเล็ก”
ข้อมูลที่น่าสนใจมากจากการสำรวจนี้ก็คือ พบว่าร้านอาหารส่วนมากในกรุงเทพฯและเป็นร้านขนาดกลางมีลูกค้าเฉลี่ยประมาณ40 ที่นั่งประมาณ97 % มีการใช้ผงชูรสในการเตรียมอาหาร ส่วนการปรุงอาหารในครัวเรือนนั้น ก็ยังมีการใส่ผงชูรสในอาหารบางชนิดโดยไม่จำเป็น เช่น ใส่ในอาหารที่มีเนื้อเป็นองค์ประกอบหลัก และมักไม่ระวังปริมาณที่ใช้เนื่องจากผงชูรสมีราคาถูกมาก สำหรับอาหารที่มีปริมาณผงชูรสสูงเป็นพิเศษคือ พวกอาหารปิ้งย่างที่ขายกันตามท้องถนนและในร้านค้า สำหรับก๋วยเตี๋ยวนั้นมักมีการใส่ผงชูรสในปริมาณชามละไม่เกิน 2 กรัม
สอดคล้องกับการศึกษาของสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรคณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาแนวโน้มการบริโภคคาเฟอีนและผงชูรสในประเทศไทยระหว่าง ปี พ.ศ. 2545-2555 พบว่า ที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเมืองใหญ่ที่มีความเจริญและใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ มีเวลาในการรับประทานอาหารน้อย ต้องบริโภคอาหารจานด่วน หรืออาหารปรุงง่าย ๆ เช่น อาหารตามสั่ง อาหารแช่แข็งสำเร็จรูป ฉะนั้นการใส่ใจเรื่องวัตถุดิบและปริมาณของผงชูรสอาจมีลดลงจนถึงละเลยก็เป็นได้
ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับการที่เรารู้ตัวแล้วก็ยังฆ่าตัวตายอย่างช้า ๆ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะหันมาใส่ใจในการบริโภคเครื่องปรุงรส โดยเฉพาะผงชูรส คำนึงถึงรสชาติและฝีมือที่ควรจะเป็นมากกว่าเห็นแค่ความอร่อยที่ทั้ง ๆ ก็รู้ว่าทำแบบนี้บ่อย ๆมัน“อันตราย”
*****************
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.agro.cmu.ac.th/absc/data/56/No06.pdf
https://www.doctor.or.th/article/detail/5218
http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id=19885
http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15608&id_L3=722
http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15608&id_L3=732
https://www.thairath.co.th/content/589380
april Brown มันมีโทษแล้วให้ผลิตมาทำแป๊ะไรวะ
15 ม.ค. 2562 เวลา 00.33 น.
coffeekrap เดี๋ยวนี้เขาไม่ใส่ผงชูรสอย่างเดียว เขาใส่ร่วมกับรสดี,คะนอก้อน,คะนอผง,ฟ้าไทย,ซูเปอร์ผงชูรส
ไปสังเกตุตามห้างใหญ่เช่นแมคโคร เราเคยเห็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าเซเว่นไปซื้อของในรสเข็นมีทุกยี่ห้อไม่มีอย่างอื่นนอกจากของพวกนี้เลย มองเผินๆนึกว่าร้านโชว์ห่วยซื้อไปขาย มองดีๆค่อยจำได้ว่าเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวนี่หว่า....
14 ม.ค. 2562 เวลา 23.58 น.
เลิกผลิตสะเลยสิ
15 ม.ค. 2562 เวลา 00.24 น.
ห้ามขายจบ....
15 ม.ค. 2562 เวลา 00.35 น.
Sui เก็บภาษีแพงๆ ราคาแพง คนจะใช้น้อยลงเอง
15 ม.ค. 2562 เวลา 00.10 น.
ดูทั้งหมด