ทั่วไป

ประชาชนสงสัย “ช่องโหว่กฎหมาย” มีเยอะจัง! เอาไว้ทำไม? ตอนร่างไม่เห็นเหรอ?

Another View
เผยแพร่ 12 ม.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

ประชาชนสงสัย “ช่องโหว่กฎหมาย” มีเยอะจัง! เอาไว้ทำไม? ตอนร่างไม่เห็นเหรอ? 

กฎหมาย เป็นระบบกฎเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อควบคุมให้สังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข รวมถึงผดุงความยุติธรรมให้แก่สังคม ตั้งแต่ยุคโบราณ เรามีสิ่งที่คล้ายคลึงกับคำว่ากฎหมายในยุคปัจจุบันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อห้ามทางศาสนา จารีตประเพณี ซึ่งแม้จะไม่ได้ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นกฎเกณฑ์บางอย่างที่คนในสังคมรู้และปฏิบัติร่วมกันอยู่ดี เพราะจะได้รับการลงโทษไม่ว่าจะสถานหนักหรือสถานเบาหากไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมดังเก่า ประมวลกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายยุคแรกที่ได้รับการจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและบัญญัติกฎเกณฑ์​ ข้อห้าม ข้อบังคับและบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลาย ๆ คนที่ไม่ได้เรียนวิชากฎหมายหรือเป็นนักกฎหมายมองว่ากฎหมายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก บางคนมองว่าคนที่รู้กฎหมายก็จะได้เปรียบ (ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง) แต่เราทุกคนก็ควรจะรู้กฎหมายในระดับเบื้องต้นเอาไว้ เพราะเมื่อเรากระทำผิดกฎหมายแล้ว เราไม่สามารถจะอ้างว่า “ไม่รู้กฎหมาย” ได้ การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันจึงนับว่าเป็นเรื่องจำเป็น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรามักจะไม่เข้าใจกันเลยก็คือคำว่า ช่องโหว่ทางกฎหมาย 

สิ่งนี้คืออะไร มาได้อย่างไร? และทำไมเราถึงยอมปล่อยให้มีช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้กฎหมายไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดในบางกรณีได้? 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือที่ภาษาทางการเรียกว่า"ช่องว่างทางกฎหมาย (gap in law)" นั้นคือกรณีที่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่สามารถนำมาปรับใช้หรือไม่ครอบคลุมความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น ในอดีต ยังไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและฟ้องร้องกันบนโลกออนไลน์ ตรงนี้ก็จะเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายเมื่อเกิดการกระทำผิดขึ้นมาก่อนที่จะมีกฎหมายมาบัญญัติครอบคลุม หรือรองรับการกระทำความผิดตรงนี้ ในข้อนี้แปลว่าผู้ร่างกฎหมายไม่อาจ “นึกถึง” สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงยังไม่สามารถร่างกฎหมายให้ครอบคลุมได้ 

ในอีกกรณีหนึ่ง หากไม่ใช่กรณีที่ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถบัญญัติกฎหมายที่ครอบคลุมอนาคตได้ ก็เป็นกรณีที่สิ่งซึ่งจะถูกร่างขึ้นมาเป็นข้อกฎหมายนั้นยังเป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันไม่จบสิ้น เช่นในปัจจุบัน เรื่องที่ถกเถียงกันมากก็คือเรื่องกฎหมายสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกัน การอุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตร หรือการอุ้มบุญ ในกรณีเช่นนี้ที่ยังไม่ได้มีกฎหมายออกมารองรับ ก็ยังถือว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายอยู่ 

แล้วช่องโหว่ทางกฎหมายสามารถได้รับการ “อุดด้วยอะไรได้บ้าง? 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้บัญญัติครอบคลุมในทุก ๆ เรื่อง แต่เมื่อเกิดการกระทำผิดหรือการกระทำใดซึ่งเป็นการ “ละเมิด” สิทธิของผู้อื่น แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อกฎหมายบัญญัติไว้ ก็ยังสามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้โดยหลายวิธีการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น…​

1. การวินิจฉัยตามจารีตประเพณีของท้องถิ่นนั้น ๆ 

ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ต่าง ๆ ย่อมมีกฎจารีตประเพณีบางอย่างซึ่งเป็นที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ซึ่งลักษณะสำคัญของจารีตประเพณีที่จะนำมาใช้อุดช่องโหว่ทางกฎหมายนั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับการพิจารณาแล้วถูกต้องดีงามและมีความสำคัญ

2. การใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงและเหมาะสมกับสถานการณ์เข้ามาร่วมในการพิจารณา

กรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีกำกับไว้ การอุดช่องโหว่ทางกฎหมายอาจทำได้โดยการใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงกันมาร่วมพิจารณาได้ เช่น ในยุคที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติควบคุมการขนส่งทางอากาศแต่มีการทำผิดกฎหมายบนน่านฟ้า ก็อาจนำพระราชบัญญัติควบคุมการขนส่งทางบกหรือทางเรือมาใช้เพื่อมาพิจารณาเทียบเคียงความรับผิดได้ 

3. วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป 

กรณีที่ไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงกัน จะใช้หลักกฎหมายทั่วไปในการอุดช่องโหว่ เช่น ในยุคที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ที่คุ้มครองการหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์แต่เราได้รับการละเมิดโดยการโพสข้อความในเชิงหมิ่นประมาท เราอาจเอาผิดผู้โพสข้อความโดยใช้หลักกฎหมายทั่วไปซึ่งเกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทมาร่วมพิจารณาได้ 

อย่างไรก็ดี ช่องโหว่ทางกฎหมายไม่มีทางหมดไป เพราะสังคมก็ยังคงจะต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากและเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปในแง่ต่าง ๆ เป็นการยากที่จะมีการร่างกฎหมายให้ครอบคลุมทั้งหมด สิ่งที่เราทำได้ก็คือทำความเข้าใจว่าช่องโหว่ทางกฎหมายคืออะไร เผื่อในกรณีที่เรามีความจำเป็นจะต้องใช้ความรู้ในข้อนี้นั่นเอง 

ความเห็น 95
  • ตอนร่างเห็น เพราะจงใจเอาไว้หลบหลีกเมื่อถูกกระทำ เช่น ยืมนาฬิกาเพื่อน เป็นคณะกรรมการสภามหาลัย จะเข้าตัวคนเขียนเผ่นก่อนเพื่อน ดั่งคำพังเพยที่ว่า เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้านั่นแหละพี่น้อง
    12 ม.ค. 2562 เวลา 00.11 น.
  • noeng
    เอาไว้ให้หมาลอด
    12 ม.ค. 2562 เวลา 00.19 น.
  • เงิน. อำนาจ. บารมี พรรคพวก. ศาลไม่ยุติธรรม. องค์กรอิสระ. กระทรวง. ใช้อำนาจเงินซื้อ กฏหมายมีช่องโหว่ ขาดความศักดิ์สิทธิ มาจาก"เงินๆๆๆๆๆ". ง้างได้แม้กระทั่งลูกกรงเหล็ก
    12 ม.ค. 2562 เวลา 00.08 น.
  • AAA89
    อย่าใช้คำว่าช่องโหว่เลยไม่เหมาะ ต้องใช้คำว่า”โง่บรรลัย”ถึงจะเหมาะกว่า.
    12 ม.ค. 2562 เวลา 00.25 น.
  • ค่ะทุกๆวันนี้กฏหมายเขียนและตกแต่งมาจากความคิดของพวกวิกลจริตโกงกินบ้านโกงเมืองและทุุกๆวันนี้พวกมันมีอํานาจแทบจะอยู่เนือกฏหมาย(หมา)นี้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกมันเองโดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะไปโต้แย้งกับสิ่งทีพวกมันได้เขียนขึ้นค่ะถ้าตราบใดยังมีคนชั่วและพวกจังไรนี้อยู่ในแผ่นดินกฏหมายก็จะกลายเป็นกฏหมาไปโดยไม่มีทางจะหลีดเลี่ยงได้ค่ะ
    12 ม.ค. 2562 เวลา 00.43 น.
ดูทั้งหมด