ทั่วไป

กู้ชีพด้วย CPR ช่วยต่อชีวิตคนหัวใจวายเฉียบพลัน

PPTV HD 36
อัพเดต 11 พ.ย. 2560 เวลา 09.04 น. • เผยแพร่ 11 พ.ย. 2560 เวลา 02.45 น.
โลกออนไลน์โวยทำ CPR ช้าเกินไปจนทำให้ “โจ บอยสเก๊าท์” เสียชีวิต พร้อมเสนอควรบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อช่วยต่อชีวิตคนหัวใจวายเฉียบพลัน ขณะที่ สพฉ.ย้ำว่าหากทำชี้ CPR เป็นโอกาสรอดมีถึง 45 เปอร์เซ็นต์

หลังจากอดีตนักร้องชื่อดังอย่าง “โจ บอยสเก๊าท์” ได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันระหว่างเล่นคอนเสิร์ตเมื่อคืนที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแนะนำวิธีการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยให้มากขึ้น  โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เปิดเผยข้อมูลการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)ว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้น หรือคนที่หยุดหายใจอย่างกะทันหันซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญมาก ในการช่วยฟื้นคืนชีพหรือกู้ชีวิตผู้ป่วย เพื่อให้หัวใจที่หยุดเต้นกลับมาเต้นใหม่ หากทำสำเร็จจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมอง มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม

ตามหลักแล้วหากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปอย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “CPR” จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยอาการหัวใจหยุดเต้นกระทันหันจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจมาก่อน หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจวายเฉียบพลัน  หากสามารถรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดการบาดเจ็บได้อีก และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี และหากให้ได้ผลดีจะต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึง ร้อยละ 45

สำหรับขั้นตอนการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) มีหลักการง่ายๆ 10 ขั้นตอน ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตรวจดูความปลอดภัย ก่อนเช้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ

2. ปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว หายใจเองได้ ให้จัดท่านอนตะแคง แต่หากยังไม่หายใจ ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป

3. โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมกับน้ำเครื่องเออีดีมาด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

4. ประเมินผู้ป่วย หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที

5. ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อน่าที 

6. หากมีเครื่องเออีดี ให้เปิดเครื่องและถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก

7. ติดแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย

8. ปฏิบัติตามที่เครื่องเออีดีแนะนำ คือ หากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อก และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อกทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อกให้ทำการกดหน้าอกต่อไป

9. กดหน้าอกต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

10. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัย

ขณะที่ พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตและที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า คนที่หัวใจหยุดเต้นส่วนใหญ่จะเกิดอาการนอกโรงพยาบาล โดยโอกาสรอดของเขา ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ประสบเหตุมีความรู้ในการทำ CPR มากน้อยแค่ไหน อย่างแรกคนที่หัวใจหยุดเต้นจะหมดสติ บางคนหัวใจยังเต้นอยู่ เมื่อเจอเช่นนี้ต้องเรียก หากเขาไม่ตอบสนองแสดงว่าหมดสติ พร้อมกันนั้นให้โทรขอความช่วยเหลือจาก 1669 ขอรถพยาบาล และขอ AED ด้วยเป็นเครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจอัติโนมัติ จากนั้นตรวจสอบว่าเขายังหายใจหรือไม่ ส่วนบางคนมีภาวะหายใจเฮือก ที่ไม่ใช่หายใจปกติที่มีหายใจเข้า-ออก โดยอาการหายใจเฮือกจะเกิดขึ้นหลังหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว 1-2 นาที ซึ่งเป็นการเกร็ง ร่างกายอาจจะมีการขยับ ถ้าเป็นบุคลากรแพทย์ก็จะมีการปั๊มหัวใจทันทีเมื่อเกิดอาการหายใจเฮือก โดยคนที่จะช่วยเหลือต้องมีสติด้วย โดยทั่วไปจะปั๊มหัวใจนาน 2 นาทีแล้ว คอยดูอาการ จากนั้นก็ปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมา

ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์ก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการบรรจุการช่วยเหลือการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ทุกคนเรียนรู้และสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นได้ก่อนที่รถพยาบาลจะเดินทางมาถึง โดยเพจ “ดราม่า แอดดิก” ได้กล่าวถึงคลิปวิดีโอการช่วยเหลือชีวิต “โจ บอยสเก๊าท์” ที่เกิดอาการวูบล้มลงกลางเวที ขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เพราะขั้นตอนการปฐมพยาบาลไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการหายเฮือก แบบคนหัวใจกำลังจะหยุดเต้น นั่นคือเฮือกสุดท้ายแล้ว ถ้าเจอคนหมดสติไม่รู้สึกตัวและหายใจผิดปกติแบบนี้ต้องเริ่มทำ CPR ทันที แต่ในคลิปวิดีโอ มีเสียงคนตะโกนว่า หายใจได้ยังไม่ต้องปั๊ม ก่อนจะเริ่มปั๊มหัวใจก็ผ่านไป 4 นาทีแล้ว แล้วก็ปั๊มหัวใจอยู่เพียงสักพัก ก็ปล่อยให้ผู้ป่วยนอนหายใจเฮือกนานเป็นสิบนาที ก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาจึงมีการทำ CPR แบบจริงจังก็สายเกินไป และอยากจะวอนขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษา ให้บรรจุเรื่อง CPR ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเสียที

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : สารตั้งต้นตอน ห้องฉุกเฉิน 

                    ชีวิตทุกนาทีมีค่า "ปฐมพยาบาลเบื้องต้น" ลดอัตราการตาย

                    “โจ บอยสเก๊าท์” วูบล้มบนเวทีขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับเสียชีวิตกะทันหัน

ดูข่าวต้นฉบับ