หนุ่มเจนวาย เปลี่ยนบ้านเป็นฟาร์ม เลี้ยงปลาหางนกยูง คัดเกรดประกวดขายออนไลน์
หากเอ่ยถึง “ปลาหางนกยูง” ไม่เพียงแต่เลี้ยงเพื่อคาวมสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นสัตว์น้ำทำเงินให้ผู้ประกอบการมาแล้วหลายราย วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ขอพามาทำความรู้จัก ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง ของเด็กหนุ่มวัย 24 ปี “คุณเบ้น-วราโชติ โรจนวีรเดช” เขาเริ่มต้นฟาร์มแห่งนี้ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
“ระหว่างเรียนคณะประมง สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผมเริ่มรู้จักสายพันธุ์ปลาหลายชนิด จนมาเจอปลาหางนกยูง ผมลองศึกษาหาข้อมูลซึ่งมันไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่เลี้ยงปลาหางนกยูงแต่คนเลี้ยงกันทั่วโลก อีกทั้งยังมีการจัดงานประกวดปลาหางนกยูง รวมถึงการซื้อขายสายพันธุ์ต่างๆ และการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีก เมื่อมันมีมาตรฐาน มีการจัดงานประกวดที่ขึ้นตรงโดยกรมประมง ผมเลยคิดว่ามันน่าสนุกและสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้” หนุ่มเจนวาย เล่าถึงแนวคิดก่อนเปิดฟาร์ม
หลังได้ไอเดีย คุณเบ้นได้เปลี่ยนบ้านของตัวเองเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงเล็กๆ ด้วยเงินลงทุนไม่มาก
“ผมเลี้ยงปลาเกรดประกวดแทบทุกสายพันธุ์ นำมาจากกลุ่มแบ่งขายในเฟซบุ๊ก หรือกลุ่มให้ความรู้ ส่วนเงินทุนใช้งบไม่มาก บางคนเลี้ยงในบ่อปูน บางคนเลี้ยงในกะละมัง แต่ผมเลี้ยงในตู้ คิดเงินลงทุนตกตู้ละ 100 กว่าบาท เป็นค่าตัวงอท่อ วาล์วเปิด-ปิดน้ำ ฯลฯ ประมาณนี้” เจ้าของฟาร์มปลาหางนกยูง วัย 24 บอก
ในตอนแรก คุณเบ้น ยอมรับว่า เขาเลี้ยงปลาหางนกยูงเป็นงานอดิเรกเท่านั้น หลังเรียนจบยังออกทำงานประจำเหมือนเด็กจบใหม่คนอื่นๆ กระทั่งตอนนี้ลาออกมาเป็นเจ้าของฟาร์มเต็มตัวแล้ว เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจนี้
ก่อนเล่าต่อว่า การเลี้ยงปลาหางนกยูง ควรหมั่นดูแลเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด
“น้ำเสียทำให้ปลาป่วยและตายได้ คนเลี้ยงชอบมองข้ามเรื่องนี้ แล้วเมื่อเกิดเรื่องมักแก้กันที่ปลายเหตุ ส่วนการให้อาหาร คือ อาร์ทีเมีย ไรแดง ไรทะเล และอาหารสำเร็จรูป ให้แค่พอดี หากเยอะไปอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ ถ้าน้อยเกินไป จะทำให้ปลากินไม่อิ่ม และจะไปกัดกินหา’ปลาตัวอื่นแทน”
เมื่อปลาโตเต็มวัย พร้อมจำหน่าย คุณเบ้น บอกว่า นำไปเปิดขายและประมูลทางอินเตอร์เน็ตเป็นรายได้หลัก
“ปลาที่ผมนำไปขายหรือประมูล มีหลายสายพันธุ์ เช่น Short, Ribbon, Swallow เป็นต้น แต่ละสายพันธุ์ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อ 1 คู่ ราคาเริ่มตั้งแต่ 300, 500, 800, 1000, 1,500-4,000 บาท ส่วนใหญ่เกรดประกวดสวยๆ เลยราคาอยู่ที่ 800 บาทจนถึงหลักพันบาท ปลาที่นำมาขายต้องมีอายุประมาณสองเดือนครึ่งถึงสามเดือน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ตัวที่ตรงลักษณะผมก็จะเปิดขาย ส่วนเกรดที่ต่ำกว่านั้นหรือไม่ตรงสเปกจะนำไปเปิดประมูล”
นอกจากเลี้ยงเพื่อการจำหน่ายแล้ว คุณเบ้น ยังส่งปลาเข้าประกวดตามงานต่างๆ เช่น ชิงถ้วยพระราชทาน ของงานประมงน้อมเกล้า, งานประมงมหกรรมปลา ที่ตลาดบ้านโป่ง ฯลฯ
“การเลี้ยงปลาส่งประกวดเหมือนการฝึกให้ตัวปลามีการยืนน้ำ มีการโชว์ลีลาการจีบเพศตรงข้าม (โดยจับเพศผู้แยกมาตัวเดียว และสลับจับเพศเมียเข้าไป วันละ 1-2 ครั้ง) เพื่อกระตุ้นให้ตัวปลาเพศผู้มีการกางหาง กางกระโดง เพื่อโชว์ลักษณะเด่นของเขาในการเกี้ยวพาราสีกับเพศตรงข้าม ตามงานประกวด ส่วนการเลือกตัว ควรเลือกที่สวยเด่นที่สุดในกลุ่ม กระโดงใหญ่ หางกาง มีลักษณะที่เด่นชัดตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ส่วนประเภทปลาที่ลงประกวดก็จะมี Mosaic, Tuxedo, Grass, Solid, Snakeskin/Lace, Albino, Albino fullred, Swallow/Ribbon fin, Open Small tail, Open big tail, Juvenile solid, Juvenile pattern ฯลฯ”
ซึ่งการเลี้ยงปลาส่งประกวด ต่างจากการเลี้ยงเพื่อจำหน่าย คุณเบ้น บอกว่า “ผมจะจับคู่ตัวผู้ และ ตัวเมีย เพื่อคัดลักษณะเด่นแต่ละสายพันธุ์ไม่ให้ผสมพันธุ์กันมั่ว เพื่อให้ได้ลักษณะที่สวยงามขึ้น ซึ่งแตกต่างกับการเลี้ยงปลาแบบจำนวน คือให้พ่อแม่ผสมกัน และพ่อไปผสมลูก ลูกไปผสมแม่”
ส่วนการจัดส่ง คุณเบ้นบอกว่า จัดส่งทางไปรษณีย์ เพราะตอนนี้ทางรัฐบาลสามารถจัดส่งสัตว์น้ำได้แล้ว โดยแพ็กปลาเป็นแคปซูลสุญญากาศ ส่วนภายในกล่องใส่พวกกันกระแทก เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงบรรจุปลาสะเทือน หรือหากอยู่ใกล้ก็สามารถนัดรับที่ฟาร์มได้ด้วย
ก่อนจาก คุณเบ้น ยังทิ้งท้าย สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลาหางนกยูงแบบเขาด้วยว่า “ควรศึกษาวัฏจักรของปลาหางนกยูง ทั้งช่วงเวลาในการผสมพันธ์ุ อายุในการตั้งท้อง เพราะปลาหางนกยูงกินลูกตัวเองได้ รวมถึงอาหารในการเลี้ยง เรื่องน้ำที่ใช้เลี้ยง เพราะบ้านแต่ละบ้านมีลักษณะน้ำไม่เหมือนกัน และสายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์ก็ไม่เหมือนกัน”
สำหรับฟาร์มของ คุณเบ้น ตั้งอยู่ที่ อำเภอกำแพงแสน หลังโลตัสกำแพงแสน ห่างจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ไม่ถึง 10 กิโลเมตร