ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

มนุษย์เงินเดือนพร้อมยัง? เมื่อ “AI” เป็นผู้คัดเลือกใบสมัครงาน ประมวลผล 5 วินาทีต่อ 1 เรซูเม่

Marketing Oops
อัพเดต 26 พ.ค. 2561 เวลา 10.23 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2561 เวลา 08.44 น. • WP

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่ผ่านมาเราเห็นการนำเทคโนโลยี “AI” (Artificial Intelligence) มาใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการผลิต และภาคบริการ หรือแม้แต่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่บ้าน โดยวัตถุประสงค์ที่บางองค์กร นำ “AI” มาใช้ เพื่อลดต้นทุนแรงงานในบางอาชีพ ขณะที่บางองค์กรมองว่าจะเข้ามาช่วยเสริมกำลัง “แรงงานคน” ที่ขาดแคลน หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น

ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ “AI” เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างเวลานี้เริ่มเห็นแล้วในงาน “ทรัพยากรบุคคล” (Human Resources : HR) เช่น Chatbot ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนทนากับมนุษย์ ซึ่งทุกวันนี้มีการนำไปใช้กับงานบริการบ้างแล้ว เช่น ค้าปลีก ขณะที่เวลานี้เริ่มเห็น “ฝ่ายทรัพยากรบุคคล” นำ AI Chatbot มาใช้สร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้นให้กับพนักงาน รวมถึงผู้สมัครงาน โดยมองกันว่าจะส่งผลให้กระบวนการทำงานในองค์กรคล่องตัวขึ้น
เช่น การตอบคำถามพื้นฐานทั่วไปที่ HR มักจะต้องตอบพนักงานอยู่บ่อยครั้ง เพื่อทำให้พนักงานได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว หรือแม้แต่ใช้ตอบคำถามเกี่ยวกับการรับสมัครงาน

นอกจากใช้ Chatbot สำหรับสนทนากับพนักงาน และบุคคลภายนอกที่ต้องการสมัครงานแล้ว ในวงการ HR ยังนำ “AI” มาเป็นตัวช่วยในการคัดเลือกใบสมัคร และเรซูเม่ เพื่อลดระยะเวลาการพิจารณาในกระบวนการคัดกรองเบื้องต้น และเจอ “คนที่ใช่” ตรงกับคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่บริษัทเปิดรับได้เร็วขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Mr. Sho Kondo หัวหน้า TalentMind หน่วยธุรกิจในเครือ AdAsia Holdings, AnyMind Group (มีสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดหางานด้วยเทคโนโลยี AI ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของงานทรัพยากรบุคคลว่า ก่อนที่จะมีเทคโนโลยี AI มาใช้ กระบวนการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาร่วมงานในตำแหน่งที่บริษัทหนึ่งๆ เปิดรับ มีหลายขั้นตอน และต้องใช้เวลา นับตั้งแต่เมื่อประกาศรับสมัคร ไม่ว่าจะผ่านช่องทางของบริษัทเอง หรือผ่านเว็บไซต์จัดหางาน และหลังจากมีคนส่งใบสมัครเข้ามา ฝ่าย HR ต้องดาวน์โหลดเอกสารของผู้สมัคร แล้วนำไปพิจารณา เพื่อคัดเลือกเรซูเม่ที่ตรงกับคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่เปิดรับ แล้วถึงติดต่อกลับไปยังผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้น เพื่อทำการนัดหมายสัมภาษณ์ต่อไป

*“ขณะที่ปัจจุบันฝ่ายบุคคลในบางบริษัท เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการจับคู่ระหว่าง “ผู้สมัคร” กับ “Job Description” ของตำแหน่งงานที่เปิดรับ โดยการทำงานของ AI Machine จะจับคู่ข้อมูลประจำตัวผู้สมัคร บุคลิกภาพ และความสนใจของผู้สมัคร กับขอบเขตงานความต้องการตามบทบาท และวัฒนธรรมขององค์กร *

จากนั้น AI จะประมวลผล และให้คะแนนผู้สมัคร โดยใช้เวลาประมวลผลภายใน 5 วินาทีต่อ 1 เรซูเม่ จากนั้นฝ่าย HR จะดูต่อว่าผู้สมัครคนไหนได้คะแนนผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ เพื่อโฟกัสคนที่ผ่านเกณฑ์ก่อน แล้วจึงติดต่อกลับไป เพื่อเรียกเข้ามาสัมภาษณ์รายละเอียดอีกที เพื่อดูว่าผู้สมัครคนนั้นๆ มีคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งที่เปิดรับหรือไม่”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนกรณีที่เรซูเม่ผู้สมัคร ใส่คุณสมบัติของตนเองเกินไปกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ได้ผ่านการคัดเลือก Mr. Sho Kondo แสดงทรรศนะว่า ถึงแม้ผู้สมัครจะใส่คุณสมบัติของตนเอง สูงเกินกว่าความเป็นจริง แต่สุดท้ายแล้วผู้สมัครยังคงต้องผ่านการสัมภาษณ์กับ HR และผู้บริหารในองค์กรนั้นๆ อีกที

นอกจากการใช้ AI ในการสรรหาบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานแล้ว ขณะนี้ยังนำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลพนักงาน เพื่อประเมินผลการทำงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และมีแนวโน้มจะขยายมายังประเทศไทย

Resize shutterstock_1057588481

ถ้าอยากมัดใจ “คน Millennials” ให้อยู่กับองค์กร ต้องมี “Career Path – โปรแกรมพัฒนาบุคลากร”

ในตลาดงานยุคนี้ คนกลุ่ม Millennials (เกิดปี 1984 – 1996) และคนกลุ่มที่ทยอยเข้าสู่ตลาดงาน คือ Generation Z (เกิดตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นไป) ทั้ง 2 Generations จะเป็นคนทำงานกลุ่มใหญ่ ที่องค์กรต่างๆ ต้องทำความเข้าใจ เนื่องจากด้วยความที่คนทั้ง 2 Generations มีรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่บนอินเทอร์เน็ต และเชื่อมต่อกับสังคมออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และมีโอกาสด้านการทำงานได้มากขึ้น

สิ่งที่ตามมา คือ คน Millennials และ Gen Z มีความภักดีต่อองค์กรน้อยลง และเกิดการเปลี่ยนงานบ่อยกว่าคน Generation อื่น บางคนอยากออกไปเปิดธุรกิจของตัวเอง ขณะที่บางคนไปเป็นฟรีแลนซ์ หรือบางคนเปลี่ยนบริษัท

Mr. Sho Kondo ให้สัมภาษณ์ว่า การบริหารคน Millennials และ Gen Z ให้อยู่กับองค์กรได้นาน ต้องทำความเข้าใจความต้องการของคนทำงานทั้งสองกลุ่มนี้ด้วยว่า คนทำงานสองกลุ่มนี้ ไม่ได้มองแค่เรื่อง “ผลตอบแทนด้านเงินเดือน” เพียงอย่างเดียว โดยนอกจากผลตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับบรรยากาศ หรือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการพัฒนาความรู้ – เพิ่มขีดความสามารถของตนเอง และเส้นทางการเติบโตในสายงาน/อาชีพ

เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์กรใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ SME ควรให้ความสำคัญทั้งด้านผลตอบแทนที่เหมาะสม ผนวกกับการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงมีโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบบรายบุคคล หรือเป็นกลุ่ม เป็นแผนกก็ตาม รวมทั้งเส้นทางการเติบโตในสายงาน/อาชีพ (Career Path) เนื่องจากคนรุ่นใหม่ต้องการการเรียนรู้ และมีโอกาสเติบโต

หากองค์กรใดโฟกัสสิ่งเหล่านี้ ย่อมมีโอกาสที่องค์กรนั้น จะรักษาพนักงานกลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นมืออาชีพ ให้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้น

อ่านบทความทั้งหมด ที่ MarketingOops.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • T.cho
    มาเลยรับรอง AI ไม่เคยอ่านนิยายไทย อิอิ
    26 พ.ค. 2561 เวลา 12.42 น.
  • Chakkrit Chaiyarintr
    ก็คนนั่นแหละที่ใส่เงื่อนไขต่างๆลงไปให้ AI
    26 พ.ค. 2561 เวลา 11.23 น.
  • THE_TONY
    ดีๆ เด็กเส้นจะได้ไม่มี
    27 พ.ค. 2561 เวลา 04.25 น.
  • Piyada
    ไม่กลัวหลอก
    26 พ.ค. 2561 เวลา 12.46 น.
ดูทั้งหมด