เจแปน ฟาวน์เดชั่น (Japan Foundation) หรือ มูลนิธิญี่ปุ่น จัดเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น ให้ชมติดต่อกันมานานทุกปี นับเป็นทศวรรษ มีทั้งปีที่เป็นหนังคลาสสิคอมตะ หรือส่วนมากมักเป็นหนังของผู้กำกับรุ่นใหม่แต่ละยุค สร้างความตื่นอกตื่นใจกับผู้ชมไทยมาสม่ำเสมอ
บางคราวก็เชิญนักวิจารณ์ภาพยนตร์ญี่ปุ่น มาสนทนากับผู้ชมและนักวิจารณ์ชาวไทยอีกด้วย
ถือเป็นคุณูปการยิ่งยวดในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จนคอหนังชาวไทยรอคอย โดยเฉพาะเทศกาลหนังนี้ มิได้เสนอจำเพาะเพียงผู้ชมในเมืองหลวงได้สำราญ แต่ยังเผื่อแผ่ถึงผู้ชมต่างจังหวัดอีกด้วย เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ก็เดินทางไปเสนอถึงที่
คราวนี้พิเศษยิ่งไปอีก เนื่องจากภาวะวิกฤติของโรคระบาดซึ่งลุกลามไปทั่วโลก มูลนิธิก็ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าให้เป็นประโยชน์ เหมาะกับสถานการณ์อยู่บ้านช่วยตัวเองช่วยผู้อื่นให้พ้นภัย ส่งหนังให้ชมกันถึงบ้านแบบไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าดูเลยแม้สักสลึงเดียว
โครงการพิเศษซึ่งปีนี้มูลนิธิจะบริการชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นคอหนังขาประจำ หรือผู้สนใจทั่วไป แม้คนอยู่บ้านปลูกผักปลูกหญ้า จัดระเบียบข้าวของที่รกเรื้อ หรือใช้เวลาซ่อมแซมบ้าน ที่ได้เห็นข่าวหนังดีบริการให้ชมถึงที่นี้ ก็เข้าไปชมได้ทันทีโดยสะดวก ไม่ต้องตรวจไข้หรือฉีดวัคซีนก่อนชม แค่กักตัวอยู่กับบ้านก็ดูได้ครบทั้ง 12 เรื่อง ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม
เรียกว่า เทศกาลหนังญี่ปุ่นออนไลน์ (Japanese Film festival Online – เจแปนนีส ฟิล์ม เฟสติวัล ออนไลน์) หรือ JFF Online เป็นบริการส่งตรงจากต้นทาง (streaming service) ถึงคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องของทุกคนเลยทีเดียว
ด้วยหนังอินดี้ (indie films) 12 เรื่องของบรรดาผู้กำกับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนลงโรงฉายเป็นที่นิยมชมชื่นเมื่อไม่นานปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ด้วยการร่วมมือกับ มูสิค แล็บ (Moosic Lab) ที่ผลิตหนังยอดนิยมมากมายในช่วงไม่กี่ปีนี้
“มูสิค แล็บ” เป็นโครงการที่ให้ผู้กำกับหนังหน้าใหม่กับนักดนตรี ร่วมกันสร้างหนังโดยมีจุดเริ่มจากบทเพลง ซึ่งนับจากตั้งโครงการขึ้นในปี 2555 มีนักเขียนบทและนักแสดงจำนวนมาก กลายเป็นที่รู้จักผ่านเทศกาลหนังซึ่งมีรูปแบบเหมือนการแข่งขันนี้ และโครงการนี้ก็กลายเป็นเวทีของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ของญี่ปุ่นไป
หนังที่ชมฟรีได้ทุกเรื่องนี้ พูดภาษาญี่ปุ่น โดยบรรยายกำกับเป็นภาษาอังกฤษ
และที่มูสิค แล็บบรรจงคัดมาอย่างดีจากปี 2560 กับ 2561 ทั้ง 12 เรื่องนี้ ล้วนได้รับคำชื่นชมอย่างมากมาแล้ว ทั้งจากเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศและต่างประเทศ ในที่นี้ จะเล่าเรื่องคร่าวๆพอเป็นกระสายกระตุ้นความน่าสนใจหาชมให้เกิดขึ้นสักสามสี่เรื่อง
The Sacrament (เดอะ เซคคราเมนท์ – 2560) หรือคำสาบาน เรื่องของผู้กำกับหนังหน้าใหม่ ซึ่งทุ่มเททำงานชิ้นเอก ด้วยการติดตามถ่ายทำหญิงสาวที่เต็มไปด้วยความลึกลับคนหนึ่ง หนังเรื่องนี้ชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์ และรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในงานมูสิค แล็บ 2017
กำกับโดย อิโชระ อิวาคิริ ซึ่งแสดงนำเองด้วย และเพลงประกอบโดย บองจู สุซึกิ จัดประเภทเป็นหนังชีวิตวัยรุ่นเขย่าขวัญ (Teen Drama, Horror โห น่าดู) เวลาฉาย 90 นาที
Girls’ Encounter (เกิร์ลส์ เอนเคาเตอร์ – 2560) หรือสิ่งที่หญิงสาวเผชิญ หรือค้นพบ การปะทะ ชมแล้วอนุมานดูเอาว่าจะเข้าในความหมายใด เรื่องของผู้กำกับหญิงวัย 23ยูกะ เอดะ เอง เล่าถึงเด็กสาวที่สูญเสียเสียงไปจากการถูกรังแกที่โรงเรียน ช่วงเวลาเดียวที่สุขสงบของเธอ คือการเข้าไปในภูเขาดูแลสัตว์เลี้ยงที่เป็นตัวไหม
หนังเรื่องนี้ชนะรางวัลขวัญใจผู้ชมมูสิค แล็บ เพลงประกอบโดย เทนโกอุเซอิ จัดประเภทเป็นหนังชีวิตวัยรุ่น จินตนาการ (Teen Drama, Fantasy) เวลาฉาย 101 นาที
Rent A friend (เรนท์ อะ เฟรนด์ – 2561) หรือเช่าเพื่อน หนังโรแมนติค คอมเมดี้ ที่คนส่วนมากชอบ ชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์ มูสิค แล็บ 2018 กับเทศกาลหนังญี่ปุ่น 2562 เทศกาลหนังนานาชาติโตเกียว กับที่จีนที่ออสเตรเลีย เรื่องนี้ท่าจะพลาดไม่ได้ ว่ามั้ย
หนังซึ่งตั้งคำถามถึงมิตรภาพนิรันดร์ระหว่างหญิงกับชาย โดยผู้กำกับหญิงหน้าใหม่ที่กำลังมาแรง มายุ อะคิยะมะ เพลงประกอบ บีโอเอ็มไอ กับ โย อิริเอะ เวลาฉาย 78 นาที
Life Finds a Way (ไลฟ์ ไฟน์ดส์ อะ เวย์ – 2561) หรือชีวิตหาทางเอง เรื่องของการเอาตัวผ่านชีวิตประจำวัน ของผู้กำกับแสนทะเยอทะยาน แถวชานเมือง แสดงโดยผู้กำกับเอง ฮิโระฟุมิ วะตะนะเบะ โดยมีน้องชายช่วยทำเพลงประกอบ ทริปเปิลไฟร์ เป็นหนังที่ผสานเรื่องจริงกับเรื่องแต่งเข้าด้วยกัน ฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่งทั่วโลก
เป็นหนังประเภทคอมเมดี้ เวลาฉาย 100 นาที
Wander Life (วานเดอร์ ไลฟ์ – 2561) หรือชีวิตวเนจร เรื่องของนักเรียนหญิงโดดเดี่ยว ที่แสดงความคิดความรู้สึกผ่านการเขียนอย่างเดียว วันหนึ่งซึ่งหลบอยู่ในห้องพยาบาล เธอได้พบอาจารย์ที่กลายเป็นผู้มาเปลี่ยนชีวิต หนังเรื่องนี้ชนะรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ซุริ นะกะมุระ กับรางวัลภาพยนตร์ขวัญใจผู้ชมของมูสิค แล็บ 2018
ผู้กำกับ นาโนะ คะมิมุระ เพลงประกอบ สแวงกี้ ด้อกส์ หนังชีวิตวัยรุ่น 77 นาที
ยังมีเรื่องของหนุ่มสาวที่ค้นหาความงามของโตเกียวยามค่ำคืน หลังรถไฟขบวนสุดท้าย (Inner Loop Couple) ที่ชนะรางวัลมามากมายในสาขาหนังสั้น 30 นาที และที่น่าสมเพชจากคำโกหกเล็กๆบนโซเชียล เรื่องของชายซึ่งรู้ว่าเพื่อนร่วมงานอยู่เบื้องหลังคดีฆาตกรรมอันโด่งดัง เมื่อเผยเรื่องผ่านโซเชียลว่ารู้ตัวฆาตกร และให้สัมภาษณ์สื่อ ชีวิตก็เปลี่ยนไป (Made in Japan)
ยังมีเรื่องเด็กหญิงที่รักเพื่อนหญิงที่มีคนรักอยู่แล้ว (Please Don’t Go Anywhere) เรื่องวัยรุ่นสามคนซึ่งไม่รู้จักทั้งสุขและทุกข์ ที่ค้นหาตัวเองผ่านเสียงดนตรี (Moonless Dawn) ฯลฯ พอสังเกตุคร่าวๆได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของหนุ่มสาวซึ่งเป็นผู้กำหนดอนาคตสังคมทั้งสิ้น
ดังนั้น ความคิดที่ส่งผ่านงานของบรรดาผู้กำกับสาวหนุ่มทั้งหลายเหล่านั้นมา จึงน่ามองให้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นความคิดของคนในสังคมที่โลกยอมรับกันว่า รับผิดชอบส่วนรวมอย่างมากที่สุด
แต่มนุษย์เป็นปัจเจกบุคคล
หนังเหล่านี้จะแสดงความเป็นปัจเจกในสังคมที่ต้องคิดถึงส่วนรวมควบคู่กันไปด้วยลักษณะไหน
เข้าไปชมภาพยนตร์ได้เลยเดี๋ยวนี้ที่ https://www.japanesefilmfest.org/streaming/ ในยามที่กำลังกังวลกับโรคระบาด ก็หวังว่าจะมีเวลาเพลิดเพลินกับการใช้ความคิดเรื่องอื่นๆบ้าง โดยเฉพาะจากภาพยนตร์ชั้นดีทั้ง 12 เรื่อง ซึ่งต้องขอบคุณมูลนิธิญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ที่บริการอย่างดี
ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากโรคระบาดโดยทั่วทุกตัวคน เทอญ.
…
อารักษ์
ขอซับไทยค่ะ
02 พ.ค. 2563 เวลา 04.05 น.
ดูทั้งหมด