ไอที ธุรกิจ

คิดนอกกรอบ พัฒนา “อีซี่มันนี่”  โรงรับจำนำ สู่สถาบันการเงิน

ฐานเศรษฐกิจ
อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 00.40 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 00.35 น. • Thansettakij

ในขณะที่คนไทยกำลังประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากวิกฤติโควิด -19 ทำให้หลายคนถูกลดเงินเดือน ตกงาน และกิจการทำรายได้ลดลง เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดกำลังซื้อ ธุรกิจโรงรับจำนำก็เช่นกัน “สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ผู้ให้บริการโรงรับจำนำ อีซี่มันนี่ (Easy Money)

บอกเลยว่า ช่วงนี้คนใช้บริการน้อยลง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจสถานการณ์ ทำให้หยุดการจับจ่ายใช้สอย ต่างคนต่างรัดเข็มขัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ

“เทียบกับเศรษฐกิจปกติ คนจะมาจำนำเยอะ เพราะต้องการเงินไปใช้ในชีวิตประจำวัน และหมุนเวียนเศรษฐกิจ จ่ายเงินเดือนพนักงาน และอื่นๆ แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี การใช้จ่ายก็จะลดลง เพราะคนขาดความมั่นใจว่าจะมีรายได้เข้ามาหรือไม่ จึงพยายามไม่เป็นหนี้”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤติที่ค่อนข้างหนัก แต่เชื่อว่าในที่สุดก็จะฟื้นตัวได้ พอเริ่มปลดล็อค เปิดเมือง ธุรกิจจะกลับมา ช่วงนั้นจะมีคนมาจำนำเยอะ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมา ร้านอาหาร สถานประกอบการ ต่างต้องการเงินทุนเพื่อไปหมุนเวียนธุรกิจให้เดินหน้าต่อ เพราะฉะนั้น คือต้องเตรียมกำลังคน และพัฒนาบริการให้สนองตอบผู้ใช้บริการให้มากที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด

ระหว่างที่คนยังกังวลกับการใช้เงิน ธุรกิจขาดรายได้ไปบางส่วน แต่ผู้บริหารโรงรับจำนำ อีซี่มันนี่ บอกว่า บริษัทไม่มีนโยบายลดพนักงาน ลดเงินเดือน หรือแม้แต่สวัสดิการใดๆ จากจำนวนพนักงานขององค์กรที่มีอยู่กว่า 1,000 คน และยังมีแผนขยายธุรกิจต่อเนื่อง แม้จะต้องลดเป้าลงบ้าง จากการประเมินสถานการณ์ ที่เดิมวาง แผนว่าจะขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้อีก 10 สาขา ก็ปรับลดเหลือประมาณ 5-6 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด

ผู้บริหารท่านนี้ บอกว่า ตอนนี้ยังไม่อยากจะพูดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แต่การดำเนินธุรกิจของเขาเดินหน้าอย่างมีเป้าหมาย จากจุดเริ่มต้นที่ปรับรูปแบบธุรกิจโรงรับจำนำรูปแบบเดิมๆ ที่มีประตูสองบาน เป็นสถานที่อับทึบ มีม่านไม้ไผ่ ลูกค้าไม่สบายใจนักเวลาเข้าใจบริการ เพราะกลัวจะเจอหลวงจู๊กดราคา หรือหวั่นจะถูกตัดข้อสร้อยทอง แต่ก็ยังมีข้อดี ที่สะดวก และได้เงินเร็ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เราจึงนำ Pain Point เหล่านั้น มาแก้ไข แล้วนำเสนอออกมาเป็นโรงรับจำนำรูปแบบใหม่ วางตัวเองเป็นสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ  ปรับปรุงสถานที่ให้เป็นสถาบันการเงิน เคาน์เตอร์เป็นกระจก ผู้เข้าบริการสามารถมองเห็นทุกอย่างชัดเจน ทองที่นำมาจำนำ ก็จะเห็นตอนชั่งว่ามีน้ำหนักเท่าไร เมื่อมารับคืน ก็ต้องได้ของเดิม ที่มีน้ำหนักเท่าเดิมกลับไป ด้วยการดูแลทรัพย์เล่านั้นอย่างดี การให้บริการเทียบเท่าสถาบันการเงิน”

ตลอด 15 ปี ที่ให้บริการ อีซี่มันนี่ จึงสามารถขยายการเติบโต และเพิ่มสาขามาได้ต่อเนื่อง โดยลูกค้าหลักของโรงรับจำนำมี 2 กลุ่มคือลูกค้าทั่วไป มีเงินเดือนประจำ เอาเงินไปใช้ชีวิตประจำวัน และอีกกลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การบริหารธุรกิจ คีย์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจเกินหน้า คือ “คน” เพราะฉะนั้น ในวิกฤติใหญ่ครั้งนี้ บริษัทจึงไม่มีแผนลดคน โดยมี่ผ่านมา อีซี่มันนี่เลือกพนักงานที่เป็นคนดี ไม่ได้เน้นคนเก่งแล้วนำคนดีเหล่านั้นมาพัฒนา ด้วย Core Value หรือวัฒนธรรมองค์กร ที่กลั่นกรองตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยหลักเกณฑ์ 5 เรื่องเรียกว่า Code of conduct “TRUST” ได้แก่ T : “Technical Knowledge” คือ การมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ โดยสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตนเองให้มีความรู้ด้านวิชาชีพ ขณะเดียวกันก็พัฒนาจิตให้เข้มแข็งและเป็นคนดีด้วย

R : “Running the Business” (Relentless) คือ ขยันหมั่นเพียร พยายามอย่างสุดความสามารถและต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยผู้นำทำหน้าที่ผลักดันให้พนักงานได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ U : “Unity” ความสามัคคี ปฎิบัติงานร่วมกับผู้อื่น เป็นทีมเดียวกัน S : “Strategic Thinking” การวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กล้าคิด กล้าทำ เข้าใจสถานะ สภาพแวดล้อม สามารถปรับตัว หรือแก้ไขปัญหาได้ และ T : Trust คือ ความซื่อสัตย์ ไว้ใจได้

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่ “สิทธิวิชญ์” ทำมาต่อเนื่อง คือ การพัฒนานวัตกรรม เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เปลี่ยนจากเครื่องปั๊มนิ้วมือ มาเป็นเครื่องสแกนลายนิ้วมือ และ การใช้ระบบบาร์โค้ด และในช่วงโควิด-19 ยังพัฒนาแอพลิเคชั่น ที่เรียกว่า อีซี่ สมาร์ท เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถชำระ

ดอกเบี้ยจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปที่สาขา ซึ่งอนาคตจะมีการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ขึ้นมาอีก เพื่อพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งหมดนั่นคือ วิธีการทำธุรกิจที่คิดนอกกรอบ นำ Pain Point ที่เห็นมาปรับ เพื่อสร้างธุรกิจที่สนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการให้มากที่สุด

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ดูข่าวต้นฉบับ