จากเมื่อคืนที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นแสงเขียวสว่างวาบกลางท้องฟ้ายามราวสามทุ่มเศษ และพากันตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอะไร บ้างก็ว่าเป็นดาวตก อุกกาบาต ดาวหาง หรือแม้กระทั่งจรวด ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าวัตถุทั้งสี่นี้เมื่อปรากฏให้เห็นนั้นแตกต่างกันอย่างไร รวมไปถึงข้อสังเกตในการแยกแต่ละวัตถุ
ดาวตก : เกิดจากเศษชิ้นส่วนของวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกแล้วเกิดการลุกไหม้ ปกติเรามักจะใช้คำว่า “เสียดสี” กับชั้นบรรยากาศโลก แต่แท้จริงแล้วการลุกไหม้ของวัตถุนั้น เกิดจากการบีบอัดอากาศเสียจนมีอุณหภูมิสูงจนลุกเป็นไฟ แล้วเผาไหม้วัตถุไปในที่สุด ในแต่ละวันนั้นจะมีดาวตกประมาณหนึ่งล้านดวงตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลกเรา แต่ครึ่งหนึ่งตกมาในเวลากลางวันที่สังเกตได้ยาก และที่เหลือส่วนมากก็ตกลงในทะเล หรือพื้นที่ห่างไกลไม่มีคนสังเกตเห็น
อุกกาบาต : แท้จริงแล้วอุกกาบาตนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกันกับดาวตก แต่เรามักจะใช้คำว่าอุกกาบาตแทนถึง "ก้อน" ที่สามารถหยิบจับต้องได้ และใช้คำว่า ดาวตก แทนปรากฏการณ์สว่างวาบบนฟ้า พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเห็นเป็นลูกไฟบนฟ้า เราจะเรียกว่า "ดาวตก" แต่ถ้าเราหยิบมาเป็นก้อนได้ เราจะเรียกว่า "อุกกาบาต" ซึ่งดาวตกส่วนมากนั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าจะมีอะไรที่หลงเหลือเป็นอุกกาบาตได้ นอกจากนี้ อุกกาบาตยังต่างจาก "ดาวเคราะห์น้อย" ตรงที่อุกกาบาตหมายถึงวัตถุที่ตกลงมายังพื้นโลกแล้ว แต่ดาวเคราะห์น้อยนั้นจะยังอยู่ในอวกาศ ซึ่งเราอาจจะต้องส่งยานออกไปศึกษา หรือสังเกตการณ์จากโลก
ดาวหาง : ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา มีแหล่งกำเนิดห่างไกลออกไป แต่จะมีช่วงที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใจที่ซึ่งมีโลกของเราอยู่ เมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์อาจจะระเหยออก ทิ้งเป็นก้อนแก๊สและเศษน้ำแข็งขนาดเล็กไปตามวงโคจรของมัน ปรากฏเป็นหางยาวออกมา เราจึงเรียกว่า "ดาวหาง”
จรวด : วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบรรทุกบางอย่างออกไปนอกโลก จรวดนั้นขับเคลื่อนโดยการทิ้งแก๊สเอาไว้เบื้องหลัง จึงอาจจะสังเกตลักษณะคล้ายกับ "หาง" ลากเป็นทางยาว แต่จรวดนั้นอาจจะอยู่สูงเลยออกไปนอกชั้นบรรยากาศ จึงไม่ได้มีการเผาไหม้แล้ว
ขยะอวกาศ : สิ่งที่มนุษย์สร้างในวงโคจรรอบโลกที่บางทีอาจตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก และเผาไหม้ไป แต่กลไกของขยะอวกาศนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้แตกต่างอะไรกับดาวตก จึงมีลักษณะแทบจะเหมือนกันทุกประการ จนบางครั้งก็แยกไม่ออก
[ วิธีสังเกต ] เนื่องจากวัตถุทั้งหมดนี้มีที่มาที่แตกต่างกัน จึงมีลักษณะสำคัญที่สังเกตได้และนำไปใช้วิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่าวัตถุดังกล่าวน่าจะเป็นอะไร
ดาวตก : ดาวตกนั้นเผาไหม้จากความเร็วที่ตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก จึงมีการเคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดในบรรดาวัตถุที่กล่าวมานี้ แม้ว่าในภาพนิ่งแล้ว ดาวตก ดาวหาง และจรวด จะปรากฏ "หาง" ด้วยกันทั้งหมด แต่ดาวตกโดยทั่วไปนั้นจะกินเวลาเพียงประมาณไม่กี่วินาทีจนถึงเสี้ยววินาที เว้นเสียแต่เป็นดาวตกที่ลูกใหญ่มาก ๆ หากไม่ได้มีการสังเกตการณ์ท้องฟ้า ณ ตำแหน่งนั้นเอาไว้อยู่แล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหันกล้องไปบันทึกภาพได้ทัน ด้วยเหตุนี้ ดาวตกจึงมักจะถูกบันทึกโดยกล้องวงจรปิด กล้อง dashcam หน้ารถ หรือกล้องที่ถ่ายภาพต่อเนื่อง หากเป็นภาพนิ่งก็มักจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญกับคนที่ถ่ายภาพอื่นอยู่แล้ว ดังนั้นหากเห็นภาพเป็นวิดีโอที่มีจุดสว่างลุกวาบขึ้นมาก่อนที่จะหายไป ความเป็นไปได้มากที่สุดจึงเป็นดาวตก ซึ่งรวมไปถึงขยะอวกาศที่เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศด้วย
อุกกาบาต : เนื่องจากอุกกาบาตไม่ใช่ปรากฏการณ์ แต่เป็นคำที่ใช้กับตัวก้อนของดาวตกที่เหลือรอดมายังพื้นดิน เราจึงจะเห็น "อุกกาบาต" ในสภาพที่เป็นก้อนอยู่บนโลกแล้วเท่านั้น ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเห็นอุกกาบาตของจริงก็คือที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ดาวหาง : ด้วยความที่ดาวหางมีรูปร่างปรากฏเป็นหาง จึงมักสร้างความเข้าใจผิดว่ามันจะต้อง "เคลื่อนที่" ราวกับพุ่งไปในท้องฟ้า แม้ว่าดาวหางนั้นจะเคลื่อนที่อยู่จริง ๆ แต่การเคลื่อนที่ของดาวหางไม่จำเป็นจะต้องเคลื่อนที่ไปตามแนวของหางเสมอไป (ในภาพประกอบนี้ แท้จริงแล้วดาวหางกำลังเคลื่อนที่ออกห่างออกไป) และแท้จริงแล้วดาวหางนั้นอยู่ห่างไกลออกไปจากโลกเป็นอย่างมาก หากดูด้วยตาเปล่า ดาวหางจึงแทบไม่มีการเคลื่อนที่ปรากฏเลยแต่จะเห็นเหมือน “ลอยค้าง” อยู่บนท้องฟ้า จึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะเห็นว่ามันเคลื่อนที่ได้ในวิดีโอต่าง ๆ นอกจากนี้ ดาวหางนั้นได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เราจึงมักจะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำหรือรุ่งเช้า โดยห่างจากขอบฟ้าไม่มากนัก และเมื่อดูด้วยตาหรือบันทึกภาพแล้ว ดาวหางจะปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ ที่ไม่ได้เป็นจุดหรือเส้นที่ชัดเจนด้วยซ้ำ
จรวด : จรวดนั้นอาจจะมีรูปร่างลักษณะเป็นฝ้าจาง ๆ คล้ายกับดาวหาง ด้วยความที่ในละแวกประเทศไทยนั้นไม่ได้มีฐานปล่อยจรวดมากนัก จึงเป็นวัตถุที่เห็นได้ไม่ค่อยบ่อยในประเทศไทย (ที่เห็นได้มากที่สุดอาจจะเป็นจรวดที่ปล่อยจากฐานปล่อยของ ESA ที่ French Guina เช่น จรวด Ariane 5) แต่จรวดนั้นจะมีสีที่แตกต่างออกไปจากดาวหาง และอาจจะมีความสว่างมากกว่า ที่สำคัญกว่านั้น เนื่องจากจรวดนั้นอยู่ใกล้โลกกว่ามาก จึงมีความเร็วปรากฏที่สูงกว่า โดยจะมีการโคจรไปรอบ ๆ โลกในอัตราใกล้เคียงกับดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ และจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการเดินทางข้ามขอบฟ้าไป
[ แถม วัตถุที่มักจะทำให้คนเข้าใจผิดได้บ่อย ๆ ! ]
เครื่องบิน : อีกวัตถุหนึ่งที่มักจะสร้างความเข้าใจผิดบ่อย ๆ ก็คือเครื่องบินธรรมดานี่แหล่ะ วิธีสังเกตเครื่องบินก็คือเครื่องบินมักจะเป็นจุดที่เคลื่อนที่ได้ และหากสังเกตดี ๆ อาจจะพบว่าเครื่องบินนั้นมีการกะพริบได้ เนื่องมาจากไฟที่ปีกทั้งสองข้าง
ดาวเทียม : ดาวเทียมจะปรากฏคล้ายกับดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง แต่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ดาวเทียมบางดวง เช่น สถานีอวกาศนานาชาติ อาจจะมีความสว่างเป็นดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในขณะนั้นเลยทีเดียว โดยดาวเทียมอาจจะเคลื่อนที่ข้ามขอบฟ้าภายในเวลาไม่กี่นาที ดาวเทียมนั้นได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ จึงจะสามารถสังเกตเห็นได้ดีเฉพาะในช่วงหัวค่ำกับรุ่งเช้า บางครั้งเมื่อดาวเทียมเคลื่อนที่เข้าไปในเงาของโลกอาจจะพบแสงจางหายไปกลางท้องฟ้าได้ นอกจากนี้ ดาวเทียมบางดวงอาจจะมีแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้เมื่อมุมตกกระทบพอดีกับแนวสายตา ปรากฏเป็นแสงสว่างวาบขึ้นมาและจางหายไป เรียกว่า Iridium Flare ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นดาวตกได้ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายด้วยกล้องถ่ายรูปด้วยการเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน
เรื่อง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ สดร.
ขอบคุณบทความ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ