สังคม

ฝังไมโครชิป! กทม. จ่อจัดระเบียบใหม่หมา-แมว คุมปัญหาสัตว์จรจัด

Thai PBS
อัพเดต 04 พ.ย. เวลา 00.45 น. • เผยแพร่ 03 พ.ย. เวลา 09.09 น. • Thai PBS

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2567 กรุงเทพมหานครเตรียมประกาศใช้ข้อบัญญัติใหม่ เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ในพื้นที่ โดยนายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมติเห็นชอบให้ผ่านร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด และสัตว์ดุร้ายที่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชนในกรุงเทพฯ และช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับประชาชน

การพิจารณาร่างข้อบัญญัตินี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้จัดประชุมหลายครั้ง รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านระบบออนไลน์ และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และองค์กรช่วยเหลือสัตว์หลากหลายแห่ง เช่น มูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา) มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) และองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ SOS Animal Thailand โดยร่างข้อบัญญัตินี้ได้ถูกปรับแก้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลักการสำคัญของร่างข้อบัญญัตินี้ คือกำหนดขนาดพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในแต่ละประเภท เพื่อลดปัญหามลภาวะ เช่น กลิ่นไม่พึงประสงค์และเสียงรบกวน นอกจากนี้ยังระบุให้สุนัขและแมวทุกตัวต้องได้รับการฝังไมโครชิปเพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลและระบุเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างชัดเจน มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสัตว์จรจัดในอนาคต หากสัตว์เลี้ยงใดก่อให้เกิดปัญหาหรือรบกวนผู้อื่น เจ้าหน้าที่สามารถติดตามและตักเตือนหรือดำเนินการตามกฎหมายได้

ในส่วนของสัตว์ดุร้ายที่อาจเป็นภัยต่อสาธารณชน หน่วยงานกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการย้ายสัตว์ไปยังศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัขกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในเขตประเวศ และสำหรับการจัดการกับสัตว์จรจัด กรุงเทพมหานครยังมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทำหมันสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัดในชุมชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาการเลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่ เช่น ร้านอาหารบางแห่งที่เลี้ยงสุนัขจำนวนมากและสร้างกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ทำให้เพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจนต้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร่างข้อบัญญัติใหม่นี้มีแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยตรง

หลังจากข้อบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้เลี้ยงสัตว์จะต้องจดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง และกำหนดให้มีระยะเวลาผ่อนผัน 360 วัน เพื่อให้ผู้เลี้ยงสัตว์มีเวลาปรับตัว ก่อนเริ่มบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หากมีการฝ่าฝืน ทั้งนี้ในกรณีของผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อการผสมพันธุ์หรือประกอบธุรกิจ ก็สามารถยื่นขออนุญาตเพิ่มเติมได้ตามกฎหมาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายนภาพล จีระกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า "เมื่อข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้ประกาศใช้ จะช่วยแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด และสัตว์ดุร้ายในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เมืองมีความปลอดภัยมากขึ้นและมีสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับประชาชน"

เช็กเงื่อนไข บ้าน-คอนโด เลี้ยงหมาแมวได้กี่ตัว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ประกอบกับมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหามหานครนี้

สาระสำคัญของร่างข้อบัญญัตินี้ ประกอบด้วย การเลี้ยงสัตว์ ห้ามมิให้ผู้ใด เลี้ยงสุนัขและแมวในที่หรือทางสาธารณะหรือในที่ของบุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอม การปล่อยสัตว์ สถานที่เลี้ยงสัตว์ การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว โดยให้กทม.เป็นเขตห้ามเลี้ยงสุนัขและแมว เกินจำนวนที่กำหนด

  • พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า ตั้งแต่ 20-80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หากเกิน เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
  • เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
  • เนื้อที่ดิน 20-50 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว
  • เนื้อที่ดิน 50-100 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
  • เนื้อที่ดิน 100 ตารางวา ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว

กำหนดสุนัขควบคุมพิเศษ ได้แก่ พิตบูลเทอเรีย, บูลเทอเรีย, สเตฟอร์ดเชอร์ บูลเทอเรีย, ร็อตไวเลอร์ และ ฟิล่า บราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตรตลอดเวลา

เจ้าของต้องนำสัตว์เลี้ยงไปทำเครื่องหมายระบุตัวอย่างถาวรจากสัตว์แพทย์ โดยการฝังไมโครชิปตามมาตรฐานที่ กทม. กำหนด พร้อมนำใบรับรองไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขสำนักอนามัยหรือสำนักงาน ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวจะมีโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจะทำให้ กทม. แก้ไขปัญหาจรจัด และประชาชนมีความปลอดภัยจากสัตว์เลี้ยง

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจสุนัขและแมวในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยอาสาสมัครสาธารณสุขของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 67 แห่ง พบว่าในปี 67 มีสุนัขและแมว จำนวนทั้งสิ้น 198,688 ตัว

  • สุนัขที่มีเจ้าของ 53,991 ตัว จรจัด 8,945 ตัว รวม 62,936 ตัว
  • แมวที่มีเจ้าของ 115,821 ตัว จรจัด 19,925 ตัว รวม 135,752 ตัว

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติดังกล่าวในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้ง 35 คน จากนี้ ฝ่ายเลขานุการสภากทม.จะเสนอร่างดังกล่าวให้ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้วันถัดไปหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 360 วัน

อ่านข่าวอื่น :

ดีเอสไอจ่อฟันข้อหา "แชร์ลูกโซ่" บอสดิไอคอน

ฉ้อโกง-โฆษณาชวนเชื่อ! ส่งฟ้อง 5 ข้อหาหนัก "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์"

ดูข่าวต้นฉบับ