ทั่วไป

ทำความรู้จัก ‘สายตรวจไซเบอร์’ หน่วยลาดตระเวนบนโลกออนไลน์ มือปราบมิจฉาชีพยุค 5G

Khaosod
อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว

ทำความรู้จัก ‘สายตรวจไซเบอร์’ หน่วยลาดตระเวนบนโลกออนไลน์ มือปราบมิจฉาชีพยุค 5G

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ภัยจากอาชญากรรมโลกออนไลน์ เข้าใกล้ตัวเราทุกวัน และเราต้องจะรับมือกับภัยโลกออนไลน์ ได้อย่างไร วันนี้มาทำความรู้จักกับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท) ผบช คนใหม่ ที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่ง ผบช ได้เข้ามาปัดฝุ่นโครงการสายตรวจไซเบอร์’ หน่วยลาดตระเวนบนโลกออนไลน์มือปราบมิจฉาชีพยุค 5G ขึ้นมา ให้ทันยุคสมัย

โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวถึง โครงการสายตรวจไซเบอร์ เป็นอีกหนึ่งภารกิจของตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ให้โดยมีแนวความคิดคล้ายกับการจัดสายตรวจพื้นที่ มีหน้าที่ออกตรวจข้อมูลคดีออนไลน์ จากฐานข้อมูลในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Thaipoliceonline.go.th) และการตรวจหาข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทางออนไลน์จากแหล่งข้อมูลเปิดต่าง ๆ หลังจากตรวจพบข้อมูลที่อาจเป็นภัยออนไลน์ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะจัดทำรายงานสายตรวจในลักษณะของรายงานข่าวกรอง นำเสนอเพื่อปฏิบัติการสืบสวนสอบสวน และปฏิบัติการเชิงรุกต่อไป

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับ สายตรวจไซเบอร์ กำหนดให้มีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าเวรทุกวัน ตรวจสอบเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นภัยต่อประชาชนในระบบรับแจ้งความออนไลน์ (Thaipoliceonline.go.th) และแหล่งข่าวเปิด เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ว่ามีภัยออนไลน์ใดที่สร้างความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก มีความเสียหายสูง เป็นคดีที่น่าสนใจ แล้วออกรายงานข่าวกรองเพื่อให้มีข้อเสนอดำเนินการ เช่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

- การป้องกันโดยดำเนินการเชิงรุกกับบัญชีคนร้ายหรือบัญชีม้าแถวสองเป็นต้นไป โดยมาตรการเสนอชื่อเป็นบุคคลผู้มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมายฟอกเงิน
- การป้องกันโดยติดต่อเตือนภัยเหยื่อที่ยังไม่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา
- การป้องกันโดยการปิดบัญชีออนไลน์ในแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ
- การป้องกันโดยประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รู้แผนประทุษกรรมหรือรูปแบบการหลอกลวงใหม่ ๆ
- การสืบสวนขยายผล และ การดำเนินคดีกับความผิดอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เป็นต้น

ในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ พล.ต.ท. ไตรรงค์ อธิบายว่า ผู้บังคับบัญชาจะคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจฝ่ายประมวลผล สืบสวน สอบสวน ที่มีความชำนาญในการตรวจสอบวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวน 12 คน แบ่งเป็น ระดับสารวัตร 6 คน รองสารวัตร 6 คน มอบหมายให้เข้าเวร วันละ 2 คน (สว./รอง สว.) ทุกวัน

การตรวจสอบมุ่งเน้นในเรื่องคดีออนไลน์ หรือคดีที่มีแผนประทุษกรรมที่กระทบต่อผู้เสียหายจำนวนมาก มีความเชื่อมโยงหลายคดี หรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยสายตรวจไซเบอร์จะตรวจวิเคราะห์ และเสนอรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมอบหมายหน่วยงานในสังกัด สืบสวนสอบสวน ปฏิบัติมาตรการเชิงรุก ปิดกั้น หรือมอบหมายให้ชุดปฏิบัติการพิเศษของหน่วยสืบสวนขยายผล ทำรายงานการสืบสวน และทำการป้องกันเชิงรุกต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งระยะเวลาการดำเนินการจนเสร็จสิ้นแต่ละเคสไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่นอน ซึ่งมีเงื่อนไขจากการพิสูจน์ทราบข้อมูลต่างๆ ที่มีความซับซ้อนที่แตกต่างกัน ในบางกรณีอาจมีการติดต่อผู้เสียหาย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานขอสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย

พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบวิเคราะห์อาชญากรรมของสายตรวจไซเบอร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า Scam Centers ในต่างประเทศ (รอบประเทศไทย) สามารถหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนมากได้หลายประเภทคดี ผ่านการใช้ช่องทางสื่อสารทางโทรศัพท์อินเทอร์เน็ต (VOIP), ซิมผี หรือการโฆษณาผ่าน page facebook หลอกลวง, กลุ่มไลน์อวตาร, ใช้ domain/urls ของเว็บไซต์หลอกลวง หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลหลอกลวงจำนวนมาก จากนั้น จะให้ผู้เสียหายโอนเงินไปยังกลุ่มคนร้ายทางการเงินผ่านบัญชีม้า แล้วฟอกเงินผ่านบัญชีธนาคารไปเข้าบัญชีกลางสำหรับแลกเหรียญสกุลเงินดิจิทัล แล้วออกไปยัง non-custodian wallets

“แม้ในตอนต้นผู้เสียหายหลายรายเริ่มโอนเงินจำนวนไม่มาก แต่อาจรู้สึกเสียดายเงินที่เสียไปแล้ว จนในที่สุดก็โอนเงินไปให้คนร้ายเป็นจำนวนมากโดยขาดสติ จึงขอให้ตั้งสติ และหมั่นตรวจสอบข้อมูล สอบถามข้อมูลหากว่าอาจถูกหลอกลวง และโทรศัพท์ปรึกษาตำรวจไซเบอร์ได้ทางสายด่วน 1441 กด 2” พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ตำรวจไซเบอร์ยังมีแพลตฟอร์มในการป้องกันตัวเองผ่าน application ชื่อ cyber check และการตรวจสอบข้อมูลบัญชีคนร้าย/เบอร์ผีผ่าน www.checkgon.go.th

ในส่วนการผนึกกำลังระหว่างตำรวจไซเบอร์ สำนักงาน ป.ป.ง. กสทช. กระทรวง DES หน่วยงานต่างประเทศ เพื่อจะขุดรากถอนโคน ยึดทรัพย์พวกเว็บการพนัน และแก๊ง Call Center พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า เนื่องด้วยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะมีความเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานฟอกเงิน การใช้ซิมผีบัญชีม้า การใช้สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือเงื่อนไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดทั้งในและนอกราชอาณาจักร จึงเป็นไปได้ยากที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้เข้าหารือกับผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานด้วยตนเอง และขอร่วมมือในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สร้างความผาสุก อุ่นใจให้แก่ประชาชนตามนโยบาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร

โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรามี การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น ในวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ง. แถลงผลการตรวจสอบความเชื่อมโยงทางคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดำเนินคดีไว้แล้ว และสำนักงาน ป.ป.ง. ได้มีคำสั่งยึด อายัดทรัพย์ในคดีไว้ รวมมูลค่ากว่า 2500 ล้านบาท

โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1,351 คดี รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,200 ล้านบาท มายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ระหว่างวันที่ 17-20 ธันวาคม 2567 ณ อาคารประชุมสัมมนาและฝึกอบรม ตร. (เมืองทองธานี) ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี ที่ผ่านมา จากนั้นก็สามารถไปยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์กับสำนักงาน ป.ป.ง. ตามช่องทางปกติได้

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทำความรู้จัก ‘สายตรวจไซเบอร์’ หน่วยลาดตระเวนบนโลกออนไลน์ มือปราบมิจฉาชีพยุค 5G

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • WUT
    คนนี้ของจริง..ขนาดบิ๊กโจ๊ก ยังกล้าลุยเลย
    13 ชั่วโมงที่ผ่านมา
  • @sittichai@
    ในติ้กต้อก ยูทูป ท่านเข้าไปดูยังครับท่าน
    2 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ดูทั้งหมด