ทั่วไป

'นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ' : พรรคการเมืองก็เหมือนกันหมด นักการเมืองกับประชาชนก็พอๆ กัน

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 16 ธ.ค. 2565 เวลา 19.06 น. • เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2565 เวลา 19.05 น.

ท่ามกลางภาวะผันผวน-ฝุ่นตลบใน “ตลาดการเมืองไทย” ที่กำลังเกิดขึ้นช่วงปลาย “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” เสียงของนักการเมืองต่างๆ ดูจะเป็นสิ่งที่น่ารับฟังอยู่ไม่น้อย เพื่อนำไปใช้ประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ รวมถึงตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึกของบรรดาผู้เล่นใน “สนามการแข่งขันทางการเมือง” อันดุเดือด

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับสิ่งที่พวกเขาแต่ละคนพูดออกมาก็ตาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หนึ่งในนักการเมืองที่เพิ่งส่งเสียงออกมาดังๆ ก็คือ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต ส.ส.หลายสมัยจากจังหวัดพัทลุง และอดีตรัฐมนตรี ซึ่งย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมสร้างพรรคสร้างอนาคตไทย

ทว่า ล่าสุด นิพิฏฐ์ได้ประกาศย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐเพื่อทำงานให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” แล้วเรียบร้อย

เมื่อราวสัปดาห์ก่อน มีโอกาสได้ฟังนิพิฏฐ์ให้สัมภาษณ์กับรายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ซึ่งเนื้อหาการพูดคุยหลายส่วนก็พอจะบ่งชี้อนาคต (ในอีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา) ได้ว่า เพราะเหตุใด นักการเมืองลายครามผู้นี้จึงต้องย้ายพรรคอีกรอบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และนี่ก็คือรายละเอียดบางส่วนจากคำสัมภาษณ์ของนิพิฏฐ์

“ในสมรภูมิการเลือกตั้งที่ผมรับผิดชอบอยู่คือภาคใต้ ผมรับผิดชอบเฉพาะชุมพรลงไปถึงสุไหงโก-ลก พรรคที่จะมาแข่งกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านเหมือนการเลือกตั้งปี 2500 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ประมาณนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“พรรคเหล่านี้เล่นปืนใหญ่เลยแหละ มันไม่ใช่ปืนลูกซอง มันเล่นกันหนักขนาดนั้นเลยแหละครับ ทีนี้เมื่อเรา (พรรคสร้างอนาคตไทย) เป็นพรรคที่เกิดใหม่ เป็นพรรคเล็ก แล้วผู้สมัครเราต้องการที่จะเข้าสู่สมรภูมินี้ มันต้องมีความแข็งแกร่งพอที่จะสู้เขาได้ ไม่ว่าจะเรื่องนโยบายก็ดี ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคก็ดี ไม่ว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ดี

“แต่ว่าถ้าอุปกรณ์เหล่านี้มันไม่พร้อมที่จะลงสู้รบ ผมพูดในพรรคมาตลอดนะครับว่าอย่าไปสู้ในสงครามที่ไม่มีทางชนะ สงครามที่ไม่มีทางชนะนี่อย่าเอาทหารเข้าไปสู้เลย เว้นแต่สงครามนั้นเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ ทหารพร้อมที่จะพลีชีพทั้งนั้นแหละครับ

“พัฒนาการของโลกนี้เราจะเห็นว่าเวลามีสงครามศักดิ์สิทธิ์ คนพร้อมที่จะตายเพื่อปกป้องความคิดบางอย่างของตัวเอง นั่นเป็นสงครามที่ศักดิ์สิทธิ์นะครับ

“แต่ว่าการเมืองไม่ใช่สงครามศักดิ์สิทธิ์ การเมืองเป็นสงครามที่ค่อนข้างจะสกปรกเสียด้วยซ้ำ ถ้าเป็นสงครามที่ค่อนข้างจะสกปรก แต่นำทหารไปสู้ในสงครามที่ไม่มีทางชนะ มันเท่ากับส่งคนไปตาย ผมพูดอย่างนี้มาตลอด

“เพราะฉะนั้น ตัวหัวหน้าพรรค ตัวแคนดิเดต ตัวนโยบาย ปัจจัยอะไรทั้งหลายต้องพร้อมที่จะเข้าสู่สงครามสกปรกนี้ให้ได้”

ในสายตาของอดีต ส.ส.หลายสมัย “สังคมการเมืองไทย” นั้นดูหมดหวังและมืดหม่นจนมองแทบไม่เห็นแสงสว่าง ดังที่เขาวิเคราะห์ว่า

“เดี๋ยวนี้พรรคการเมืองมันเหมือนกันหมด มันเลวทรามต่ำช้าใกล้เคียงกันหมดแล้วนะครับ มันอยู่ที่ว่าทุนไหนจะมากน้อยกว่ากันเท่านั้นแหละ

“เวลานี้ประชาชนก็เปลี่ยนนะครับ ผมถามประชาชนว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกตั้ง จะใช้เกณฑ์เศรษฐกิจ จะใช้เกณฑ์ปากท้องเป็นหลัก หรือจะใช้เกณฑ์การเลือกข้างทางการเมืองเป็นหลัก

“ประชาชนตอบ พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์นะครับ ตอบเหมือนกันว่าเลือกตั้งครั้งหน้า ใช้เกณฑ์แก้ปัญหาปากท้องเป็นหลัก ไม่ใช่เกณฑ์การเมือง เลือกข้าง เลือกฝ่าย เลือกสี

“แต่ถามต่อไปว่า แล้วจะเลือกอย่างไร? คำตอบนี้มันตรงกันข้ามเลยนะ ประชาชนบอกว่า ดูที่ว่าพรรคไหนเขาจะให้เท่าไหร่ นี่ตรงกันข้ามกันเลย ผมนี่เป็นนักการเมืองที่ค่อนข้างปากเสีย คือผมคิดว่านักการเมืองเป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นปรัชญาทางการเมือง

“เพราะฉะนั้น ประชาชนก็อย่าด่านักการเมือง ว่านักการเมืองมันชั่วช้าเลวทรามอย่างนู้นอย่างนี้นะครับ ก็คุณเลือกไปเองน่ะ นักการเมืองก็ไม่ได้สอบ ก.พ. ภาค ก. ภาค ข. เสียเมื่อไหร่ เขาไม่ได้วิ่งแข่งกันนี่ ใครวิ่งเร็วก็เป็นนักการเมืองไป

“นักการเมืองเป็นผลผลิตของประชาชน ประชาชนนั่นแหละเป็นคนสร้างนักการเมือง เพราะฉะนั้น อย่าด่ากันเลยระหว่างนักการเมืองกับประชาชน มันเหมือนกันแหละนะครับ

“เพราะฉะนั้น เรามาเดินถึงจุดนี้แล้ว ผมก็เลยบอกว่าถ้าจะเข้าทำสงครามทางการเมือง มันต้องมีโอกาสชนะด้วย อย่าไปเข้าสู้ในสงครามที่ไม่มีวันชนะ”

สุดท้ายแล้ว ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั่นแหละ ที่จะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่า การประเมินคุณค่าของพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชน โดย “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” นั้นมีความถูกต้องแม่นยำหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน?

ดูข่าวต้นฉบับ