ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ASF ระบาดสุกร 3 ฟาร์ม 2 อำเภอในประจวบฯ กระทบ 20 หมู่บ้าน

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 03.08 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 08.07 น.

ประจวบคีรีขันธ์ ประกาศเขตโรคระบาด ASF 3 ฟาร์มหมู 2 อำเภอ กระทบ 20 หมู่บ้านห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์

วันที่ 24 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ในฟาร์มสุกร 3 แห่งใน 2 อำเภอ พร้อมทำลายสุกรที่พบเชื้อ 117 ตัว และเฝ้าระวังทางอาการและควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตรว์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ล่าสุด มติชนรายงานว่า นายธีรศักดิ์ นาคใหญ่ ปศุสัตว์อำเภอเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แจ้งกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคระบาดสัตว์ 2558 ในท้องที่หมู่ 4 หมู่บ้านบ้านบึง ต.อ่าวน้อย โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดออกไปยังพื้นที่ข้างเคียง หรือระบาดเข้ามาในท้องที่จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด จึงออกประกาศให้หมู่ 4 ต.อ่าวน้อย ไปทางทิศเหนือจด หมู่ 3, 7 ต.อ่าวน้อย

ทางทิศใต้จด หมู่ 1, 10 ต.เกาะหลัก อำเภอเมือง ทางทิศตะวันออก จด หมู่ 2, 3 ต.อ่าวน้อย ทางทิศตะวันตก จด หมู่ 16 ต.อ่าวน้อย เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวห้ามผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ ชนิดสุกรและหรือซากสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก หรือผ่านภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หากฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ

ด้านนายลือสักดิ์ สุทธิธรรม ปศุสัตว์อำเภอทับสะแก กำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว หลังจากพบการระบาดในฟาร์มที่ บ้านหนองมะค่า หมู่ที่ 5 ต.อ่างทอง จึงออกประกาศให้ท้องที่ หมู่ที่ 5 ไปทางทิศเหนือจด หมู่ 9 ต.นาหูกวาง ทิศใต้จด หมู่ 7,11 ต.อ่างทอง ทางทิศตะวันออกจด หมู่ 1 ต.อ่างทอง ทางทิศตะวันตกจด หมู่ 7 ต.อ่างทอง เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนั้น กรณีพบฟาร์มที่บ้านโปร่งแดง หมู่ 3 ต.นาหูกวาง ตรวจพบโรคระบาดหมู จึงประกาศให้พื้นที่ทางทิศเหนือจด หมู่ 2 ต.เขาล้าน ทิศใต้จด หมู่ 6, 11 ต.นาหูกวาง ทิศตะวันออกจด หมู่ 3 ต.เขาล้าน ทิศตะวันตกจด หมู่ 5 ต.นาหูกวาง เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวฯ

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ออกตรวจฟาร์มสุกรในรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดโรค เพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ หากพบสุกรติดเชื้อในฟาร์มที่มีการเลี้ยงสุกรน้อยกว่า 50 ตัว หรือเป็นเกษตรกรรายย่อย จะต้องทำลายสุกรทุกตัว หากเป็นฟาร์มขนาดกลางที่เลี้ยงสุกร 50-500 ตัว หรือฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสุกร 500 ตัวขึ้นไป จะทำลายสุกรเฉพาะในคอกที่พบสุกรติดเชื้อ

ส่วนคอกอื่น ๆ จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ หากพบสุกรติดเชื้อก็จะทำลายสุกรทั้งคอก จากการสำรวจข้อมูลการเลี้ยงสุกรใน จ.ประจวบฯ พบว่ามีเกษตรกรประมาณ 1,000 ราย จำนวนสุกรกว่า 80,000 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 25 ราย รายกลางกว่า 100 ราย ที่เหลือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยง เพราะมีระบบการป้องกันในฟาร์มไม่ดีเท่าฟาร์มขนาดกลางถึงใหญ่ที่เลี้ยงในระบบปิด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จ่าเอกกฤติเดชา สวียานนท์ หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่างทอง อ.ทับสะแก กล่าวว่า ได้นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการฝังซากหมูที่ฟาร์มหมู่ 5 หลังจากได้รับแจ้งว่ามีหมูตายจากโรคระบาด 58 ตัว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แจ้งให้เจ้าของฟาร์มใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ขุดหลุมให้ลึก โรยปูนขาวฆ่าเชื้อ พร้อมคำแนะนำว่าไม่ควรนำซากไปผังกลบในที่ลุ่มต่ำ เหมือนบางฟาร์มในอดีต ซึ่งทำให้มีปัญหา หลังจากมีฝนตกในพื้นที่มีน้ำท่วมหลุมฝังกลบ

ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบร้านจำหน่าย เขียงหมู ห้องเย็น ฟาร์มเลี้ยงหมู ป้องกันการกักตุนเนื้อหมู ผลการสุ่มตรวจภายในห้องเย็นและสถานประกอบการในพื้นที่ อ.เมือง ได้แก่ ร้านอุงมุ้ยเฮียง ร้านหมูนพรัตน์ ห้องเย็นโรงงานเล็กปลาจิ้งจั้ง คลองวาฬ และหนองยาวฟาร์ม ต.ห้วยทราย

ทั้ง 4 แห่งไม่พบว่า มีการกักตุนเนื้อหมู ขณะที่ฟาร์มสุกรที่แจ้งยอดยังอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับฟาร์มหมูที่มีปัญหาโรคระบาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ่ายค่าเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนฟาร์มโคที่มีปัญหาโคติดเชื้อลัมปิสกินก่อนหน้านี้ และทราบว่าผู้เลี้ยงบางรายยังไม่ได้รับการเยียวยา จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ส่งเอกสารไปยังหน่วยงานในส่วนกลางแล้ว

ดูข่าวต้นฉบับ