ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 มกราคม 2567 เวลา 17:40 น.
เปิดอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มเก็บ 7 ม.ค. 2567 พร้อมส่วนลด 15% และยกเว้นค่าโดยสาร 4 สถานีรางจ่ายไฟหลุด จนกว่าจะซ่อมเสร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันเริ่มต้นการจัดเก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเลื่อนการจัดเก็บมาจากกำหนดเดิม คือวันที่ 3 มกราคม 2567 เนื่องจากเหตุการณ์รางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแคราย ถึง สถานีแยกปากเกร็ด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับอัตราค่าโดยสารปกติ ของรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น ตามประกาศข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ. 2566 กำหนดให้อัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู อยู่ที่ 15-45 บาท ขึ้นกับระยะทางของแต่ละสถานี
โดยอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นดังนี้
- เดินทาง 2 สถานี 17-21 บาท
- เดินทาง 3 สถานี 21-25 บาท
- เดินทาง 4 สถานี 23-29 บาท
- เดินทาง 5 สถานี 26-32 บาท
- เดินทาง 6 สถานี 28-36 บาท
- เดินทาง 7 สถานี 30-39 บาท
- เดินทาง 8 สถานี 36-42 บาท
- เดินทาง 9 สถานี 39-45 บาท
- เดินทาง 10 สถานี 41-45 บาท
- เดินทาง 12 สถานี 44-45 บาท
- เดินทาง 13 สถานีขึ้นไป 45 บาท
ทั้งนี้ ค่าโดยสารดังกล่าว เฉพาะสถานีหลัก 30 สถานี ยังไม่รวมส่วนต่อขยายเมืองทองธานี 2 สถานี โดยสามารถตรวจสอบค่าโดยสารแต่ละสถานีต้นทาง-ปลายทางได้ตามตารางข้างล่างนี้
ลดค่าโดยสาร 15%-ยกเว้นค่าโดยสาร 4 สถานี รางจ่ายไฟหลุด
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในวันที่ 7 มกราคม 2567 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่สถานีกรมชลประทาน (PK05) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30) และยกเว้นการเก็บค่าโดยสารในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04) จำนวน 4 สถานี จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขรางจ่ายไฟแล้วเสร็จ
โดยระหว่างนี้จะลดอัตราค่าโดยสารลง 15% จากอัตราปกติ ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 13-38 บาท เพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ
สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า หลังหักส่วนลด 15% แล้วนั้น เฟซบุ๊กแฟนเพจ Rabbit Card โพสต์ตารางอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มต้น 13-38 บาท และยกเว้นค่าโดยสารใน 4 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04) โดยอัตราค่าโดยสาร เป็นไปตามตารางด้านล่างนี้
ทั้งนี้ ระหว่างการซ่อมรางจ่ายกระแสไฟฟ้า สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04) นั้น บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ดำเนินการปรับรูปแบบการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในช่วงดังกล่าว เป็นดังนี้
- สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีกรมชลประทาน (PK05) เปิดเดินรถแบบวิ่งไป-กลับทางเดียว (Shuttle)
- สถานีกรมชลประทาน (PK05) จนถึงสถานีมีนบุรี (PK30) เปิดเดินรถทั้ง 2 ฝั่งตามปกติ
เมื่อการซ่อมรางจ่ายกระแสไฟฟ้าเสร็จสิ้น สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีกรมชลประทาน (PK05) จะกลับมาเดินรถทั้ง 2 ฝั่งตามปกติเช่นกัน
ใช้บัตร EMV ได้ส่วนลดค่าแรกเข้า
สำหรับผู้ใช้บัตร EMV Contactless หรือบัตรเครดิต VISA-Mastercard ของทุกธนาคาร และบัตรเดบิตธนาคารกรุงไทย-ธนาคารยูโอบี จะได้ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ เมื่อใช้บัตร EMV ใบเดียวกัน เข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยจะต้องเปลี่ยนระบบที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ภายในเวลา 30 นาที และได้รับส่วนลดดังนี้
- ส่วนลด 13 บาท เมื่อเปลี่ยนระบบจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง (ฉลองรัชธรรม) ไปรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู
- ส่วนลด 14 บาท เมื่อเปลี่ยนระบบจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไปรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง (ฉลองรัชธรรม)
ทั้งนี้ กรณีเปลี่ยนสายไปรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า และกรณีเปลี่ยนสายจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีแดง หากใช้งานบัตร EMV Contactless จะต้องแตะออกจากระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังไม่รองรับการใช้งานบัตร EMV Contactless
- ราชกิจจาฯ ประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มต้น 15-45 บาท
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดทดลองครบ 30 สถานี ต่อเวลาฟรีถึง 6 ม.ค. 2567
- เปิดเส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีอะไร ใกล้สถานที่ไหน
- BITE SIZE : Next Station รถไฟฟ้าสายสีชมพู
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มเก็บเงิน 7 ม.ค. 67 เช็กค่าโดยสารพร้อมส่วนลด
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net