ทั่วไป

Acoustic Energy AE1 Active Powered Speaker (จบ)

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 15 พ.ย. 2566 เวลา 09.13 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2566 เวลา 01.00 น.

มาดูโครงสร้างภาพลักษณ์ภายนอกของลำโพงคู่นี้กันบ้าง

สิ่งแรกที่เห็นคืองานฝีมือนั้นต้องบอกว่าเนี้ยบ เฉียบ และประณีตมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เท่าที่ทราบตัวตู้นั้นมีให้เลือกสามสีหรือสามแบบด้วยกัน คือผิวตู้มันวาวแบบ Glossy Piano สีดำกับสีขาว ส่วนอีกแบบใช้การแปะผิวในลักษณะวีเนียร์ด้วยลายไม้แท้ (วอลนัท) แล้วเคลือบเงาขัดมันแวววาว แลหรูดูดีเอาการครับ ที่พูดเช่นนั้นได้เต็มปากเต็มคำก็เพราะเป็นคู่ที่อยู่ด้วยกันมานั่นเอง

สำหรับวัสดุที่นำมาขึ้นรูปทำผนังตู้คือ MDF : Medium Density Fiberboard ที่มีความหนาถึง 18 มิลลิเมตร พร้อมมีการคาดดามภายในเพื่อเสริมความแกร่งและให้มีความเสถียรสูงขณะทำงาน

ส่วนตะแกรงหรือแผงหน้ากากลำโพงที่ปิดทับเพื่อปกป้องชุดตัวขับเสียงนั้น ใช้ผ้ายืดโปร่งสีดำขึงรอบกรอบตะแกรงและยึดติดกับแผงหน้าตู้ด้วยดุมแม่เหล็ก เป็นแผงตะแกรงที่ลบเหลี่ยมมุมทั้งสี่แบบเดียวกับโครงสร้างตู้ ตอนล่างของแผงหน้ากากมีตราสัญลักษณ์ AE ให้เห็นอย่างเด่นชัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และเมื่อดึงแผงหน้ากากออกจะเห็นคำว่า Acoustic Energy ที่แผงหน้าตู้ลำโพง ณ ตำแหน่งเดียวกัน

มาดูที่แผงหลังตู้กันบ้าง, น่าสนใจครับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไล่มาจากตอนบนเลยเป็นตำแหน่งของท่ออากาศแบบช่องสล็อตแนวยาว ขนานไปกับขอบตู้ตอนบน ใต้ท่ออากาศด้านซ้ายเป็นช่องเสียบอินพุตแบบ Balanced XLR (ช่องเสียบสำหรับสามขาตามมาตรฐานอเมริกัน โดยมีหมายเลขกำกับบอกแต่ละช่องเอาไว้เสร็จสรรพ คือ 2 กับ 3 สำหรับสัญญาณซีกบวกและลบตามลำดับ ส่วน 1 สำหรับขาเสียบกราวด์ครับ) กับอีกช่องเสียบอินพุตสำหรับแจ๊กมาตรฐาน RCA ส่วนด้านขวาเป็นปุ่มภาค Tone Control สองชุด ให้ปรับแต่งเสียง Bass กับ Treble โดยแต่ละปุ่มให้เพิ่ม/ลดเสียงเบส และเสียงแหลม ได้ในช่วง +/-4dB โดยแต่ละปุ่มปรับแต่งได้ที่สามตำแหน่งเหมือนๆ กัน คือ +2, 0 และ -2dB

ซึ่งจากเท่าที่ได้ลองใช้งานปรับแต่งดูทั้งสองปุ่มขณะลองเล่น พบว่าการเพิ่มหรือลดเสียงเบสกับเสียงแหลมไม่ได้ส่งผลกับสองความถี่ที่ว่าเป็นช่วงกว้างสักเท่าไรนัก และที่น่าสนใจคือไม่ได้ส่งผลต่อบุคลิกเสียงอย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด แต่อาจสร้างความน่าพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้บางคนได้ ลองปรับแต่งดูเผื่อจะถูกใจ ส่วนผมเองขณะลองเล่นแบบทำงานก็ไม่ได้ปรับแต่งที่จุดนี้แต่อย่างใด คือตั้งค่าเอาที่ 0dB ครับ

ลดต่ำลงมาใต้ปุ่มโทน คอนโทรล ทางด้านขวาเป็นปุ่ม Volume Control ใช้ควบคุมระดับความดังเสียงแบบหมุนจากซ้ายสุดที่ตำแหน่ง MIN (เบาสุด) ไปยังขวาสุดที่ตำแหน่ง MAX (ดังสุด) หากการใช้งานแบบต่อสัญญาณเอาต์พุตตรงมาจากแหล่งโปรแกรมที่ (ส่วนใหญ่) ไม่มีปุ่มควบคุมระดับความดังเสียง ก็ต้องมาใช้ปุ่มที่หลังลำโพงนี้ทำหน้าที่แทน เพราะลำโพงไม่มีรีโมตคอนโทรล ให้มาด้วย ซึ่งออกจะเป็นเรื่องไม่สะดวกนักที่ต้องเดินไปมาจากที่นั่งฟังเพื่อเพิ่ม/ลดระดับความดังเสียงที่หลังตู้ลำโพง

เพราะฉะนั้น การต่อใช้งานเพื่อความสะดวกสุดกับลำโพงคู่นี้ก็คือ รูปแบบแรกใช้ปรีแอมป์เป็นสื่อกลางในการรับสัญญาณ (อาทิ จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงหรือเครื่องเล่นแผ่นซีดี) แล้วส่งมาเข้าอินพุตที่หลังตู้ลำโพง อีกรูปแบบก็คือใช้ Streamer DAC หรือ External DAC เป็นตัวกลางในการรับสัญญาณ

จากนั้นเวลาเล่นค่อยมาควบคุมระดับความดังเสียงจากเครื่องที่เป็นสื่อหรือตัวกลางที่ว่า ซึ่งมักจะมีรีโมตคอนโทรล เพื่อการนี้ให้มาด้วยอยู่แล้ว

โดยในกล่องลำโพงนอกจากจะมีสายไฟ AC แบบมาตรฐาน IEC (ถอดแยกได้) ให้มาแล้ว ยังมีสายสัญญาณ RCA ความยาว 3 เมตร ให้มาด้วยพร้อมสรรพ สำหรับใช้ต่อจากช่องอะนาล็อก เอาต์ ของเครื่องที่เป็นสื่อหรือตัวกลางรับสัญญาณมาเข้าที่ RCA Input หลังลำโพง ซึ่งนับว่าสะดวกมากครับ

จากที่ได้ลองเล่นลองใช้งานการใช้ปุ่มปรับระดับความดังเสียงหรือ Volume Control ที่หลังตู้ลำโพง ขณะที่ใช้ปุ่มควบคุมความดังหลักของระบบที่เครื่องปรีแอมป์กับสตรีมเมอร์ (ลองเล่นหนนี้ใช้ทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงผ่านปรีแอมป์ และเล่นเพลงผ่านสตรีมเมอร์) โดยเริ่มลองจากตำแหน่งกึ่งกลางระหว่าง MIN/MAX แล้วไล่ไปทางขวาทีละจุด พบว่า ณ ตำแหน่งจุดสุดท้ายก่อนถึง MAX น่าพอใจสุดสำหรับผม เพราะรับรู้ได้ว่าเสียงมันออกมาแบบอิ่มเต็ม เปี่ยมไปด้วยพลัง ซึ่งหากจะว่าไปก็เป็นที่น่าพอใจพอๆ กับที่บิดไปขวาสุดแบบเต็มแม็กซ์นั่นแหละครับ เพียงแต่ปกติแล้วมักจะตั้งแง่เป็นส่วนตัวเองแหละ ว่าไม่ชอบบิดอะไรพวกนี้ไปจนสุด, อะไรทำนองนั้น

ถัดจากปุ่มควบคุมระดับความดังเสียงลงมา เป็นสวิตช์เลือกโวลเทจหรือกระแสไฟฟ้าที่ป้อนเข้ามาให้เครื่องทำงาน ให้เลือกได้สองตำแหน่งที่ 110/240v ถัดลงไปเป็นขั้วต่อสายไฟ AC แบบ IEC C13 และล่างสุดคือสวิตช์ Power กดเปิด/ปิดการทำงาน

ครับ, ภาพรวมของ Acoustic Energy AE1 Active ก็มีเท่าที่กล่าวมานั้นแหละครับ ส่วนคุณสมบัติทางด้านเทคนิคระบุว่า – เป็นลำโพงแอ็กทีฟแบบ 2 ทาง, ทำงานในระบบ Bass Reflex ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 42Hz-28kHz (+/-6dB) Crossover Frequency เป็นแบบ 4th Order Linkwitz-Riley โดยมีจุดตัดความถี่ที่ 3.5kHz วัดค่าความไวอินพุตได้ 104dB, 1vRMS@1kHz วัดค่าระดับความดันเสียงได้ 115dB (Peak), 105dB (Maximum) ภาคขยายเสียง (Bi-Amp.) เป็นแบบ Class-A/B ให้กำลังขับ 2x50W/Ch.

มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 185 x 300 x 250 มิลลิเมตร น้ำหนัก 9 กิโลกรัม/ตู้

ลำโพงคู่นี้เมื่อออกตลาดใหม่ๆ ได้รับคำชมเชยและเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากจากบรรดานักวิจารณ์ โดยให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำนองว่าทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง

เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอเสียงดนตรีออกมาด้วยความยอดเยี่ยมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งจากที่ได้ขลุกอยู่ด้วยกันนานพอสมควร พบว่ามันให้การทำงานกับดนตรีรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเข้าถึงแก่นแห่งเนื้อหาของดนตรีนั้นๆ อย่างเคร่งครัด สัตย์ซื่อ และตรงไปตรงมายิ่งนัก

ทั้งยังไม่ประนีประนอมกับทุกมาตรฐานการบันทึก โดยพร้อมที่จะฟ้องความบกพร่องให้รับรู้ได้อย่างชัดแจ้ง

ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดความหมดจดอันยอดเยี่ยมออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน ให้รายละเอียดของแต่ละเส้นเสียงอย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันก็ให้ความพลิ้วไหวของแต่ละตัวโน้ตออกมาอย่างลื่นไหล

ที่สำคัญคือภาพรวมของเสียงนั้นคงความเป็นดนตรีในความหมายของ Musicality ด้วยความเป็นธรรมชาติอันสมจริงยิ่ง

การทำงานของภาคขยายกับชุดตัวขับเสียงสอดประสานกันอย่างลงตัว ถ่ายทอดสัญญาณฉับพลันออกมาได้รวดเร็ว ยอดเยี่ยมมาก เบสที่ลงไปได้ต่ำลึกอันน่าทึ่งนั้นก็ให้ออกมาได้กระชับ เก็บตัวเร็ว และควบคุมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ปราศจากหางเสียงไม่พึงประสงค์ให้รับรู้ได้แม้เพียงน้อยนิดนี้ อาจจะเป็นความยอดเยี่ยมของ ‘ระบบปิด’ อย่างที่ Paul Barton เจ้าสำนัก PSB Speakers ให้ความเห็นเอาไว้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม มันต้องการชุดขาตั้งที่คู่ควร เพื่อการนำเสนอประสิทธิภาพออกมาอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยเช่นกัน

กับราคาหกหรือเจ็ดหมื่นบาท/คู่ (ขึ้นอยู่กับผิวตู้) แล้วเพิ่มซอร์ซกับสื่อกลางเหมาะๆ จะได้ซิสเต็มที่ยอดเยี่ยมมาก ในงบประมาณที่แสนหนึ่ง (+/- นิดหน่อย) เอาอยู่ครับ •

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

pipat.cacanaat@gmail.com

ดูข่าวต้นฉบับ