ผู้ส่งออกน้ำเชื่อมไทยถอย หลังรอมากว่า 2 เดือน จีนก็ยังไม่ผ่อนผันให้มีการนำเข้าน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสม เป็นการชั่วคราว จนต้องขนกลับประเทศประกาศขายในราคาขาดทุน แต่ก็ดีกว่าจะเสียค่าใช้จ่ายปล่อยเรือลอยลำรอเทียบท่าไปเรื่อย ๆ พร้อมชิมลางเปิดตลาดใหม่ เตรียมบุกขายน้ำเชื่อม-น้ำตาลผสมเข้าตลาดฟิลิปปินส์-อินโดนีเซียแทน
เวลาได้ผ่านไปมากกว่า 2 เดือน หลังจากที่กรมความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออกจีน (GACC) ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้ระงับการนำเข้าสินค้าไทย 2 รายการเป็นการชั่วคราว ได้แก่ น้ำเชื่อม (Syrup) พิกัด HS 1702901100 กับน้ำตาลผสมล่วงหน้า (Premixed Powder) พิกัด HS 1702901200 ที่ส่งออกจากประเทศไทย
โดยกล่าวหาว่า สินค้าทั้ง 2 รายการที่ผลิตส่งออกจากโรงงานที่ขึ้นทะเบียนจากจีนจำนวน 74 ราย ได้รับการร้องเรียนจากผู้นำเข้าว่าโรงงานผู้ผลิตไทยบางโรงมีสุขอนามัยที่ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และมีความ “เสี่ยง” สูงด้านความปลอดภัยอาหารตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ปรากฏจนกระทั่งถึงปัจจุบัน น้ำเชื่อมกับน้ำตาลผสมจากโรงงานไทยก็ยังไม่สามารถส่งเข้าไปยังจีนได้อยู่ดี
นายทศพร เรืองพัฒนานนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาลแปรรูปไทย กล่าวว่า เวลาได้ผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้ว โรงงานผู้ผลิตส่งออกน้ำเชื่อมกับน้ำตาลผสมไทยก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมเข้าไปยังประเทศจีน
โดยที่ผ่านมาก่อนที่ GACC จะส่งระงับการนำเข้า (10 ธ.ค. 2567) มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุน้ำเชื่อม-น้ำตาลผสมลอยเรือรออยู่หน้าท่าเรือที่จีนมากกว่า 65 ตู้ ใน 3 ท่าเรือหลัก (ท่าเรือหนานชา-หนิงโป-ชิงเต่า) เพื่อขอ GACC ให้ผ่อนปรนอนุญาตให้นำเข้าได้
“ทางผู้ส่งออกได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอผ่อนปรน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมใบขนสินค้า กรมศุลกากร การประสานกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทำเรื่องขอผ่อนผัน ตลอดจนให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตน้ำเชื่อม-น้ำตาลผสมในที่ตั้งโรงงานทั้งในเขตและนอกเขตฟรีเทรดโซนเพื่อออกใบรับรองส่งกลับไปยัง GACC แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตผ่อนผันให้มีการนำเข้าได้
ประกอบกับเรือขนตู้คอนเทนเนอร์เสียเวลาลอยลำอยู่นานถึง 2 เดือน ทำให้มีค่าปรับและค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จนผู้ส่งออกไทยไม่สามารถรับภาระได้ สุดท้ายจึงได้ทยอยขนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมกลับมายังประเทศไทย ในส่วนนี้สร้างความเสียหายไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท” นายทศพรกล่าว
ทั้งนี้ จากการประสานงานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ณ ปักกิ่ง แจ้งเข้ามาว่าจีนอาจจะ “ผ่อนผัน” ให้มีการนำเข้าน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมที่ส่งออกจากโรงงานไทยจำนวน 74 รายที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
โดยน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมนั้นจะต้องส่งออก “ก่อน” วันที่ 10 ธันวาคม 2567 และให้รวบรวมใบขนสินค้าแจ้งกับทาง GACC ส่วนการดำเนินการ “ปลด” การระงับการนำเข้าสินค้าน้ำเชื่อมและน้ำตาล GACC จะพิจารณาตรวจสอบเอกสารและข้อมูล-ใบรับรองระบบการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยสุขอนามัยโรงงานและกระบวนการผลิตของรัฐบาลไทยว่าสอดคล้องกับกฎระเบียบของ GACC หรือไม่ “ซึ่งไม่มีใครทราบว่า การประเมินตรวจสอบของ GACC จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่”
พร้อมกันนี้ยังมีคำแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาหาหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หรือ Competent Authority (CA) ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยสินค้าอาหารประเภทน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมด้วย
มีรายงานข่าวจากวงการค้าน้ำตาลเข้ามาว่า น้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมที่ขนส่งกลับจากจีนได้ถูกระบายขายภายในประเทศไปแล้วในราคา “ขาดทุน” จากคาดการณ์ราคา 590-595 เหรียญ/ตัน มีการเสนอขายไปในราคา 530-540 เหรียญ/ตัน แม้จะขายต่ำกว่าราคาส่งออก แต่ก็ดีกว่าที่จะต้องแบกภาระค่าเรือ ค่าขนส่ง ค่าเสียเวลาของเรือ
โดยที่ไม่รู้อนาคตว่า GACC จะอนุญาตผ่อนผันให้นำเข้าได้เมื่อไหร่ ส่วนการส่งออกน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมไปจีน ต่อจากนี้ทางผู้ส่งออกคาดการณ์ว่า ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ GACC จะพิจารณา “ปลด” ระงับการนำเข้า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจะทำหนังสือทวงถามไปในเรื่องของการ “ผ่อนผัน” เป็นการชั่วคราวก็ยังไม่มีความคืบหน้า
“ตอนนี้มีผู้ส่งออกน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมหลายรายเริ่มหันไปทำตลาดในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียแทนตลาดจีนบ้างแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการส่งออกน้ำตาลแปรรูป (ไม่รวมน้ำตาลทรายดิบ) จากไทยไปยังจีนภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน หรือ ACFTA ในปี 2566 ปรากฏจีนนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 982.52 ล้านเหรียญ (31,358 ล้านบาท) โดยประเทศไทยส่งออกไปเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 853.65 ล้านเหรียญ หรือ 29,807.32 ล้านบาท โดยผู้ส่งออกจะต้องมาขอรับ Form-E จากกรมการค้าต่างประเทศเพื่อแสดงสิทธิการส่งออกภายใต้ ACFTA นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยที่สร้างมูลค่าส่งออกนับหมื่นล้านบาทต่อปี
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไทยถอยขนน้ำเชื่อมกลับประเทศ เสียหาย 1,000 ล้าน จีนไม่ผ่อนผันระงับห้ามนำเข้า
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net