ทั่วไป

อร่ามเรื้องเรืองโพยม / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 31 มี.ค. 2565 เวลา 09.07 น. • เผยแพร่ 02 เม.ย. 2565 เวลา 06.00 น.

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อร่ามเรื้องเรืองโพยม

 

ต้นงิ้วสูงใหญ่ มีหนามแหลมรอบลำต้น โบราณว่ามีอยู่ในนรกให้คนทำบาปผิดลูกเมียเขาต้องถูกลงโทษให้เปลือยกายโอบปีนต้นงิ้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

งิ้วจึงกลายเป็นชื่อต้นไม้มีภาพลบ ทั้งที่ดอกงิ้วแดงระดาษประดับต้นตระหง่านนั้นงามเป็นเลิศ ทั้งดอกงิ้วยังนำมาทำเป็น “น้ำเงี้ยว” กินกับขนมจีนเรียกขนมจีนน้ำเงี้ยว อร่อยนัก

มีโอกาสเขียนกลอนเมื่อเห็นงิ้วอร่ามอยู่ริมทางว่า

ก้านกิ่งก่ายร่ายรัมประดับดอก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แดงระลอกกลอกกลิ้งทุกกิ่งก้าน

ได้ชื่องิ้ว เงื่อนงำ มีตำนาน

งามตระหง่านริมทางให้สังวร

เสียดายชื่องิ้วที่มีนิยามไม่สมกับความงามวิเศษถึงปานนี้ จึงอยากเปลี่ยนชื่อใหม่ให้งิ้วเป็นชื่อ “เรืองโพยม” ด้วยทั้งต้นตระหง่านเทียมฟ้าและดอกแดงเรืองอร่ามนั้นท้าฟ้าท้าดินจริงแท้

ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อ “งิ้ว” เป็น “เรืองโพยม” เถิดนะ ท่านผู้รู้และท่านรุกขเทวาทั้งหลาย

 

คําเรืองโพยมนี้จำมาจากโคลงลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส บทนี้

Ο นาคีภุชแผ่เกล้า เกลือกเศียร

คลี่อาตมะวนเวียน หัตถ์ไท้

นพรัตน์เรียบรายเฉวียน ฉวัดวิ่ง แสงนา

เถือกเถกิงกลไต้ ตากรุ้งเรืองโพยม

ตากรุ้งเรืองโพยมนี้แหละให้ภาพดอกงิ้วระดาษแดงอร่ามไปทุกก้านกิ่ง ราวจะท้าความงามของแสงรุ้งในราวฟ้าได้เลย

ตากก็คือผึ่ง เช่น ตากแดดตากลม ที่นครสวรรค์มีอำเภอตากฟ้า คือผึ่งฟ้านั่นเอง

บาทท้ายของโคลงบทนี้คือ

เถือกเถกิงกลไต้ ตากรุ้งเรืองโพยม

กลไต้คือประหนึ่งแสงไต้ คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยเห็นแล้วว่า ไต้ ที่เป็นคบเพลิงอย่างหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร

ขี้ไต้ที่ยังติดไฟเมื่อร่วงพราวลงดินนี่แหละ “เถือกเถกิง” ราวดอกไฟสะพรั่งพราวท้าแสงรุ้งเรืองอร่ามฟ้าจริงๆ

โพยมคือฟ้า

จึงเขียนกลอนเปลี่ยนชื่อจากงิ้วเป็นเรืองโพยมว่า

ชื่อดอกงิ้วลิ่วงามอร่ามลือ

เปลี่ยนเป็นชื่อ “เรืองโพยม” สมชื่ออยู่

จาก “ตากรุ้งเรืองโพยม” คมโคลงครู

เรืองโพยมโลมลู่ ระดาษแดง

ที่ว่า “คมโคลงครู” นั้น เห็นเช่นนั้นจริงด้วยถือว่าในกระบวน “โคลงครู” ด้วยกันแล้ว โคลงบทนี้นับเป็นหนึ่งดังเคยยกเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ

 

ลิลิตตะเลงพ่ายทั้งเรื่องนี่ถือเป็น “โคลงเทวดา” ที่ผู้สนใจศึกษาหรือหัดแต่งโคลงต้องอ่านต้องสังเกต “รสโคลง” อันเต็มไปด้วยกวีโวหารที่เป็นของโคลงโดยเฉพาะ

ผู้รู้เคยจำแนกกวีโวหารโคลงเป็นสามขั้นคือ โคลงครู โคลงมนุษย์ และโคลงเทวดา

โคลงครู เช่น โคลงสุภาษิต โคลงโลกนิติ นั้น

โคลงมนุษย์ เช่นโคลงนิราศนรินทร์ เป็นต้น

โคลงเทวดา เช่น โคลงลิลิตตะเลงพ่าย นี้

ส่วนโคลงนอกจากนี้คือสักแต่แต่งถูกเอกโทถูกสัมผัสเท่านั้น ท่านจันทร์หรือ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี นามปากกา พ. ณ ประมวญมารค เคยวิจารณ์ว่า ได้แต่อ่าน “เทิ่งๆ” ไปเท่านั้นหารสชาติอะไรไม่ได้

ด้วยโคลงบังคับเสียงคือ เอก-โท เป็นสำคัญ กับมีที่รับ-ส่งสัมผัส กับวรรคตอนเป็นพิเศษกว่าคำประพันธ์ประเภทอื่น ผู้หัดแต่งจึงพะวงเฉพาะรูปแบบข้อกำหนด จนไม่เข้าถึงความวิเศษของโคลงดังเรียก “โวหารโคลง” อันทำให้โคลงเป็นโคลงที่เด่นเป็นจำเพาะอยู่ในตัว

นั่นคือการใช้คำกวี

คำกวีเป็นคำสัมผัสใจ ขณะคำคล้องจองเป็นคำสัมผัสคำ

โวหารโคลงหรือคำกวีในโคลง เช่น จากโคลงนิราศนรินทร์ บทนี้

Ο จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง

บางยี่เรือลาพลาง พี่พร้อง

เรือแผงช่วยพานาง เมียงม่าน มาแฮ

บางบ่รับคำคล้อง คล่าวน้ำตาคลอ

บาทท้ายนี่แหละที่มีทั้งโวหารและคำกวีเต็มที่วรรคท้าย “คล่าวน้ำตาคลอ”

ได้ทั้งเสียงคำสัมผัสคำ ได้ทั้งความหมายและความรู้สึกที่เป็นคำกวีโดยแท้

 

ยิ่งโคลงเทวดาอย่างลิลิตตะเลงพ่ายบทดังกล่าวยิ่งเพียบพร้อมด้วยเสียงคำและคำที่ให้จินตนาการและความรู้สึกดังเช่นบาทแรก

นาคีภุชแผ่เกล้า เกลือกเศียร

ขอให้สังเกตเสียงคำทุกคำที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงไพเราะ จำเพาะ “แผ่เกล้า เกลือกเศียร”

จะเห็นภาพพญานาคแผ่หัวเลื้อยเกลือกไปบนข้อมือในวรรคถัดไปที่

คลี่อาตมะวนเวียน หัตถ์ไท้

คือคลี่ตัวไปรอบข้อมือ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกำไลมือ ที่ประดับแก้วเก้าประการบนลำตัวนาค “เฉวียน ฉวัดวิ่ง” ด้วยประกายแสง ซึ่ง เถือกเถกิงกลไต้ ตากรุ้งเรืองโพยม” นั้น

ดอกงิ้วงามไม่แพ้โคลงบทนี้เลย •

ดูข่าวต้นฉบับ